สกสว. จัดเสวนา การจัดการน้ำแบบบูรณาการบนความหลากหลายทางนิเวศวัฒนธรรม “เมืองสามน้ำ”

พุธ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๔:๑๕
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเสวนา "การจัดการน้ำแบบบูรณาการ บนความหลากหลายทางนิเวศวัฒนธรรม" เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถอดบทเรียนการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน โดยมีนายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม, ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), รศ.ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงานวิจัยการจัดการทรัพยากรน้ำ, นายสุรชัย นำนาผล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสงคราม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้นำชุมชน และคนในชุมชน ร่วมเสวนา

นายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า "น้ำ"เป็นหัวใจสำคัญของคนแม่กลอง ประกอบกับจังหวัดสมุทรสงครามเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศแบบ"สามน้ำ"คือน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ด้วยพื้นที่ของจังหวัดที่มีเพียง 416.7 ตารางกิโลเมตรเล็กที่สุดของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 อำเภอ ประกอบไปด้วย อำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที มีทั้งหมด 36 ตำบล 284 หมู่บ้าน พื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งทะเล มีแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ผ่านอำเภอบางคนที อำเภออัมพวา ก่อนจะไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม แต่มีลำคลองมากกว่า 360 ลำคลอง และมีลำประโดงกว่า 2,000 สายกระจายทั่วพื้นที่ ทำให้จังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่อการผลิตพืชผักผลไม้และอาหารทะเล

"แต่จากการที่เป็นเมืองปลายน้ำ ย่อมต้องได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย ประกอบกับแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำที่มีน้ำมีคุณภาพดีที่สุดและเหลืออยู่อีกไม่กี่สายน้ำทั้งประเทศที่ยังใช้ได้ จึงต้องช่วยกันรักษาไว้เพื่อความอุดมสมบรูณ์ นอกจากนี้เรื่อง"น้ำ"ยังถูกกำหนดให้เป็น 1 ในประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด คือ ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ที่ต้องดำรงรักษาความเป็นเมืองที่มีระบบนิเวศสามน้ำให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศต่อไป"

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า คนไทย กับสายน้ำ มีสายสัมพันธ์มายาวนานตั้งแต่อดีต สะท้อนได้จากวิถีการดำเนินชีวิตในหลากหลายมิติ และเป็นที่ทราบกันดีว่าเรื่องการบริหารจัดการน้ำได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.ในอดีต ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านน้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ งานวิจัยเชิงพื้นที่ และงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

แม้ปัจจุบัน สกสว.จะมีบทบาทใหม่หลักๆ คือ การสนับสนุน ส่งเสริม ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการดูแลเชิงระบบ มีเป้าหมายด้านการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งนับเป็นเป้าหมายหลักของการสนับสนุนการวิจัยและการสร้างองค์ความรู้ต่างๆ แต่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น(Community Based Research : CBR) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สนับสนุนโดย สกสว. มาตั้งแต่ปี 2541 โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ คือการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น ที่เน้นให้ "คน" ในชุมชนท้องถิ่นรู้จักใช้ "ข้อมูล"แก้ปัญหา คือเป็นการใช้งานวิจัยเป็น "เครื่องมือ" ในการทำให้ชุมชนและคนในท้องถิ่นสามารถจัดการกับปัญหาของตนเอง จนสามารถพัฒนาตนเองและชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง ก่อเกิดเป็นวัตกรรมการจัดการชุมชนท้องถิ่น สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้ ที่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่และต่อชุมชน

นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงาน จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) อธิบายว่า ระบบนิเวศสามน้ำ (น้ำจืด , น้ำกร่อย และน้ำเค็ม) แบ่งเป็น พื้นที่ตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจืด ประกอบด้วยพื้นที่ในเขตอำเภออัมพวาตอนเหนือ และอำเภอบางคนที ได้รับอิทธิพลจากน้ำจืด อาชีพส่วนใหญ่คือการทำสวนผลไม้และไม้ล้มลุก ส่วนพื้นที่ตอนกลาง ได้รับอิทธิพลจากน้ำกร่อย ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม และอำเภออัมพวาตอนใต้ อาชีพส่วนใหญ่คือการทำสวนมะพร้าว สวนผลไม้ และปลูกข้าวนาปี โดยการทำเกษตรในพื้นที่นี้เป็นแบบสวนยกร่อง ซึ่งต้องการน้ำไหลหลากและน้ำแห้งในบางเวลา ขณะที่พื้นที่ตอนล่าง ที่อยู่ติดทะเล ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จัดเป็นระบบนิเวศน้ำเค็ม ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนาเกลือ นากุ้ง และประมงชายฝั่ง เมืองแม่กลองจึงถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า "เมืองสามน้ำ"

"เมื่อหัวใจของจังหวัดสมุทรสงครามอยู่ที่ "น้ำ" แม้การรุกคืบการพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ของภาครัฐ และการเข้ามาของคนภายนอก จะส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพการทำเกษตรของคนในชุมชน เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรที่ไม่ให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงมากจนเกินไป และทำให้เราอยู่กับระบบนิเวศแบบเมืองสามน้ำได้

ซึ่งการจัดการน้ำที่ดี ชุมชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบนบริบทของตัวเอง ไม่สามารถใช้สูตรหรือวิธีการเดียวกันทำทั่วประเทศได้ หรือรอให้คนภายนอกสั่งให้ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ คงไม่มีทางแก้ไขได้สำเร็จ ฉะนั้น หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการน้ำที่แท้จริง คือ ชุมชนต้องเข้าใจบริบทของตัวเอง เพราะมีผลต่ออาชีพ ต้องรู้ว่าอาชีพตัวเองเป็นยังไง แล้วจะต้องจัดการกับตัวเองอย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

สำหรับกระบวนการวิจัยที่ สกสว.นำเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือนั้น จะอาศัยกลไกลการจัดกิจกรรมของศูนย์ฯ ในการแก้ปัญหา จนสามารถสร้างองค์ความรู้ในพื้นที่ต่างๆ นำไปต่อยอด เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย รวมถึงเกิดนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน โดยเครื่องมือวิจัยเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ชุมชนเพื่อกำหนดโจทย์วิจัย การทบทวนทุนเดิมในพื้นที่ การออกแบบการวิจัย และการวางแผนปฏิบัติการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะ"ข้อมูล"คือหัวใจและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชนกลายเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งของภาคประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในบริบทเมืองสามน้ำ ที่ถือเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำจากงานวิจัยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างแท้จริง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