มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เปิดศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง Bee Learning Center แห่งแรกของเอเชีย เน้นให้ความรู้ สร้างเครือข่าย และส่งเสริมการอนุรักษ์ผึ้ง ผ่านกิจกรรมตลอดปี

พุธ ๐๔ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๒:๕๗
ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัทไบเออร์ไทย และ ไบเออร์ เอจี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Bayer AG, Germany) จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง หรือ Bee Learning Center ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแห่งแรกของเอเชีย โดยศูนย์แห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากผึ้งอย่างยั่งยืน และให้ความรู้แก่บุคคลทุกช่วงวัยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทำความรู้จักเกี่ยวกับผึ้งใน ทุกมิติของแมลงผสมเกสร และช่วยกันอนุรักษ์ผึ้งให้คงอยู่ในระบบนิเวศเพื่อสร้างการเกษตรที่ยั่งยืน ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีบทบาทหน้าที่การทำงานที่เกี่ยวกับผึ้งทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยในวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ได้มีพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง ณ บริเวณอาคารวิจัยกีฎวิทยา ด้านถนนวิภาวดีรังสิต (อยู่ในพื้นที่ด้านหลังของสวนกล้วยไม้ระพีสาคริก) พร้อมกับเปิดตัวโครงการ " Feed city bees " เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างสวนต้นแบบในเมืองให้เป็นแหล่งน้ำหวานและเกสรสำหรับแมลงในกลุ่มผึ้ง และกิจกรรมพิเศษเนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563

พิธีเปิดศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง ได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.ลดาวัลย์ พวงจิตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ที่ 2 จากซ้าย) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร (ซ้าย) Mr. Ricky Ki Leung Ho, Senior Executive of Regulatory Science Asia Pacific (ที่ 3 จากซ้าย), นายวีรพล เจริญพานิช ผู้บริหารประจำประเทศไทยและเวียดนาม แผนกครอปซายน์ (ขวา) ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ภายในงานมีการมอบรางวัลจากการประกวดภาพถ่าย ผึ้ง......รู้จักรักเลย Bee Learning, Bee Lover รางวัลการออกแบบ Architecture Student BEE DESIGN Competition Workshop และเยี่ยมชมนิทรรศการที่จัดขึ้นภายในอาคารศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง

ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง หรือ Bee Learning Center ภายใต้ความดูแลของภาควิชา กีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ บริเวณอาคารวิจัยกีฎวิทยา ด้านถนนวิภาวดีรังสิต (อยู่ในพื้นที่ด้านหลังของสวนกล้วยไม้ระพีสาคริก) ออกแบบอาคาร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรนาถ สินอุไรพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมร่วมสมัย รูปทรงอาคารเหมือนกับฟาร์มของเกษตรกร สร้างเป็นอาคารชั้นเดียว ขนาดกะทัดรัด และยกพื้นเพื่อให้มีพื้นที่ชาน/ระเบียงใช้สอย มีบานประตูบานใหญ่เปิดได้รอบทั้ง 3 ด้านของอาคาร สามารถใช้งานแบบเปิดโล่ง (open air) ได้ ส่วนหลังคาทำช่องแสงธรรมชาติ เพื่อประหยัดพลังงาน นอกจากนี้พื้นที่ใช้สอยสามารถยืดหยุ่นเข้าได้กับทุกกิจกรรม ทั้งการเยี่ยมชมศูนย์ฯ การอบรม การอบรมเชิงปฏิบัติการ การประชุมขนาดเล็ก และเป็นสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้เกี่ยวกับผึ้ง

อาคารศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง มีพื้นที่ใช้สอยอาคารรวมระเบียง 145.10 ตารางเมตร พื้นที่บริเวณโดยรอบอาคาร ประมาณ 1,454.9 ตารางเมตร แบ่งออกเป็นพื้นที่ภายในอาคาร จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผึ้ง (Bees Exhibition) เริ่มจาก นิทรรศการที่มาของศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง นิทรรศการความสำคัญของผึ้ง โดยอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า "ถ้าผึ้งหายไปจากโลก มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี" นิทรรศการที่สุดของผึ้ง : พบกับ ผึ้งที่ตัวใหญ่ที่สุด ผึ้งที่ตัวเล็กที่สุด จัดแสดงในแบบรูปถ่าย และผึ้งที่มีรังขนาดใหญ่ที่สุด ผึ้งที่เดินทางไกลที่สุด และผึ้งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุด จัดแสดงผึ้งทั้งแบบแห้งและตัวจริง นิทรรศการความหลากหลายของผึ้ง จัดแสดงผึ้งในประเทศไทย ที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าเรียกว่าผึ้ง ยกตัวอย่าง เช่น ผึ้งรวง ชันโรง ผึ้งหึ่ง แมลงภู่ ผึ้งเจาะหลอดไม้ ผึ้งกัดใบ โดยผึ้งทั่วโลกมีรายงานมากกว่า 20,000 ชนิด นิทรรศการชีววิทยาของผึ้ง เรียนรู้ในเรื่องของวรรณะผึ้ง วงจรชีวิต พฤติกรรมของผึ้ง เช่น การเต้นรำเพื่อบอกทิศทางแหล่งอาหารผึ้ง พร้อมทั้งมีรังและผึ้งจริง ๆ สำหรับศึกษาพฤติกรรมของผึ้ง นิทรรศการการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทยจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลี้ยงผึ้ง และอุปกรณ์ที่สำคัญในการเลี้ยงผึ้ง นิทรรศการระบบนิเวศที่ผึ้งอยู่อาศัย ภาพแสดงลักษณะการสร้างรังของผึ้งที่มีความหลากหลายรูปแบบ ทั้งทำรังบนต้นไม้ ในโพรงไม้ ใต้ดิน หรือในกิ่งไม้แห้ง นิทรรศการบทบาทของผึ้งช่วยผสมเกสรที่สำคัญ นิทรรศการการอนุรักษ์ผึ้งให้คงอยู่ในระบบนิเวศ เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน คือ การเพิ่มอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในการสร้างรัง เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณผึ้งในระบบนิเวศผ่านโครงการ Feed city bees การเพิ่มพืชอาหารผึ้งในสังคมเมืองได้โดยการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวเพื่อให้ทุกบ้านปลูกไว้กินแล้วปล่อยให้ออกดอกบ้าง เช่น ผักกวางตุ้ง กะเพรา หรือโหระพา เป็นพืชที่ให้น้ำหวานและเกสรผึ้งในเมือง

พื้นที่ภายนอกอาคาร แบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ดังนี้ โซนที่ 1: จัดแสดงแกลอรี่ ผลงานโครงการประกวดภาพถ่าย ผึ้ง......รู้จักรักเลย: bee learning, bee lover (เฉพาะวันเปิดงาน) โซนที่ 2: ลานกิจกรรมสำหรับเด็กและผู้ปกครอง เรียนรู้เรื่องการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารแก่ผึ้ง ในโครงการ Feed city bees และ Bee Little Scientist การเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งด้วยรังจำลอง โซนที่ 3 : จุดตั้งรังผึ้งพันธุ์ เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของผึ้งและการเลี้ยงผึ้งเชิงอุตสาหกรรม โซนที่ 4: จุดตั้งรังชันโรง เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของชันโรงและการเลี้ยงชันโรง โซนที่ 5 : ลานพืชผักสวนครัว และ โซนที่ 6 : ลานพืชไม้ประดับ เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของผึ้ง เช่น การเก็บน้ำหวาน และเกสร

ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง (Bee Learning Center) เปิดทำการทุกวันยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. และทุกวันพุธ เวลา 9.00-10.00 น.จัดกิจกรรมสาธิตการเลี้ยงผึ้ง สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ติดตามได้ในปฏิทิน ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง (Bee Learning Center) Fackbook: Bee learning หรือ เวปไซต์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4