กสศ.เข้มคัดเลือกโครงการทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรม

จันทร์ ๒๐ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๓๐
กสศ.เข้มคัดเลือกโครงการทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน หลังกระแสตอบรับดีเกินคาด หลายองค์กร อาทิ สถาบันการศึกษา กองทุนหมู่บ้านฯลฯ แห่ยื่นข้อเสนอโครงการกว่า 783 โครงการ มากกว่าปี 62 ถึง 7 เท่า ครอบคลุม 73 จว.ใน 6 ภูมิภาค ยึดความรอบคอบ โปร่งใส พร้อมดึงตัวแทน 4 ภาคส่วนร่วมพิจารณาโครงการภาควิชาการ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และท้องถิ่น/ปราชญ์ชาวบ้าน เน้นเป้าหมายช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส สอนวิธีการจับปลา แทนการให้ปลา
กสศ.เข้มคัดเลือกโครงการทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวถึงการเปิดรับสมัครยื่นข้อเสนอโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 ว่า สำหรับโครงการทุนพัฒนาอาชีพฯ ที่เปิดรับสมัครส่งข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. - 24 มิ.ย. 2563 ปรากฎว่ามีผู้สนใจส่งข้อเสนอโครงการจำนวน 783 โครงการ จาก 73 จังหวัด ครอบคลุม 6 ภูมิภาค โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1.ทุนนวัตกรรมเพื่อชุมชน จำนวน 202 โครงการ และ2.ทุนพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จำนวน 581 โครงการ ซึ่งหากเปรียบเทียบข้อเสนอโครงการในปี พ.ศ.2562 กับ ปี พ.ศ. 2563 มีหน่วยงานที่สนใจเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ยื่นข้อเสนอโครงการมาทั้งหมด111 โครงการ ขณะที่ปี 2563 การยื่นข้อเสนอโครงการเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่า ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ. เปิดกว้างและเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาทำให้มีความหลากหลายของหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรและกิจการเพื่อสังคม และกลุ่มชุมชนในพื้นที่ทั่วประเทศไทยที่สนใจ โดยจำนวน 783 โครงการ ที่ยื่นข้อเสนอมาสามารถแยกเป็นกลุ่มต่างๆได้ ประกอบด้วย สถาบันการศึกษาจำนวน 421 โครงการ องค์กรชุมชน (เช่น วิสาหกิจชุมชน กลุ่มสวัสดิการชุมชน กลุ่มสตรีแม่บ้าน กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหมู่บ้าน)จำนวน 144 โครงการ องค์ก

สาธารณประโยชน์/องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจำนวน 84 โครงการ องค์กรปกครองท้องถิ่นจำนวน 53 โครงการ หน่วยงานในภาครัฐ และเอกชนจำนวน 29 โครงการ ศูนย์การเรียนรู้/ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน18 โครงการ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) จำนวน13 โครงการ และอื่นๆ จำนวน21 โครงการ อย่างไรก็ตาม สำหรับจำนวนผู้ส่งข้อเสนอโครงการเข้ามา 783 โครงการ ถือว่าสังคมให้ความสนใจและได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่มีประโยชน์ ตอบโจทย์ประเด็นปัญหาขณะนี้โดยตรง ทำให้หลายภาคส่วนต้องการร่วมพัฒนาไปกับกสศ. และเห็นด้วยกับแนวทางการใช้ชุมชนเป็นฐานซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากสำคัญในปัจจุบัน และหลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มีคนจำนวนมากต้องย้ายกลับถิ่นฐานบ้านเกิด ดังนั้นเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกจะมีหลักการและแนวทางพิจารณาเข้มข้นรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส จากผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วย1.ภาควิชาการ /ภาครัฐ 2.ภาคเอกชน 3.ภาคสื่อมวลชน และ4.ปราชญ์ชาวบ้าน/ท้องถิ่น ที่จะให้มุมมองเชิงบูรณาการภายใต้เกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอโครงการ 3 เกณฑ์หลักสำคัญ 1.ประสบการณ์การทำงานและความร่วมมือการทำงานชุมชน 2.คุณภาพข้อเสนอโครงการ และ 3.ความสอดคล้องของกระบวนการทำงาน องค์ประกอบและกลุ่มเป้าหมาย และในวันที่ 17-19 ก.ค. กสศ. จะจัดประชุมชี้แจงและพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการฯ โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายภาคส่วน ณ โรงแรม ทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

“ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดจะเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจต่อการพัฒนาทักษะอาชีพและการพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานสำหรับกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ที่สำคัญต้องไม่มีความเกี่ยวข้องต่อข้อเสนอโครงการที่เสนอเข้ามาด้วย ทั้งนี้ถึงแม้งบประมาณที่จำกัด กสศ.ยังได้เสนอโครงการดังกล่าวเพื่อขอรับงบประมาณเพิ่มเติมจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกด้วย” ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า กสศ.มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนและความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนา มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพพึ่งพาตัวเองได้ และเพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์มีประสิทธิภาพภายใต้เงื่อนไข ต้องมีทักษะการสร้างอาชีพโดยการใช้ชุมชนเป็นฐาน สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ/แรงงานฝีมือในชุมชน ผ่านหลักสูตรระยะสั้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ทักษะเฉพาะอาชีพโดยปฏิบัติงานจริงในชุมชนหรือสถานประกอบการ 2.ทักษะการบริหารจัดการ 3.ทักษะชีวิตด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน ที่สำคัญอย่างน้อยโครงการนี้จะทำให้มีกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์กว่า10,000 คน ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโมเดลทางธุรกิจโดยมีชุมชนเป็นฐาน คนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้สูงขึ้น รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อเสนอต่อหน่วยงานนโยบาย หรือองค์กรต่างๆที่สามารถนำรูปแบบไปพัฒนาขยายต่อได้

อนึ่ง ระเบียบของกสศ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญในการจัดสรรเงินกองทุน พ.ศ.2561 โดยการจัดลำดับความสำคัญนั้น จะพิจารณาจัดสรรให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสและมีระดับรุนแรง กลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาซ้ำซ้อน กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานใด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติในการพิจารณาความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมที่สุด

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า แม้ภาพรวมของประเทศไทยช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 จะมุ่งไปที่ไทยแลนด์ 4.0 หากในความเป็นจริงเราทราบกันดีว่ามีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ เรายังมีประชากรกลุ่มใหญ่ที่ตกจากขอบของการพัฒนา ถ้าเรามองข้ามคนกลุ่มนี้ไป ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะยิ่งขยายตัวออกไปไม่สิ้นสุด ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 จึงเป็นกลุ่มแรงงาน1.0 2.0 ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา กสศ. มองหาวิธีการช่วยเหลือมาตลอด กระทั่งได้บทสรุปว่า “เราต้องสอนให้เขารู้วิธีจับปลา แทนที่จะเอาปลาไปให้เขา และที่สำคัญคือเราต้องแน่ใจว่าเมื่อเขาตกปลาเป็นแล้ว จะต้องมีบ่อ มีสระ มีพันธุ์ปลาที่เขาจะได้นำทักษะตกปลาที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริงด้วย” งานของเราจึงเริ่มที่ชุมชน ต้องรู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีอาชีพอะไรที่ไปได้ดีจริงๆ แล้วชักชวนคนในชุมชนมาฝึกให้นำความก้าวหน้ามาอย่างไม่ฝืนธรรมชาติ และเป็นไปตามศักยภาพของชุมชน

“ในการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 เราได้ตัวแทนเข้าร่วมนำเสนอมุมมองและคัดเลือกโครงการที่น่าสนใจจากบุคคล 4 กลุ่ม เช่น ภาคเอกชน จะมีมุมมองด้านธุรกิจในแง่กิจกรรมว่าเมื่อทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร ไปรอดได้จริงในทางธุรกิจหรือไม่ ภาคสื่อมวลชน ที่มีความเข้าใจมุมมองความคิดของคนทั่วไปได้มากที่สุด เป็นต้น ทั้งหมดนี้ถือเป็น 4 เสาหลักอันเป็นองค์ประกอบร่วมกันในการทำงาน สำคัญกว่านั้นจะมีผู้คนนับหมื่นคนทั่วประเทศที่ได้รับประโยชน์ มีคนที่รอคอยโอกาสมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม มีคนว่างงานหรือตกงานไม่มีงานทำจากผลของวิกฤตโควิด -19 นี่คือสิ่งที่ผลักดันให้ กสศ.ต้องเร่งทำงาน เพราะยิ่งการพิจารณาเสร็จสิ้นเร็วขึ้นเท่าไหร่ กิจกรรมก็จะเริ่มขึ้นได้เร็วเท่านั้น การพิจารณาข้อเสนอโครงการครั้งนี้ สิ่งที่มีค่าที่สุดจึงไม่ใช่แค่การคัดเลือก แต่เป็นเรื่องของความพร้อมในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้โครงการสามารถนำมาใช้จนเกิดผลสำเร็จได้จริง” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest