นักวิจัย เร่งศึกษาสมดุลน้ำ และมาตรการลดการใช้น้ำ รองรับการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ตั้งเป้าลดการใช้น้ำลง 15%

พุธ ๑๘ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๗:๑๓
ถึงตอนนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารจัดการ "น้ำ" เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถือเป็นความท้าทายอย่างมากว่าจะทำอย่างไรให้น้ำเพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่

เพราะ"น้ำ" เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องน้ำได้มีการจัดทำแผนและมาตรการรองรับ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ และเพื่อให้เกิดการกระจายน้ำทั่วถึงในพื้นที่ EEC ดังนั้น เพื่อสนับสนุนแผนการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างสมดุลน้ำต้นทุน การจัดการความต้องการน้ำโดยลดการใช้น้ำ ลดการสูญเสีย โดยใช้เทคโนโลยี และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เป็นที่มาของ การจัดทำ "โครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)" ที่มี รศ.ดร. บัญชา ขวัญยืน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นหัวหน้าโครงการและหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

"ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ทำให้ในปีนี้มีปริมาณฝนลดลงมากถึง 30% มีเพียงบางจังหวัดเท่านั้นที่ฝนตกมาก เช่น สกลนคร กาญจบุรี เพชรบุรี เป็นต้น ที่เหลือเกือบทั้งประเทศฝนตกน้อยลง ฉะนั้น หากมองภาพรวมของประเทศ คือ ส่วนใหญ่ขาดแคลนน้ำ แต่จากปี 2561 เรามีน้ำเหลืออยู่ในปริมาณค่อนข้างมาก ทำให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำ จึงยังไม่ถึงขั้นรุนแรง" รศ.ดร. บัญชา ขวัญยืน กล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ EEC รศ.ดร. บัญชา บอกว่า ปริมาณเก็บกักน้ำทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2561 มีปริมาณน้ำใช้การตามแผนจัดการน้ำเพียงประมาณ 673 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่รู้ว่าน้ำที่มีอยู่จะพอเพียงหรือไม่ แม้กรมชลประทานรับประกันว่าจะไม่ขาดน้ำ โดยมีการจัดเตรียมน้ำต้นทุนรองรับการพัฒนา EEC ไว้แล้ว แต่เพื่อเตรียมการล่วงหน้าป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มาตรการประหยัดน้ำจะต้องถูกนำมาใช้ภายในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งต่อไปจะเป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้มากขึ้น ดังนั้น การประหยัดน้ำหรือการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การใช้น้ำน้อยลงจึงเป็นทางออกแรก ๆ ที่เราจะนำมาใช้"

สำหรับการจัดทำ"โครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)"นั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์สมดุลน้ำในพื้นที่ EEC ในปัจจุบัน และอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2561-2580) ศึกษาอุปสงค์และอุปทาน ศึกษาการใช้น้ำที่แท้จริงของภาคส่วนต่าง ๆ การหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยลดการใช้น้ำใน 4 ภาคส่วนหลัก คือ ภาคเกษตร อุปโภคบริโภค ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม การวิเคราะห์น้ำต้นทุนในลักษณะบูรณาการการใช้น้ำร่วมกันระหว่างน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน การจัดการด้านความต้องการน้ำโดยใช้หลัก 3R ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำต้นทุนของพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และจังหวัดเกี่ยวเนื่องคือ จันทรบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว แบบมีส่วนร่วม รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามและประเมินผล ในพื้นที่ศึกษา 3 จังหวัดนำร่อง คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยมีเป้าหมาย คือ การใช้น้ำจะต้องลดลงอย่างน้อย 15% ในพื้นที่ EEC

รศ.ดร. บัญชา ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า เพราะในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เมื่อการพัฒนา EEC เกิดขึ้นเต็มที่ตามแผนพัฒนาฯ การลดการใช้น้ำจึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และจากผลกระทบของ Climate change โครงการวิจัยนี้ จึงเน้นศึกษาใน 2 ส่วนหลัก คือ 1.ประเมินการใช้น้ำ การวิเคราะห์สมดุลน้ำในปัจจุบันและอนาคต และแนวทางการใช้น้ำต้นทุนทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินร่วมกัน 2. การคาดการณ์การใช้น้ำของภาคส่วนต่าง ๆ และแนวทางการลดการใช้น้ำด้วยเทคโนโลยีทันสมัย

" ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำต่อหัวสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน โดยไทยใช้น้ำต่อหัวสูงกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และพื้นที่ที่ใช้น้ำมากนอกจากจังหวัดชลบุรีแล้ว กรุงเทพฯ ถือเป็นจังหวัดที่มีการใช้น้ำสูงมากเฉลี่ยถึง 300 ลิตร/คน/วัน นั่นเพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้พูดกันถึงเรื่องการประหยัดน้ำมากหนักในส่วนของภาคการเกษตร นอกจากข้าวแล้วพืชสวนยังเป็นที่นิยมปลูกกันมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี ซึ่งมีความต้องการน้ำสูง งานวิจัยนี้จึงเน้นศึกษาการใช้น้ำกับพืชสวนเป็นหลัก เช่น ทุเรียน"

รศ.ดร. บัญชา กล่าวเสริมว่า ในส่วนของข้าวนั้น มีเทคโนโลยีการปลูกข้าวอยู่แล้ว อีกทั้งกรมชลประทานยืนยันว่าการปลูกข้าวสามารถประหยัดน้ำได้ โดยใช้วิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 20% ซึ่งวิธีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วจากประเทศจีนและไต้หวันที่ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งมากว่า 20 ปี ดังนั้น ชาวนาต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการปลูกข้าวใหม่ ต้องปรับวิธีการให้น้ำและการควบคุมน้ำ จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจด้วยข้อมูลในพื้นที่เพื่อปรับพฤติกรรมการใช้น้ำของเกษตรกรไทย

"ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ส่วนใหญ่มีการบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ บางแห่งสามารถลดการใช้น้ำลงได้ 15% แต่จากนี้จะเพิ่มให้เป็นระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะมากขึ้นกับทุกภาคส่วน คือ ภาคบริการ ชุมชน เกษตร และอุตสาหกรรม โดยจะนำเรื่อง Water use efficient มาประยุกต์ใช้ หรือการจัดการน้ำด้วยหลัก 3R คือ Reduce Reuse Recycle เพื่อลดการใช้น้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เพราะมองว่าการใช้น้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่เป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด และถูกกว่าการหาแหล่งน้ำใหม่ ซึ่งวิธีนี้แม้แต่อุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นยังเลือกใช้ ของไทยก็จะเป็นไปในทิศทางนี้เช่นกัน"

สำหรับโครงการวิจัยภายใต้การบริหารโครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย โครงการวิเคราะห์และการบริหารจัดการสมดุลน้ำในพื้นที่ EEC , โครงการศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำสำหรับกลุ่มผู้ใช้น้ำในชุมชน , โครงการพัฒนาระบบข้อมูลบัญชีสมดุลน้ำเพื่อการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม , โครงการวิจัยแผนการจัดการน้ำด้านอุปสงรค์และการพัฒนาอุตสาหรรมและเมืองโดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ , โครงการวิจัยแผนการพัฒนาระบบบริหารจดัการน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคบริหาร , โครงการวิจัยแผนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำแบบใช้น้ำบำบัดแล้ว และโครงการวิจัยแผนการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๑๑ เปิดโพล! สงกรานต์ คนไทยยังอยาก รวย อวย Soft Power เสื้อลายดอก-กางเกงช้าง ต้องใส่สาดน้ำ
๑๖:๓๖ ฮีทสโตรก : ภัยหน้าร้อน อันตรายถึงชีวิต
๑๖:๐๐ STX เคาะราคา IPO 3.00 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 18,19 และ 22 เม.ย. นี้ ปักธงเทรด mai 26 เมษายน 67
๑๗ เม.ย. ถอดบทสัมภาษณ์คุณอเล็กซานเดอร์ ฟาบิก (Alexander Fabig) และคุณปีเตอร์ โรห์เวอร์ (Peter Rohwer) ผู้เชี่ยวชาญ
๑๗ เม.ย. HIS MSC จัดงานสัมมนา The SuperApp ERP for Hotel
๑๗ เม.ย. ที่สุดแห่งปี! ครบรอบ 20 ปี TDEX (Thailand Dive Expo) มหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำระดับเอเชีย งานเดียวที่นักดำน้ำรอคอย
๑๗ เม.ย. เคทีซีเสนอดอกเบี้ยพิเศษ 19.99% ต่อปี แบ่งเบาภาระสมาชิกใหม่บัตรกดเงินสด เคทีซี พราว
๑๗ เม.ย. ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง CHAO เตรียมเสนอขาย IPO ไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้าจดทะเบียนใน SET
๑๗ เม.ย. แอร์เอเชีย บิน สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ เริ่มต้น 1,000 บาทต่อเที่ยว* เสริมทัพหาดใหญ่ บินเลือกได้ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ!
๑๗ เม.ย. YONG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ อนุมัติจ่ายเงินปันผล ในอัตรา 0.08 บาท/หุ้น