ม.มหิดล ทดสอบเปิดห้องเรียนเด็กปฐมวัย พร้อมตรวจโควิด และถอดบทเรียนออนไลน์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและประชาชน

พุธ ๑๗ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๕:๑๑
เด็กในช่วงวัยต่ำกว่า 6 ขวบ ถือเป็นช่วงวัยสำคัญที่สุดของพัฒนาการชีวิตในทุกด้าน "ศูนย์เด็กเล็ก" เปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการควบคุมให้มีคุณภาพและปลอดโรค
ม.มหิดล ทดสอบเปิดห้องเรียนเด็กปฐมวัย พร้อมตรวจโควิด และถอดบทเรียนออนไลน์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและประชาชน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้ศูนย์เด็กเล็กที่มีกว่า 48,000 แห่งทั่วประเทศต้องวางแผนเตรียมการป้องกันและควบคุมโรคเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรค ซึ่งรวมถึง ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ได้จัดให้มีการทดสอบเปิดห้องเรียนก่อนเปิดเทอม 1 เดือนเพื่อการประเมินความเสี่ยง และจะมีการขยายผลถอดบทเรียนสู่การจัดประชุมวิชาการออนไลน์ "เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต้นแบบศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย New Normal" ผ่านแอพพลิเคชัน "Zoom" จำนวน 5 รอบ ในวันที่ 23, 25, 26, 28 และ 30 มิถุนายน 2563 เวลา 09.30 – 15.45 น.

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่วัยเตาะแตะ 1 ขวบ 3 เดือน ไปจนถึงวัยอนุบาลอายุ 6 ขวบ โดยมีกระบวนการเฝ้าระวังติดตาม ประเมินผลความก้าวหน้าของพัฒนาการ และการเจริญเติบโตเด็ก ทั้งทางด้านสุขภาพ พฤติกรรมการกิน การนอน การเล่น ฯลฯ โดยกุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ มีการจัดการดูแล และการทำกิจกรรมแบบ Inclusive care

ที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดให้มีการทดลองให้เด็กจำนวน 30 คนเข้าห้องเรียนต้นแบบที่มีการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส Covid-19 ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้เด็กใส่หน้ากากผ้า และรักษาระยะห่างแบบ Group Distancing ซึ่งแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ ละ 5 คน ในพื้นที่ละ 5 ตารางเมตร ให้อยู่แต่ในกลุ่มของตัวเอง เพื่อจำกัดขอบเขต และลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด และติดเชื้อ

นอกจากนี้ ยังจัดให้เด็กและครูแต่งกายปลอดเชื้อ ทำความสะอาดของเล่นทุกครั้งหลังสัมผัส ให้เด็กนอนกลางวันห่างกัน 1 เมตร กินอาหารแบ่งตามกลุ่ม รวมทั้งมีระบบให้ผู้ปกครองได้เช็คอินผ่านการสแกนเพื่อตรวจสอบการรับ-ส่งบุตร-หลานที่ศูนย์ฯ และให้ข้อมูลเฝ้าระวังการติดเชื้อรายวัน

ตลอดจนได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ตรวจ Covid-19 ให้กับเด็กเล็กของศูนย์ฯ ครั้งแรกในช่วงทดลอง และจะตรวจซ้ำอีกในทุกสิ้นเดือน ด้วยเทคนิค RT-PCR จากการเก็บตัวอย่างจากน้ำลายที่ทำได้ง่ายกว่า ราคาไม่สูงมาก และให้ผลใกล้เคียงการเก็บตัวอย่างทางโพรงจมูกซึ่งทำได้ยากและมีราคาแพงกว่ามาก

นายแพทย์สมคนึง ตัณฑ์วรกุล ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์สุขภาพแนวหน้ารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (Rama Frontier) ที่นำทีมเข้าตรวจ Covid-19 ได้เปิดเผยถึงผลจากการตรวจครั้งแรกว่าไม่พบการติดเชื้อในทุกราย ทั้งเด็กๆ ครู เจ้าหน้าที่ แม่บ้าน และแม่ครัว ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเฝ้าระวังที่ "การ์ดไม่ตก" เป็นการเริ่มต้นที่ดีของดำเนินชีวิตปกติใหม่ (New normal)

ซึ่งในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่เป็นวันแรกของการเปิดภาคเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดให้เด็กของศูนย์ฯ ทั้งหมด 220 คน ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กในช่วงวัยเดียวกันของ "โครงการศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต" ซึ่งเป็นเด็กที่ได้รับบาดแผลทางใจจากการถูกกระทำและทอดทิ้งจากครอบครัว อีกจำนวน 12 คน

โดยจากการประเมินรวมกลุ่มทำกิจกรรมแบบ Inclusive care ที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่มาจาก "โครงการศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต" มีอารมณ์ จิตใจ และพัฒนาการที่ดีขึ้น ดีกว่าเมื่อก่อนที่เด็กจะต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาสัปดาห์ละครึ่งชั่วโมงแต่เพียงทางเดียว โดย "โครงการศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต" เป็นโครงการที่ดำเนินการโดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มากว่า 1 ปี และจะขยายผลเพื่อช่วยเหลือเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบที่ได้รับบาดแผลทางใจในระดับมหภาคต่อไป

ไม่ว่าการแพร่ระบาด Covid-19 ระลอกสอง (Second wave) จะเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ไม่ควรประมาท แม้การเฝ้าระวังจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็คาดว่าสามารถทำให้ผู้ปกครองและประชาชนยอมรับความเสี่ยงในจุดสมดุลได้ ซึ่งผลจากการทดสอบจะนำไปต่อยอดจัดประชุมวิชาการออนไลน์ "เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต้นแบบศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย New Normal" ผ่านแอพพลิเคชัน "Zoom" จำนวน 5 รอบ ในวันที่ 23, 25, 26, 28 และ 30 มิถุนายน 2563 เวลา 09.30 – 15.45 น. โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้ง 5 รอบได้ที่ www.cf.mahidol.ac.th เฟสบุ๊ค : NICFD Mahidol

ม.มหิดล ทดสอบเปิดห้องเรียนเด็กปฐมวัย พร้อมตรวจโควิด และถอดบทเรียนออนไลน์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและประชาชน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้