ปัญญาสมาพันธ์ฯ เชิญนักวิชาการและกูรูร่วมชำแหละโลกไซเบอร์เผยความจริงทำสังคมอึ้ง เยาวชนเกือบร้อยละ 50 ยอมรับ เคยถูกรังแกผ่านโลกไซเบอร์!

ศุกร์ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๐ ๑๕:๑๔
ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บมจ. ซีพี ออลล์ จัดแถลงข่าวในรูปแบบเสวนาเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยชิ้นล่าสุด “ปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงทั้งทางกายภาพและการข่มเหงรังแกผ่านโลกไซเบอร์ของเยาวชนไทย” เหล่านักวิชาการและกูรูจากโลกไซเบอร์และกฎหมายร่วมเผยด้านมืดของสังคมออนไลน์ ชี้ให้ภาครัฐและสังคมร่วมมือกันแก้ไขก่อนเยาวชนไทยจะเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา

ความรุนแรงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมที่ไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจของคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ทำให้สังคมเจ็บป่วย และที่น่าเป็นห่วงคือ ความรุนแรงเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในสถานศึกษา ที่ทำงาน หรือแม้แต่บนท้องถนน ยิ่งปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัด โลกไซเบอร์จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีอิสระและมีทางเลือกในการทำร้ายกันมากขึ้น ทำให้เกิดการรังแกกันในรูปแบบใหม่ผ่านเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า Cyber-bullying (การรังแกกันผ่านโลกไซเบอร์) อันเป็นความรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่อย่างแท้จริง

ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่เชิงวิชาการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม โดยเฉพาะงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนและครอบครัว ปัญญาสมาพันธ์ฯเล็งเห็นความจำเป็นของการศึกษาถึงรูปแบบพฤติกรรมการข่มเหงรังแกกันในรูปแบบใหม่ที่กำลังแพร่หลายในหมู่เด็กและเยาวชน จึงได้สำรวจความคิดเห็นสาธารณะเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงทั้งทางกายภาพและการข่มเหงรังแกผ่านโลกไซเบอร์ ผ่านกลุ่มตัวอย่างเยาวชนไทยอายุ 12-24 ปี จำนวน 2,500 ตัวอย่าง จากภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผลการศึกษาชี้ให้เห็นความจริงอันน่าตกใจว่า กลุ่มเยาวชนร้อยละ 43.1 ระบุว่าตนเองเคยถูกรังแกผ่านโลกไซเบอร์มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการถูกนินทาหรือด่าทอผ่านโทรศัพท์มือถือหรือห้องสนทนา ได้รับข้อความก่อกวนทางโทรศัพท์มือถือ อีเมล หรือเว็บไซต์ แต่เมื่อเยาวชนเหล่านี้ถูกข่มเหงรังแกจะเล่าให้เพื่อนร้อยละ 19.8 ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 1.9 และ 4.9 ที่จะบอกคุณครูและผู้ปกครองตามลำดับ นั่นหมายความว่า ผู้ปกครองและครูจำนวนน้อยมากที่จะรับรู้ว่ามีการข่มเหงรังแกเช่นนี้เกิดขึ้น

และเมื่อมีการถามข้อคำถามเพื่อตรวจสอบระดับสัมพันธภาพในครอบครัว พบว่าประเด็นเหล่านี้ ได้แก่ สมาชิกในครัวเรือนทะเลาะกันเป็นประจำ ฉันรู้สึกว่าบิดามารดาไม่เข้าใจในตัวฉัน เมื่อฉันทำผิดบิดามารดาจะดุด่าฉันโดยไม่ถามเหตุผลเสมอ ในครอบครัวไม่มีใครสนใจกันและกัน กลุ่มตัวอย่างราวร้อยละ 20 ตอบว่าประเด็นดังกล่าวเป็นจริง ถึงจริงมากที่สุด ส่วนในประเด็นการกระทำความรุนแรงต่อกันในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58 กล่าวว่าเคยเห็นการกระทำรุนแรงดังกล่าว โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 7 กล่าวว่า เห็นสมาชิกในครอบครัวใช้ความรุนแรงทางวาจาต่อกันค่อนข้างบ่อย (มากกว่าสัปดาห์ละครั้ง) ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า การที่ครอบครัวขาดความอบอุ่นและความเข้าใจ รวมถึงความรุนแรงในบ้านที่เด็กเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนมองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นโดยเฉพาะในโลกไซเบอร์

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ปัญญาสมาพันธ์ฯ ได้จัดการเสวนาหัวข้อ “ชำแหละโลกไซเบอร์ ช่องทางสร้างความผิดออนไลน์...ปัญหาที่ต้องสะสาง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ พ.ต.อ. ญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ซึ่งได้กล่าวถึงอำนาจ บทบาท หน้าที่ของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กรณีตัวอย่างการใช้อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ เว็บบอร์ด สังคมออนไลน์ที่น่าสนใจ รวมถึงชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาและการดูแลของครอบครัวที่จะช่วยลดความรุนแรงในโลกออนไลน์ได้ สำหรับ รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และนักวิชาการด้านกฎหมายที่มีชื่อเสียง ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับความผิดตามกฎหมายในการกระทำผิดบนโลกไซเบอร์ (แพ่ง/อาญา) ไม่ว่าจะเป็นการต่อว่า ด่าทอ ทำให้เสียชื่อเสียง ข่มขู่ คุกคาม ล่อลวง ฯลฯ รวมถึงยกกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และอาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ผู้ร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่งก็ได้มาเล่าถึงรายละเอียดของผลงานวิจัยชิ้นนี้ ไปจนถึงแนวทางการแก้ปัญหา ที่รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเยาวชนเอง การเอาใจใส่ของครอบครัว และบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดร.วิมลทิพย์ กล่าวสรุปว่า “การสำรวจครั้งนี้ได้แสดงผลให้ประจักษ์ว่าเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบันเกือบทุกคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยประเภทโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว และมีความถี่ในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้มาก แต่ประเด็นการข่มเหงรังแกกันผ่านโลกไซเบอร์ยังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งในด้านการป้องกัน แก้ไขและการออกข้อกำหนดเชิงนโยบายที่เท่าทันต่อปัญหา ปัญญาสมาพันธ์ฯ และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวจึงได้เสนอผลงานการวิจัยชิ้นนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐเข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการกับปัญหา และหาทางแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนกลายเป็นวิถีปกติของเยาวชนไทย”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา