สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) เผยประชากรโลกกว่าพันล้านคนอาจต้องย้ายถิ่นภายในปี 2593 อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้ง และความไม่สงบ

พุธ ๐๙ กันยายน ๒๐๒๐ ๑๑:๐๐
สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace: IEP) เปิดเผยรายงาน Ecological Threat Register (ETR) ฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งเป็นการวัดภัยคุกคามทางระบบนิเวศที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์ไปจนถึงปี 2593 รายงานฉบับนี้ผนวกการวัดความสามารถในการฟื้นตัวกับข้อมูลทางระบบนิเวศที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อระบุประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศอันรุนแรงได้น้อยที่สุด ทั้งนี้ IEP เป็นองค์กรคลังสมอง (Think Tank) ชั้นนำระดับโลกที่จัดทำดัชนีต่าง ๆ เช่น ดัชนีสันติภาพโลกและดัชนีก่อการร้ายโลก เป็นต้น

ผลการค้นพบสำคัญ

- 19 ประเทศที่เผชิญภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากที่สุด คือประเทศที่ติดอันดับ 40 ประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลก เช่น อัฟกานิสถาน ซีเรีย อิรัก ชาด อินเดีย และปากีสถาน

- ประชากรโลกกว่า 1 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ใน 31 ประเทศที่ไม่มีความสามารถในการฟื้นตัวมากพอที่จะต้านทานผลกระทบทางระบบนิเวศ อาจต้องย้ายถิ่นขนานใหญ่ภายในปี 2593

- ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากที่สุด

- ภายในปี 2583 ประชากร 5.4 พันล้านคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมดในตอนนั้น จะอาศัยอยู่ใน 59 ประเทศที่เผชิญกับความเครียดเนื่องจากน้ำ (Water stress) อย่างมากหรือรุนแรงมาก ซึ่งรวมถึงอินเดียและจีน

- ประชากรโลก 3.5 พันล้านคนอาจเผชิญสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารภายในปี 2593 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.5 พันล้านคนในปัจจุบัน

- การขาดความสามารถในการฟื้นตัวของประเทศต่าง ๆ จะทำให้สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารย่ำแย่ลงและเกิดการแย่งชิงทรัพยากร ก่อให้เกิดความไม่สงบและการย้ายถิ่นขนานใหญ่ ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยไหลบ่าเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วมากยิ่งกว่าเดิม

รายงาน Ecological Threat Register วิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ความเครียดเนื่องจากน้ำ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภัยแล้ง อุทกภัย พายุไซโคลน ระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าในช่วงเวลา 30 ปีข้างหน้า 141 ประเทศจะเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างน้อยหนึ่งอย่างภายในปี 2593 ขณะที่ 19 ประเทศที่เผชิญภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากที่สุดมีประชากรรวมกันกว่า 2.1 พันล้านคน หรือราว 25% ของประชากรโลกทั้งหมด

รายงาน ETR วิเคราะห์ระดับความสามารถในการฟื้นตัวทางสังคมของประเทศต่าง ๆ เพื่อระบุว่าแต่ละประเทศมีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศในอนาคตหรือไม่ โดยพบว่ามีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถบรรเทาและรับมือกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นขนานใหญ่ภายในปี 2593

ประเทศที่มีความเสี่ยงเกิดการย้ายถิ่นขนานใหญ่มากที่สุดคือปากีสถาน ตามมาด้วยเอธิโอเปียและอิหร่าน ส่วนเฮติเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในภูมิภาคอเมริกากลาง สำหรับประเทศเหล่านี้ ภัยคุกคามทางระบบนิเวศและภัยธรรมชาติเพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดการย้ายถิ่นขนานใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคและทั่วโลก

แม้แต่ภูมิภาคที่มีความสามารถในการฟื้นตัวสูง เช่น ยุโรปและอเมริกาเหนือ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบในวงกว้างจากภัยคุกคามทางระบบนิเวศ เช่น จำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรปอันเป็นผลมาจากสงครามซีเรียและอิรักในปี 2558 ซึ่งส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยเข้ายุโรปกว่า 2 ล้านคน และตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างรวดเร็วกับความวุ่นวายทางการเมืองและความไม่สงบทางสังคม

