ม.มหิดล ผลักดันสิทธิคนพิการทำประกันโควิด

พุธ ๐๑ เมษายน ๒๐๒๐ ๐๙:๔๔
"ความพิการไม่ใช่โรค" นอกจากความบกพร่องทางร่างกายบางส่วนแล้ว คนพิการไม่มีอะไรแตกต่างไปจากคนทั่วไป เรามีสิทธิในการดำรงชีวิตเฉกเช่นเดียวกัน

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังถูกคุกคามด้วยภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คนพิการก็เป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน อาจารย์แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คนพิการมีอุปสรรคอย่างมากในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการระบาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา รวมทั้งข้อมูลความรู้ และมาตรการในการป้องกันตัวเอง หรือช่วยป้องกันการแพร่ระบาดในสังคม

นอกจากนั้น มาตรการต่างๆ ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง และทำให้มีปัญหาอุปสรรคในการดำรงชีวิตต่อผู้คนในสังคมได้ โดยเฉพาะคนพิการที่มีความจำกัดของความสามารถในการดำรงชีวิตที่แตกต่างจากคนทั่วไป

โดยในกลุ่มคนพิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว อาจมีความยากลำบากในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน เช่น การล้างมือและการใส่หน้ากากด้วยตนเอง เนื่องจากในบางรายอาจขยับแขน/มือไม่ได้ รวมทั้งยากลำบากที่จะป้องกันอุปกรณ์ช่วยความพิการไม่ให้แปดเปื้อนเชื้อโรค หรือในรายที่ต้องนั่งรถเข็น ก็อาจไม่สามารถเอื้อมถึงเจลล้างมือ หรืออุปกรณ์ป้องกันที่วางไว้ในที่สูงเกินไป และเมื่อจำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นก็ทำให้ยากลำบากต่อการทำตามมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อการป้องกันการติดเชื้อ (Social Distancing)

ในส่วนของกลุ่มคนพิการทางการเห็น ก็มีข้อจำกัดในเรื่องมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากต้องใช้มือสัมผัสช่วยการรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว และที่สำคัญคือ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างมาก เช่นเดียวกับกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน แต่แตกต่างกันในอุปสรรคที่ทำให้เข้าไม่ถึงข้อมูล โดยคนพิการทางการเห็น จำเป็นต้องได้รับข้อมูล โดยเฉพาะจากสื่อสาธารณะที่มีการบรรยายด้วยเสียง หรือข้อความที่อยู่ในรูปแบบที่มีโปรแกรมช่วยแปลงเป็นเสียงอ่านได้ เช่น word file จึงทำให้คนพิการลักษณะนี้อาจต้องมีอุปกรณ์ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนพิการทางการได้ยิน จำเป็นต้องมีล่ามภาษามือช่วยแปล หรือภาพที่มีคำบรรยายประกอบ ทั้งนี้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ที่ซับซ้อน อาจจำเป็นต้องผลิตสื่อที่เข้าใจได้ง่าย เช่น คลิปวิดีโอที่นำเสนอข้อมูลเป็นเรื่องราวโดยคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือเอง สื่อแอนิเมชันที่มีล่ามภาษามือ หรือคำบรรยาย (captioning) เป็นต้น

ส่วนกลุ่มคนพิการทางสติปัญญา จิตสังคม ออทิสติก หรือการเรียนรู้ ก็พบข้อจำกัดในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องการสื่อที่เข้าใจง่าย และชัดเจนเช่นกัน โดยในบางรายอาจจำเป็นต้องมีผู้ดูแลก็ต้องทำให้เขาเข้าถึงข้อมูลด้วย

ในขณะที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยจากการแพร่ระบาดที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น "ประกันโควิด" จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของผู้คนในช่วงวิกฤต แต่ก็ยังพบข้อจำกัดในสิทธิของผู้ทำประกันที่กรมธรรม์ส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมถึงคนพิการ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ผลักดันจนนักศึกษาและบุคลากรทุกคนรวมถึงคนที่มีความพิการ สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐนียา โตรักษา หรือ "อาจารย์แอน" ผู้ช่วยคณบดีฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำในการผลักดันให้เกิดสิทธิทำประกันโควิดสำหรับคนพิการของมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีคนพิการที่เป็นทั้งนักศึกษาและบุคลากรรวมจำนวน 72 คน โดยในช่วงการแพร่ระบาด ผู้พิการในมหาวิทยาลัยมหิดลมีความเสี่ยงน้อยมาก เนื่องจากมีการจัดให้นักศึกษาเรียนผ่านระบบทางไกล และให้บุคลากรได้เฝ้าระวังโดยการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home ก่อนเป็นกลุ่มแรกๆ ซึ่งในส่วนของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จำกัดให้มีจำนวนผู้มาทำงานไม่ถึงร้อยละ 20 โดยส่วนใหญ่เป็นฝ่ายบริหารกลางที่ต้องคอยมาประสานงาน และจัดการความเสี่ยง

"ล่าสุดเราได้เจรจากับบริษัทประกันเพื่อให้เข้าใจว่าขณะนี้ทุกคนไม่ว่าพิการ หรือไม่พิการ เรามีความเสี่ยงที่หลากหลายร่วมกัน (pooling risk) จึงไม่ควรมีการคัดแยกผู้พิการออกจากกลุ่มการทำประกันโควิด

โดยเฉพาะคนพิการที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดลมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดี มีศักยภาพในการเรียน และทำงานเหมือนคนทั่วไป ยิ่งมีความเสี่ยงน้อยมากในเรื่องการติดเชื้อ และอุบัติเหตุ

และนี่คือความร่วมมือของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยบริการสนับสนุนสำหรับนักศึกษาพิการ กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (Disability Support Service Mahidol University: DSS Mahidol) และกองทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความเข้าใจและจะไม่ทิ้งคนพิการไว้ข้างหลัง”

"ในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ เราควรได้ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลที่อยู่ในสังคมเดียวกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ตีตรา แบ่งแยก หรือคัดใครออกเลย ดังนั้นในการออกมาตรการใดๆ เราต้องไม่ลืมที่จะคิดถึงเงื่อนไขที่แตกต่างของคนพิการด้วย และออกแบบมาตรการให้ครอบคลุม เพื่อเขาจะได้รับบริการที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับคนทั่วไป" คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๑ PRM ร่วมงาน OppDay มั่นใจธุรกิจปี 67 สดใส
๑๗:๓๘ Bitkub Chain ร่วม OpenGuild และ Polkadot เปิดพื้นที่รวมตัว Community รับ SEA Blockchain Week 2024
๑๗:๔๙ HOYO SOFT AND SAFE ผู้ผลิตคอกกั้นเด็กคุณภาพสูง มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย ได้รับการไว้วางใจจากประสบการณ์ลูกค้าโดยการบอกปากต่อปาก
๑๗:๓๗ แนวทางสร้างสมดุลระหว่าง อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และ คำมั่นสัญญาของ Generative AI
๑๖:๔๖ Maison Berger Paris เผยเครื่องหอมสำหรับบ้านรูปแบบใหม่ล่าสุด 'Mist Diffuser' ภายใต้คอลเลคชันยอดนิยมตลอดกาล Lolita
๑๖:๐๕ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (acute diarrhea)
๑๖:๓๙ JGAB 2024 จัดเต็มครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน กับกิจกรรมและโซนจัดแสดงเครื่องประดับสุดพิเศษ พร้อมต้อนรับนักธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก เริ่ม 1 พ.ค. 67
๑๖:๒๘ สอศ. จับมือแอร์มิตซูบิชิ ดิวตี้ รับมอบเครื่องปรับอากาศในการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านเครื่องปรับอากาศ
๑๖:๓๘ DKSH ประเทศไทย คว้า 8 รางวัลอันทรงเกียรติ ในงาน Employee Experience Awards ประจำปี 2567
๑๖:๑๖ เด็กล้ำ! นักศึกษา SE SPU คว้ารางวัลรองชนะเลิศ Best Paper ผลงานนวัตกรรมเนื้อสัตว์แพลนต์เบส สุดยอดแห่งความยั่งยืน