เอกชนแนะผู้ประกอบการปรับตัว วอนรัฐฟื้นเชื่อมั่นนักลงทุน หอการค้าชี้ 2 ปี เศรษฐกิจฟื้น

อังคาร ๒๗ ตุลาคม ๒๐๒๐ ๑๑:๑๗
เอกชนแนะผู้ประกอบการปรับตัว วอนรัฐฟื้นเชื่อมั่นนักลงทุน หอการค้าชี้ 2 ปี เศรษฐกิจฟื้น

เอกชนแนะรัฐฟื้นความเชื่อมั่นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หอการค้าชี้ไทยใช้เวลา 2 ปี เศรษฐกิจจะฟื้นคืนเท่าก่อนโควิด แนะรัฐเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายเคลื่อนเศรษฐกิจโต 5% ด้านขุนพลเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ชี้รัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจ

ภายในงาน "ASA Building And Construction Forum 2020" ภายใต้แนวคิด "Emerging Challenges, Recovering Industries" มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 -2565" โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) คณะผู้จัดงานสถาปนิก?64

นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันกระตุ้น ส่งเสริม และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเทรนด์ของการออกแบบอาคาร ที่พักอาศัยในยุคหลังโควิด-19 จะมีหลากหลายสิ่งที่เพิ่มเติมความต้องการเพื่อวางเป้าหมายความปลอดภัยทางสุขอนามัยเป็นหลัก นักสถาปนิกจึงมีส่วนสำคัญในการเข้าไปออกแบบที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด และอาคาร ให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของคนในยุคโควิด-19 ที่เปลี่ยนไป และนำขึ้นมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบตกแต่งที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้

ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ที่ปรึกษาหอการค้าไทยและอธิการบดี มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย ได้ประมาณการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 -2565 ว่า ประเทศไทยจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2564-2565 ประมาณ 5 % ใน 2 ปีข้างหน้า เท่ากับช่วงที่ก่อนการเกิดโควิด-19 บนสมมติฐานที่จะไม่เกิดการระบาดรอบที่ 2 โดยเทรนด์ในการขับเคลื่อนธุรกิจภายหลังโควิด-19 ส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งเกิดจากเทรนด์การเติบโตของกลุ่มเจนเนอเรชั่นวาย ที่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการสร้างโมเดลธุรกิจในแพลตฟอร์มต่างๆ เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการสร้างธุรกิจของตัวเอง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังยกระดับไปสู่เทคโนโลยีชั้นสูง

สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการคือ เร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) ใช้จุดยุทธศาสตร์ศูนย์กลางอาเซียนอันแข็งแกร่ง พัฒนาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ เพื่อหาเอสเคิร์ฟตัวใหม่สร้างการเติบโตจาก BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมถึงการสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุนกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต แก้ไขปัญหาโครงสร้างการผลิตที่ขาดแคลนแรงงาน และเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ด้านดร.ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ภาครัฐต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่จะต้องเร่งการเบิกจ่ายเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะงบประมาณที่เสนอมาจากชุมชน ยังมีการอนุมัติน้อยมาก รวมไปถึงการอนุมัติสินเชื่อ (Soft loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับโดยเฉพาะการมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แทนการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดใหญ่

นอกจากนี้จะต้องมีการมองบริบทการพัฒนาประเทศไปสู่สิ่งใหม่ในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น ที่จะดึงดูดการลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ มีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำ ซึ่งการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องขับเคลื่อนคู่กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

ขณะที่นายรังสิน กฤตลักษณ์ ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการลงทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และปัจจัยเสี่ยงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ว่า ภาครัฐควรใช้โอกาสในวิกฤตินี้เร่งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ให้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทั้งศูนย์กลางโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่ง และพัฒนาฐานการผลิต แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน หากขาดงบประมาณและต้องการควบคุมเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ก็มีทางเลือกโดยการพัฒนาโมเดลร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือรัฐทำหน้าที่เพียงเป็นเจ้าภาพในการจัดสรรโครงการอำนวยความสะดวกด้านภาษี หรือกฎหมาย เอื้อให้กับภาคเอกชนทำหน้าที่เป็นเจ้ามือในการลงทุน

ด้านนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาการชะลอตัวเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนลดลง ทำให้อัตราการลงทุนในไตรมาส 1 ของปี 2563 ติดลบ มีเพียงเงินลงทุนจากภาครัฐที่ยังขยายตัวเป็นบวก 10% ในไตรมาสแรก และต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 ของปีนี้ ส่วนภาคเอกชนก็ยังลดลงเช่นเดิม รัฐจึงต้องสร้างความมั่นใจโดยการนำร่องลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว หลังจากจัดการกับโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีแต่เศรษฐกิจยังชะลอตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ประกอบการก่อสร้างรายเล็ก และรายกลางที่ต้องวิ่งเข้าหางาน เพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่รอดได้ ทุกฝ่ายจึงภาครัฐลงทุนฟื้นความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ

งานสถาปนิก?64" ครั้งที่ 34 ภายใต้แนวคิด "มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage" จัดงานโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 เม.ย.-2 พ.ค.2564 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๐๔ กลุ่ม KTIS จับมือ Marubeni ประสานความร่วมมือในการขายเครดิตพลังงานหมุนเวียน (REC)
๑๔:๒๐ ผู้ถือหุ้น TIDLOR อนุมัติจ่ายปันผลเป็นหุ้น-เงินสด อัตรา 27 หุ้นสามัญ : 1 หุ้นปันผล พร้อมจ่ายเงินสด 0.2698 บ./หุ้น เตรียมขึ้น XD วันที่ 24 เม.ย. 67 รับทรัพย์ 14
๑๔:๔๙ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลการฉ้อฉลประกันภัย
๑๔:๑๐ สสวท. เติมความรู้คู่กีฬากับ เคมีในสระว่ายน้ำ
๑๓:๐๓ ฉุดไม่อยู่! ซีรีส์ Kiseki ฤดูปาฏิหาริย์ กระแสแรง ขึ้น TOP3 บน Viu ตอกย้ำความฮอต
๑๔:๒๔ TM บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุพระราม 9
๑๔:๑๒ ผถห. JR อนุมัติจ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น พร้อมโชว์ Backlog แน่น 9,243 ลบ.
๑๔:๕๐ กรุงศรี ร่วมมือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ในโลกธุรกิจ
๑๔:๓๔ ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 10,524 ล้านบาท
๑๔:๑๔ กรุงศรี ร่วมมือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ในโลกธุรกิจ