“ไซเบอร์บูลลี่” วายร้ายออนไลน์ รับมือได้แค่ไม่หัวร้อน

พุธ ๒๕ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๓:๓๐
ในยุคที่โลกของโซเชียลมีเดียได้ขยายเครือข่ายกว้างขวางขึ้นนอกจากความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารกันแล้ว สิ่งที่แฝงมาคือการเปิดช่องทางให้เกิดไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbully) ผ่านการคอมเม้นต์ในหลากหลายลักษณะตั้งแต่วิพากษ์ วิจารณ์ กล่าวหา ข่มขู่ คุกคาม การเผยแพร่ภาพ เสียง หรือเนื้อหาที่มีความรุนแรง แถมสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลและเชื่อมต่อกันด้วยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง แถมยังไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ทำให้สถานการณ์การกระทำความรุนแรงในสังคมออนไลน์ทวีความรุนแรงมากขึ้น กลายเป็นภัยร้ายที่เติบโตเคียงข้างกับการพัฒนาของเทคโนโลยีการสื่อสาร

- ภัยของ Cyberbully

ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbully) ได้สร้างผลกระทบมากมายต่อผู้ถูกกระทำ ทั้งผลกระทบทางความรู้สึก จนเกิดเป็นแผลทางใจ หลายกรณีฝังลึกจนยากเยียวยา ลุกลามไปจนเกิดการปะทะจริงเกิดบาดแผลทางกายหรือบางรายเลือกทำร้ายตัวเอง เช่นกรณีการเสียชีวิตของดารานักร้องชาวเกาหลี เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ การถูกบูลลี่จากโลกโซเชียลมีเดียก็ถูกระบุเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิต แม้ประโยชน์ของดิจิทัลจะมีมหาศาล แต่ก็มีภัยร้ายข้างเคียง ดังนั้น ทุกคนควรช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง คนรอบข้าง โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ให้รู้เท่าทันสื่อโซเชียล ไม่ให้ตนเองเข้าไปอยู่ในวงจรของการบูลลี่ ทั้งในฐานะผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

- เด็กไทยเสี่ยงภัยกลั่นแกล้งออนไลน์

จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ปี 2561 ที่สำรวจในกลุ่มเด็กอายุ 6-18 ปี ทั่วประเทศ 15,318 คน โดยศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้อง คุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย พบว่า เด็กร้อยละ 51.7 เคยพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์ ร้อยละ 33.6 ให้ข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 25.5 เปิดอ่านอีเมลที่ส่งมาจากคนที่ไม่รู้จักหรือคลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก ร้อยละ 3 เคยเล่นพนันทายผลฟุตบอลออนไลน์ และร้อยละ 1.8 เคยถ่ายภาพหรือวิดีโอลามกของตนเองส่งให้คนอื่น ๆ ทางออนไลน์

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่าเด็กร้อยละ 25 เคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในจำนวนนี้ ร้อยละ 5.1 ถูกพูดจาล้อเลียน ดูถูก ทำให้เสียใจ ร้อยละ 2.1 ถูกหลอกให้เสียเงินหรือเสียทรัพย์สิน ร้อยละ 1.9 ถูกละเมิดทางเพศ ร้อยละ 1.7 ถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย และร้อยละ 1.3 ถูกถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอแล้วนำไปประจาน บางกรณีข่มขู่เรียกเงิน ทั้งหมดเป็นข้อมูลสะท้อนพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนไทยต่อภัยออนไลน์ที่มากับโซเชียลมีเดีย เปราะบางต่อการเกิดไซเบอร์บูลลี่ได้ง่าย

- เสริมความฉลาดทางดิจิทัล

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อ จึงได้มอบหมายให้บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จัดทำซีรี่ย์ "รู้นะ รู้ยัง รู้ทันสื่อ" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความฉลาดทางดิจิทัลให้กับคนในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักวิเคราะห์ และเลือกใช้สื่อในทางที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมในวงกว้าง พร้อมเผชิญหน้ากับโลกยุคดิจิทัลโดยไม่บั่นทอนพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา โดยควรเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยเพราะเด็กยุคนี้เติบโตขึ้นแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

สำหรับทักษะสำคัญของการดูแลเด็กให้มีความฉลาดทางดิจิทัล ประกอบด้วย 1.สอนให้รู้จักจัดการตัวตนทั้งความคิด ความรู้สึก การกระทำ อย่างมีความรับผิดชอบ 2.สอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์สามารถแยกแยะข้อมูล ไม่เชื่อทุกอย่างที่เห็นหรือรับมา 3.สอนให้รู้จักรักษาความปลอดภัยของตนเอง 4. สอนให้รักษาความเป็นส่วนตัว ไม่บอกข้อมูลส่วนตัวกับคนอื่น 5.สอนให้ใช้เวลาบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม 6.สอนให้เข้าใจว่าทุกสิ่งที่อยู่บนโลกดิจิทัลจะทิ้งร่องรอยข้อมูลไว้เสมอ 7.สอนให้รู้จักรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ 8.สอนให้มีความเห็นอกเห็นใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ ไม่ด่วนตัดสินผู้อื่นจากข้อมูลออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพื่อป้องกันการเกิดวงจรไซเบอร์บูลลี่

- รับมือไซเบอร์บูลลี่อย่างมีสติ

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต แนะวิธีจัดการกับไซเบอร์บูลลี่ไว้ 5 แนวทาง คือ 1.อย่าตอบสนองข้อความกลั่นแกล้ง ไม่ว่าข้อความนั้นจะรุนแรงต่อเราขนาดไหน เพราะจะทำให้สถานการณ์แย่ลง 2. ไม่เอาคืน การแก้แค้นหรือตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกันอาจทำให้เรากระทำความผิดและเป็นจำเลยสังคมแทน 3. เก็บหลักฐาน บันทึกภาพและข้อความที่ถูกทำร้ายเพื่อรายงานต่อผู้ปกครองหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย 4. รายงานความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับโซเชียลมีเดียต้นทาง 5. ตัดช่องทางการติดต่อ โดยลบ แบน บล็อกการเชื่อมต่อกับคนที่มาระราน พร้อมระมัดระวังการติดต่อกับคนกลุ่มนี้ในอนาคต

"จอร์จ" บุญธรรม กระจ่างตระกูล หรือ "จอร์จ เลนส์ยาว" หนึ่งในตัวอย่างของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยไซเบอร์บูลลี่ ที่มาเปิดเผยวิธีการรับมืออย่างชาญฉลาดผ่านซีรี่ย์ "รู้นะ รู้ยัง รู้ทันสื่อ" ว่า ส่วนตัวเป็นคนชอบเล่นกล้องและถ่ายภาพมาตั้งแต่อายุ 14 ปี หรือเมื่อ 2 ปีมาแล้ว โดยจุดเริ่มต้นของการถูกไซเบอร์บูลลี่เริ่มต้นมาจากการรวมกับเพื่อน ๆ ไปเป็นจิตอาสาในงานพระราชพิธีสำคัญและในงานดังกล่าวได้นำเลนส์สำหรับการถ่ายงานมอเตอร์สปอร์ตไปใช้ในงาน ปรากฏว่ามีคนมองและมาขอถ่ายรูป พอรูปเผยแพร่ไปก็มีคนเอาไปพูดถึงในทางที่ไม่เหมาะสม

"ถามว่ากระทบใจมั้ยก็มีอยู่แล้ว แต่ผมคิดแล้วว่าต้องไม่ตอบโต้เพื่อยุติปัญหา และเปลี่ยนวิธีคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น และก็ได้ข้อคิดว่าคนเราย่อมมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ เราก็สนุกกับงานถ่ายภาพมากขึ้น ได้รู้จักกับผู้ใหญ่ที่เป็นช่างภาพด้วยกันที่เข้ามาช่วยแนะนำมากขึ้น และตอนนี้สถานการณ์ต่าง ๆ ก็ดีหมดแล้ว เพราะเมื่อมีคนรู้จักเรามากขึ้น พอมีคนมาว่าก็จะมีคนเข้ามาช่วยอธิบาย ถามว่าวิจารณ์ได้มั้ยก็ได้หมดแต่แนะนำให้วิจารณ์แบบพอดี ๆ และระมัดระวังเพราะคนที่วิจารณ์ก็อาจได้รับผลกระทบเองได้เช่นกันเมื่อกระแสของสังคมตีกลับ" จอร์จ กล่าว

อีกหนึ่งคนดังในโลกโซเชียล ที่ผ่านการรับมือกับปัญหาไซเบอร์บูลลี่ได้อย่างมีสติ คือ "เนสตี้ สไปร์ทซี่ หรือ ด.ช.นิพิฐพงศ์ รักตน" บิวตี้บลอกเกอร์คนดังแห่งยุค เล่าว่า "เคยเจอคนเรียกเรา ตัดสินรูปลักษณ์เรา แบบไม่ให้เกียรติ ใช้คำหยาบคาย ก็รู้สึกว่ากำลังโดนบูลลี่ แต่ก็คิดว่าช่างมันไป ปล่อยให้เขาอยากจะพูดอะไรก็พูดไป เมื่อไหร่ที่เขาเหนื่อยก็คงหยุดไปเอง ขอแค่ตัวเราตั้งสติให้ดีอย่าไปโต้ตอบให้มันบานปลายก็พอ ทำให้ทุกวันนี้เราก็มีความสุขกับชีวิตกับงานของเรา เรื่องอื่นไม่เคยเก็บมาใส่ใจเลย"

ทั้งโลกไซเบอร์และโซเชียลมีเดียให้คุณประโยชน์อย่างมากทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งแสวงหาความรู้อันกว้างใหญ่และการเชื่อมโยงกับผู้คนต่างสังคม ชาติและวัฒนธรรมไม่ให้ตัดขาดกันโดยระยะทางก็ดูเหมือนจะเป็นกฎธรรมชาติไปแล้วว่าในสิ่งที่ให้คุณมากก็มีอันตรายมากได้เช่นกัน ซึ่งไซเบอร์บูลลี่นี้ก็เป็นภัยที่ทุกหน่วยในสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และนโยบายระดับชาติ ร่วมกันป้องกันและจัดการได้ ไม่ให้ภัยร้ายเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์จากโลกไซเบอร์ที่ทวีความสำคัญขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4