อย่างไรก็ตาม ยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศ ก็เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศน้อยกว่า และมีความสามารถในการฟื้นตัวสูงกว่าในการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ สำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่ตอนนี้ไม่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศประกอบด้วยสวีเดน นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และไอซ์แลนด์ ส่วนประเทศทั้งหมดที่ตอนนี้ไม่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศมีอยู่ 16 ประเทศ

สตีฟ คิลเลเลีย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ กล่าวว่า

“ภัยคุกคามทางระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความท้าทายอันใหญ่หลวงต่อความสงบสุขของโลก ในช่วงเวลา 30 ปีข้างหน้า การขาดแคลนน้ำและอาหารจะทวีความรุนแรงขึ้นหากทั่วโลกไม่ร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน โดยหากไม่ลงมือแก้ปัญหา ความไม่สงบ ความวุ่นวาย และความขัดแย้งก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน และในตอนนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดช่องว่างในห่วงโซ่อาหารทั่วโลกแล้ว”

หลายประเทศที่เสี่ยงเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากที่สุดก็มีแนวโน้มว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นมากที่สุดเช่นกัน เช่น ไนจีเรีย แองโกลา บูร์กินาฟาโซ และยูกันดา โดยประเทศเหล่านี้ต้องดิ้นรนแก้ปัญหาทางระบบนิเวศอยู่แล้ว ทั้งยังเผชิญกับการขาดแคลนทรัพยากร ความสงบสุขในระดับต่ำ และความยากจนในระดับสูง

สตีฟ คิลเลเลีย กล่าวเสริมว่า

“สิ่งนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและการเมืองอย่างใหญ่หลวง ไม่ใช่แค่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่รวมไปถึงประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากการย้ายถิ่นขนานใหญ่จะทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไหลบ่าสู่ประเทศพัฒนาแล้วมากยิ่งกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศคือภัยคุกคามสำคัญของโลกและประชากรโลก เราต้องปลดล็อกพลังของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวให้กับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด”

ความไม่มั่นคงทางอาหาร

ความต้องการอาหารทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2593 นั่นหมายความว่าหากอุปทานอาหารไม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประชากรโลกจำนวนมากก็เสี่ยงเผชิญกับความหิวโหย ปัจจุบัน ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคนกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5 พันล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการฟื้นตัวของทั่วโลก

5 ประเทศที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารมากที่สุดประกอบด้วยเซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย ไนเจอร์ มาลาวี และเลโซโท โดยประชากรเกินครึ่งหนึ่งเผชิญกับความไม่แน่นอนในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอต่อการมีสุขภาพดี ขณะเดียวกัน โควิด-19 ก็ทำให้สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารย่ำแย่ลง และทำให้อาหารมีราคาแพงขึ้นมาก ซึ่งตอกย้ำถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศในอนาคต

แม้ในประเทศที่มีรายได้สูงก็ยังพบประชากรขาดสารอาหารในระดับสูงถึง 2.7% ซึ่งหมายความว่าประชากร 1 ใน 37 คนไม่ได้รับอาหารเพียงพอต่อการทำงานตามปกติของร่างกาย การขาดสารอาหารในประเทศพัฒนาแล้วเป็นผลพวงมาจากความยากจน โดยโคลอมเบีย สโลวาเกีย และเม็กซิโก เป็นประเทศที่มีอัตราการขาดสารอาหารสูงสุดในกลุ่ม OECD

ความเครียดเนื่องจากน้ำ

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับน้ำพุ่งขึ้น 270% ทั่วโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2543 เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเยเมนและอิรัก ซึ่งตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดเนื่องจากน้ำอย่างรุนแรง ความสามารถในการฟื้นตัว และความสงบสุข เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดเมื่อวัดโดยดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2563

