ครั้งแรกในประเทศไทย ม.มหิดล จัดอบรม NeuroLeadership สร้างผู้นำสร้างสรรค์สังคม

พุธ ๐๕ สิงหาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๒๑
สมองซีกซ้ายใช้เหตุผล ในขณะที่สมองซีกขวาใช้อารมณ์ หากมีการใช้สมองทั้ง 2 ซีกอย่างสมดุล จะก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และยิ่งหากเสริมด้วย “ภาวะผู้นำ” (Leadership) จะทำให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ผู้ทรงคุณค่าและสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2563 สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์และการบริหารการศึกษาในระดับประเทศ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “NeuroLeadership For Innovative And Strategic Executives (NISE) หรือ ภาวะผู้นำเชิงประสาทวิทยาศาสตร์สำหรับผู้บริหารเชิงนวัตกรรมและกลยุทธ์” ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ สุขุมวิท 20 รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย กล่าวว่า NeuroLeadership เป็นนวัตกรรมการบริหารใหม่ที่ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน เกิดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อประมาณ 12 – 13 ปีที่ก่อน โดยมี “SCARF Brain-Based Model” ซึ่งเป็นเครื่องมือโมเดลการบริหารตามธรรมชาติของสมอง (S ย่อมากจาก Status หรือ สถานภาพความสำคัญของตำแหน่งงาน, C ย่อมาจาก Certainty หรือความแม่นยำในการทำนายอนาคต, R ย่อมาจาก Relatedness หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และ F ย่อมาจาก Fairness หรือ ความยุติธรรม) ซึ่งผู้บริหารที่ดีควรมีการวางตัวในฐานะผู้สนับสนุนหรือชี้นำมากกว่าบังคับบัญชา มีการสื่อสารที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อมั่น สามารถ "อ่านคนขาด ใช้คนเป็น" เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สามารถพูดจูงใจและสร้างแรงบันดาลใจได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การบริหารที่มีชั้นเชิง ก่อให้เกิดความร่วมมือและผลลัพธ์ที่ต้องการ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย กล่าวต่อไปว่า ศาสตร์ของ NeuroLeadership สามารถนำมาจัดทีมเพื่อการบริหารอย่างมีกลยุทธ (Strategic Team Building) ได้โดยใช้หลักการอ่านคนลักษณะต่างๆ ตาม “DISCO Personality Style” ซึ่งแบ่งคนออกเป็น 5 ประเภท D คือ Dominant หรือพวกกล้าตัดสินใจแต่ไม่ละเอียด, I คือ Influential หรือพวกที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี เน้นคน, S คือ Supportive หรือพวกสนับสนุน หรือ "มดงาน", C คือ Conscientious หรือพวกสมบูรณ์แบบ และ O คือ Open Personality Styles หรือพวกชอบใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน) ถ้าเราอ่านคนได้ว่ามีลักษณะการทำงานอย่างไร แล้วบวกด้วยการบริหารโดยใช้หลัก NeuroLeadership เราก็จะได้ทีมงานที่มีความหลากหลาย จากการสามารถเอาจุดเด่นของแต่ละคนในทีมมาผสมกันได้อย่างลงตัว

หลักการของ Neuroleadership คือ ทำอย่างไรให้ผู้ร่วมงานสบายใจและมีความสุข จนสมองหลั่งสารโดปามีนออกมา ทำอย่างไรผู้ร่วมงานมีความสุขได้จากการบริหารของเรา ซึ่งรูปแบบการบริหารไม่ได้จำกัดเพียงเจ้านายบริหารลูกน้อง แต่ลูกน้องก็สามารถบริหารเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานก็สามารถบริหารกันเองก็ได้ ซึ่งคนที่รู้ศาสตร์ของ NeuroLeadership จะรู้วิธีการกำกับดูแลในเรื่องของอารมณ์เพื่อไม่ให้เกิด “Amygdala Hijack” หรือ การถูกโจมตีทางอารมณ์ โดย Amygdala คือกลุ่มเซลล์ประสาทที่อยู่บริเวณขมับ มีหน้าที่บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ผู้บริหารที่ดีควรมีการฝึกปรับอารมณ์ความรู้สึกตัวเองให้คงที่ เพื่อให้เกิดสติปัญญาที่ดีในการใช้เหตุผล ศาสตร์ของ NeuroLeadership สามารถนำมาปรับใช้สำหรับนักศึกษา ทั้งในการเรียน การทำกิจกรรม และความประพฤติ ทำอย่างไรให้นักศึกษาของเรามีความสุข เราต้องสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้นักศึกษารู้สึกสนุกกับการเรียน ซึ่งจะทำให้สารโดปามีนหลั่งออกมาในสมองจากการมีความสุขกับการเรียนรู้ นอกจากนี้ ผู้สอนยังสามารถโน้มนำให้ผู้เรียนเกิด “จิตอาสา” หรือจิตที่อยากจะทำเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน เริ่มด้วยการทำเป็นตัวอย่าง ผู้เรียนก็จะสามารถทำตามได้โดยที่ผู้สอนไม่ต้องสั่งหรือบังคับ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดจะมี “Mirror Neuron” หรือ เซลล์ประสาทกระจก แสดงสัญชาตญาณในการทำตามแบบอย่าง ซึ่งการเป็นแพทย์ที่ดี ก็เกิดจากการที่นักศึกษาแพทย์ได้เห็นแบบอย่างที่ดี (role model) จากครูแพทย์ จากการมีคุณธรรมจริยธรรม และปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความเคารพ และเอื้ออาทร นอกจากนี้ แบบอย่างที่ดีในห้องเรียนจะสามารถส่งผลถึงพฤติกรรมภายนอกห้องเรียนได้ด้วย หากเราสามารถทำให้ผู้เรียนปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัย เช่น ความมีระเบียบ การใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง และการมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม หรือสังคม จากการทำให้ผู้เรียนเกิดการสะท้อนคิด (reflect) ว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เจอ ปัญหาเกิดจากอะไร เราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาหรือไม่ และสุดท้ายสร้างบรรยากาศให้เกิดการมีส่วนร่วม เช่น ปัญหาโลกร้อนเกิดจากอะไร หากเราช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรจะช่วยให้ปัญหาดีขึ้นหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งการมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม หรือการมุ่งผลเพื่อผู้อื่น (Altruism) ถือเป็นค่านิยมหลักที่เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมุ่งหวังที่จะผลิตบัณฑิตที่นำความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน ตามเป้าประสงค์ของการผลิตบัณฑิต "เป็นคนดี มีปัญญา นำพาสุข" และตามพระราชปณิธานของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest