ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน คือกุญแจสู่ความปลอดภัยยิ่งขึ้นบนท้องถนน โครงการวิจัยอุบัติเหตุระดับชาติจะเป็นรากฐานของนโยบายการจราจรเพื่อปกป้องชีวิตผู้คน

พฤหัส ๒๘ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๖:๒๖
- การวิจัยอุบัติเหตุช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของอุบัติเหตุและนำเสนอข้อมูลเชิงลึกถึงวิธีการป้องกันอุบัติเหตุ

- ความผิดพลาดหรือพฤติกรรมแบบผิดๆ ของผู้ขับขี่คือสาเหตุหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลก

- ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันสามารถลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุลงได้สูงสุดร้อยละ 25

บ๊อช และทีมงานจากหลายฝ่ายที่ประกอบด้วยนักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์และกลไกที่ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุบ๊อช (Bosch Accident Research) ตระหนักว่า อุบัติเหตุทางรถยนต์ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของวัตถุสองชนิดเคลื่อนมาปะทะกัน แต่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบมากมายที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนอย่างกะทันหันและบ่อยครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิต ความผิดพลาดหรือพฤติกรรมแบบผิดๆ ของผู้ขับขี่ทั่วโลก คือ สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่อุบัติเหตุบน ท้องถนน แต่ปัจจัยอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน อาทิ สภาพอากาศที่เลวร้าย แสงไฟที่มืดสลัว ถนนที่พังเสียหาย ป้ายจราจรที่ไม่เพียงพอ มีสัตว์หรือผู้ใช้ทางเท้าตัดหน้า และความบกพร่องของตัวรถที่เกิดจากการออกแบบหรือการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสม รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

ในฐานะบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำระดับโลก บ๊อช เชื่อว่าการปรับปรุงความปลอดภัยของการจราจรทำได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการวิจัยอุบัติเหตุอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาและดำเนินมาตรการต่างๆ ที่ช่วยปกป้องชีวิตบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงมากกว่าความรู้สึก การวิจัยอุบัติเหตุให้ความสำคัญต่อทุกปัจจัย เพื่อทำความเข้าใจถึงต้นตอของอุบัติเหตุทางรถยนต์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกมากถึง 1.3 ล้านคนต่อปี การวิจัยที่ลงลึกกว่านั้นของธนาคารพัฒนาเอเชียพบว่า อุบัติเหตุกว่าร้อยละ 60 เกิดขึ้นในเอเชีย

ความร่วมมือด้านการวิจัยอุบัติเหตุของบ๊อช ในเอเชีย

ที่ผ่านมา มีการวางแผน ปรับปรุงนโยบายสาธารณะและตั้งเป้าหมายทั่วภูมิภาคเอเชียเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบน ท้องถนนมาอย่างต่อเนื่อง นโยบายต่างๆ จำเป็นต้องตอบโจทย์ปัญหาการจราจรทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาโครงสร้างของอุบัติเหตุบนถนนอย่างครอบคลุม "ความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาล อุตสาหกรรมยานยนต์ และสถาบันวิชาการ จะทำให้เกิดการรวบรวมข้อมูลที่กว้างขวางมากขึ้นในระยะยาว ที่เข้าถึงได้ทั่วประเทศ ช่วยลดต้นทุน รวมถึงการวิเคราะห์และคำแนะนำอย่างเป็นกลาง" มร.โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย กล่าว

บ๊อช แนะนำวิธีการดำเนินการแบบครบวงจรในการศึกษาสถิติของอุบัติเหตุ โดยข้อมูลที่รวบรวมได้จากการตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุ จะได้รับการวิเคราะห์เพื่อระบุปัจจัยหลักของอุบัติเหตุ หลังจากนั้น จะสรุปความรุนแรง และสถิติของอุบัติเหตุ พร้อมกับบ่งชี้ถึงประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินการป้องกัน มร.โธมัส ลิช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุ บ๊อช อธิบายว่า "วิธีการดำเนินการเช่นนี้ทำให้เกิดข้อมูลเชิงลึกที่จะนำไปสู่การสร้างยานพาหนะที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนามาตรการที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การบังคับใช้ และการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน"

ตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินการดังกล่าว คือ โครงการสุ่มตัวอย่างอุบัติเหตุบนท้องถนนของอินเดีย (Road Accident Sampling System of India หรือ RASSI) ซึ่งเป็นโครงการร่วมวิจัยอุบัติเหตุของ 13 หน่วยงาน นำโดย บริษัทผลิตรถยนต์ หน่วยงานด้านการวิจัย และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงบ๊อช นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา RASSI ประสบความสำเร็จในการเก็บรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุบนถนนได้เกือบ 4,000 ครั้ง และปูทางสู่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของทางด่วนมุมไบ-ปูเน่ เพิ่มความตระหนักในความปลอดภัยของผู้ขับขี่ ตลอดจนมีมาตรการป้องกันอย่างการติดตั้งระบบความปลอดภัยที่ล้ำสมัยในยานพาหนะ

ความนิยมในรถสองล้อติดเครื่องยนต์ทำให้ต้องเพิ่มความปลอดภัยในยานพาหนะมากขึ้น

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดรถสองล้อติดเครื่องยนต์ที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก รายงานฉบับเดียวกันขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าผู้ขับขี่รถสองล้อติดเครื่องยนต์ รวมถึงผู้ใช้ทางเท้า คือ กลุ่มคนที่โชคร้ายซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนถนนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน

นับตั้งแต่ปี 2548 ข้อมูลที่รวบรวมและวิเคราะห์โดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุบ๊อช พบว่า ผู้ขับขี่รถสองล้อติดเครื่องยนต์ ส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงวิธีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปใน 3 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี (33 เปอร์เซ็นต์) อินเดีย (35 เปอร์เซ็นต์) และประเทศไทย (43 เปอร์เซ็นต์) โดยใน 3 ประเทศนี้ ปฏิกิริยาการตอบสนองที่สูงเป็นอันดับที่ 2 คือ การล้มเนื่องจากไม่มีเบรก ตามมาด้วยการขาดประสิทธิภาพการเบรก การวิจัยที่ ลงลึกกว่านั้นสรุปว่า 1 ใน 4 ของอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถสองล้อติดเครื่องยนต์และมีผู้บาดเจ็บนั้น สามารถป้องกันได้ ถ้ายานพาหนะมาพร้อมระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) ที่ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ผู้ขับขี่ล้มลงในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ในอินเดีย ผลการศึกษาของ RASSI ถูกนำมาใช้กำหนดมาตรการความปลอดภัยได้อย่างสัมฤทธิ์ผล รวมถึงการติดตั้งระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันที่มีศักยภาพ อาทิ ระบบเบรกแบบผสมผสาน (CBS) หรือระบบเบรกป้องกันล้อล็อก

การวิจัยอุบัติเหตุยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ล้ำสมัย หนึ่งในตัวอย่างสำคัญ คือ การโทรศัพท์ฉุกเฉิน หรือ eCall สำหรับรถสองล้อติดเครื่องยนต์ เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นอุปกรณ์บังคับในรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลรุ่นใหม่ในสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นมา และอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อติดตั้งในรถสองล้อติดเครื่องยนต์โดย iHeERO (Infrastructure Harmonised eCall European Pilot) การติดตั้งเทคโนโลยี eCall ในรถสองล้อติดเครื่องยนต์จำเป็นต้องพิจารณาความแตกต่างระหว่างรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลกับรถสองล้อติดเครื่องยนต์ ทั้งในแง่ของอุบัติเหตุและความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ ปัจจัยสำคัญเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของระบบ ความปลอดภัยรูปแบบใหม่

ความมุ่งมั่นร่วมกัน

ความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและครอบคลุมขอบเขตความรับผิดชอบต่อสังคมทุกด้านถือเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อย ปัจจุบันมีหน่วยงานในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากขึ้นที่ทำงานร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุบ๊อช เพื่อประเมินสถานการณ์อุบัติเหตุในแต่ละประเทศ การวิเคราะห์อุบัติเหตุอยู่ระหว่างการดำเนินการในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม สำหรับประเทศไทยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ ณ พื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุ

การวิจัยอุบัติเหตุ ณ พื้นที่จริงในประเทศไทยมุ่งเน้นที่เหตุการณ์ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนนักวิจัยในการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุในพื้นที่จริงด้วยการใช้วิธีการที่คล้ายกับโครงการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้นักวิจัยมีองค์ความรู้ในการสำรวจสถานการณ์ก่อนเกิดอุบัติเหตุ อาทิ สภาพถนนและระบบการจัดการจราจร และวิเคราะห์สถานการณ์หลังเกิดอุบัติเหตุเพื่อระบุต้นตอของสาเหตุ อาทิ ปฏิกิริยาของผู้ขับขี่และความพร้อมใช้งานของตัวรถ นักวิจัยยังจะถูกฝึกฝนให้สามารถกำหนดการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นรากฐานของการวิจัยในอนาคตที่จะนำไปสู่การออกมาตรการรับมือเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนของประเทศไทย เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ

ถึงแม้สาเหตุของอุบัติเหตุบนถนนส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกันทั่วโลก การวิจัยจะชูสถานการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งควรจะต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อรับมือ "แนวทางปฏิบัติแบบองค์รวมบนพื้นฐานของการวิจัยอุบัติเหตุช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถระบุถึงจุดบกพร่องในโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องได้รับการปรับปรุงเป็นอันดับแรก รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการบริการช่วยเหลือและการกู้ภัยในเหตุการณ์ฉุกเฉิน" มร.ลิช กล่าวเพิ่มเติม

บ๊อช เชื่อว่าขั้นตอนแรกของการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน คือ การริเริ่มวิจัยอุบัติเหตุ โดยการวิจัยต้องมีขอบเขตในระดับประเทศ และเกิดจากการขับเคลื่อนร่วมกันของหลายภาคส่วนในสังคม ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัย คือ ข้อมูลเชิงลึกที่มีความสำคัญ เนื่องจากจะเป็นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับการกำหนดนโยบายความปลอดภัยบนท้องถนนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนที่จะนำไปสู่การช่วยชีวิตผู้คนหลายล้านคนในแต่ละปีได้ในท้ายที่สุด

เกี่ยวกับ โซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อนของบ๊อช

โซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อน (Mobility Solutions) คือกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของบ๊อช กรุ๊ป มียอดขายอยู่ที่ 4.76 หมื่นล้านยูโรในปี 2561 หรือคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมด ทำให้บ๊อช กรุ๊ป เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำ กลุ่มธุรกิจโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อนเดินหน้าสู่วิสัยทัศน์แห่งการขับเคลื่อนที่ปราศจากอุบัติเหตุ ปราศจากมลพิษ และน่าตื่นตาตื่นใจ ผสมผสานความเชี่ยวชาญของกลุ่มธุรกิจในด้านระบบอัตโนมัติ ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า และการเชื่อมต่อ ผลลัพธ์ก็คือโซลูชั่นส์การขับเคลื่อนแบบผสมผสานสำหรับผู้บริโภค ขอบเขตหลักในการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจนี้คือการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบขับเคลื่อนสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน โซลูชั่นส์ที่หลากหลายสำหรับระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ระบบความปลอดภัยยานยนต์ ฟังก์ชั่นอัตโนมัติและระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ เทคโนโลยีอินโฟเทนเมนท์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ รวมถึงการสื่อสารระหว่างยานพาหนะกับยานพาหนะ และยานพาหนะกับโครงสร้างพื้นฐาน แนวคิดร้านซ่อมบำรุง ตลอดจนเทคโนโลยีและการบริการสำหรับตลาดยานยนต์หลังการขาย บ๊อช คือสัญลักษณ์ของนวัตกรรมยานยนต์ที่มีความสำคัญ อาทิ ระบบอิเลคโทรนิคเพื่อการจัดการเครื่องยนต์ ระบบป้องกันการลื่นไถล ESP(R) และเทคโนโลยีดีเซลคอมมอนเรล

เกี่ยวกับบ๊อชในประเทศไทย

บ๊อชได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 ปัจจุบัน บ๊อชสร้างความหลากหลายในธุรกิจถึงสี่ด้าน ได้แก่ โซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อน เทคโนโลยีอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค และเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร บริษัทมีโรงงานผลิตในธุรกิจโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อนถึงสามแห่ง พร้อมทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา อีกทั้งสำนักงานขายและศูนย์บริการสำหรับอุปกรณ์ไฮดรอลิกและเครื่องจักรในจังหวัดระยอง ในปีที่ผ่านมา บ๊อชในประเทศไทยมีพนักงานกว่า 1,500 คน

ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.bosch.co.th และ https://www.facebook.com/BoschThailand

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