ปัจจุบัน ประชากรโลก 2.6 พันล้านคนเผชิญกับความเครียดเนื่องจากน้ำอย่างมากหรือรุนแรงมาก และภายในปี 2583 ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.4 พันล้านคน โดยประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก สำหรับประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดภายในปี 2583 ประกอบด้วยเลบานอน สิงคโปร์ อิสราเอล และอิรัก ส่วนจีนและอินเดียก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับน้ำที่เพิ่มขึ้นในอดีต มีแนวโน้มว่าจะเกิดความตึงเครียดมากขึ้นและทำให้ทั่วโลกมีความสามารถในการฟื้นตัวลดลง

ภัยธรรมชาติ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเกิดภัยธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง ทั้งยังส่งผลให้พายุและมรสุมมีความรุนแรงขึ้น หากภัยธรรมชาติยังคงเกิดขึ้นในอัตราเดียวกับช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ประชากรโลก 1.2 พันล้านคนอาจต้องย้ายถิ่นภายในปี 2593 ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติมากที่สุดกว่า 581,000 รายนับตั้งแต่ปี 2533 โดยแผ่นดินไหวคร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดกว่า 319,000 ราย ตามมาด้วยพายุที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 191,000 ราย

อุทกภัยคือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533 โดยคิดเป็นสัดส่วน 42% ของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งหมด เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในจีนเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ซึ่งส่งผลให้ประชาชน 15.2 ล้านคนต้องย้ายถิ่น นอกจากนี้ อุทกภัยยังเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในยุโรป โดยคิดเป็นสัดส่วน 35% ของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งหมดในภูมิภาค และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก

ในรายงาน ETR พบว่ามี 19 ประเทศที่เสี่ยงเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และประชากรอย่างน้อย 10% ในแต่ละประเทศอาจได้รับผลกระทบ โดยในช่วงเวลา 30 ปีข้างหน้า สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลอย่างมากต่อพื้นที่ต่ำบริเวณชายฝั่งในประเทศจีน บังกลาเทศ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งรวมถึงเมืองที่มีประชากรมากอย่างอเล็กซานเดรียในอียิปต์ กรุงเฮกในเนเธอร์แลนด์ และโอซาก้าในญี่ปุ่น

ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา

ความช่วยเหลือเป็นกลไกที่จะเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบทางระบบนิเวศ เช่น ภัยแล้ง ความเครียดเนื่องจากน้ำ และความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศกำลังพัฒนา โดยความช่วยเหลือด้านสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น 34 เท่าจาก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2543 สู่ระดับ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 และส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา เอเชียใต้ และเอเชียแปซิฟิก ขณะที่อินเดียได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในปี 2561 ที่ระดับ 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเงินช่วยเหลือจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ที่ยังคงดำเนินต่อไป

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ economicsandpeace.org

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

สามารถเข้าถึงรายงาน ETR รวมถึงบทความและแผนที่อินเทอร์แอคทีฟได้ที่ visionofhumanity.org

เกี่ยวกับรายงาน Ecological Threat Register (ETR)

รายงาน Ecological Threat Register (ETR) ฉบับปฐมฤกษ์ เป็นการสำรวจดินแดนและรัฐเอกราช 157 แห่งทั่วโลก รายงานฉบับนี้ผนวกการวัดความสามารถในการฟื้นตัวกับข้อมูลทางระบบนิเวศที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อระบุประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศอันรุนแรงได้น้อยที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต

วีธีการจัดทำรายงาน

รายงาน ETR ประกอบด้วยผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่ล่าสุดและได้รับการยอมรับมากที่สุดทั้งในส่วนของการเพิ่มขึ้นของประชากร ความเครียดเนื่องจากน้ำ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภัยแล้ง อุทกภัย พายุไซโคลน ระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รายงานยังใช้ Positive Peace Framework ของ IEP ในการระบุประเทศที่มีความสามารถในการฟื้นตัวไม่มากพอที่จะปรับตัวหรือรับมือกับผลกระทบเหล่านี้ในอนาคต รายงานนี้รวบรวมข้อมูลมาจากหลายแหล่ง ซึ่งรวมถึงองค์การทรัพยากรโลกสากล (World Resources International) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) และสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก เฮก เม็กซิโกซิตี้ และฮาราเร

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/792052/IEP_Logo.jpg

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?