พฤติกรรมการเล่นไม่เป็นเวลาการแชทเปลี่ยนเป็นช้ำ

พฤหัส ๑๒ มีนาคม ๒๐๑๕ ๑๗:๓๘
ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ แถลงผลโพลล์สำรวจพฤติกรรมการติดแชทกรณีข่าวที่ว่าศาลได้มีคำพิพากษาให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ถูกให้ออกอันเนื่องมาจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์(แชท)ในระหว่างเวลางานจนส่งผลกระทบกับการทำงานโดยรวมขององค์กร ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวกำลังได้รับความสนใจจากสังคมโดยที่มีองค์กรบางแห่งสั่งห้ามพนักงานหรือลูกจ้างมิให้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในระหว่างเวลางาน ขณะที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้พยายามหาทางควบคุมป้องกันนักเรียนนักศึกษาไม่ให้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในระหว่างเวลาเรียนด้วยเช่นกัน

จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ระหว่างเวลาเรียน/ทำงานของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 ถึง 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

สำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,166 คนซึ่งยอมรับว่าเคยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำกิจกรรมอื่นๆ ในระหว่างเวลาเรียน/ทำงานสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.77 ขณะที่ร้อยละ 49.23 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 21 ถึง 25 ปีคิดเป็นร้อยละ 30.53 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 33.53 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี

สำหรับกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างนิยมทำผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ในระหว่างเวลาเรียน/ทำงานที่นอกเหนือจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียน/ทำงานสูงสุด 5 อันดับได้แก่ พูดคุย (Chat) คิดเป็นร้อยละ 84.48 เขียน/อ่านข้อความแสดงความคิดเห็น/อารมณ์/ความรู้สึก คิดเป็นร้อยละ 81.65 แสดงรูปภาพต่างๆที่ตนเองถ่าย คิดเป็นร้อยละ 79.42 แบ่งปันข้อความ/ภาพ/คลิปต่างๆ จากผู้อื่น คิดเป็นร้อยละ 75.39 และเล่นเกมออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 72.64

ส่วนช่วงเวลาการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ระหว่างเวลาเรียน/ทำงานนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.37 ยอมรับว่าตนเองใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียน/การทำงานในช่วงเวลาระหว่างการเรียน/การทำงานในแต่ละวันบ่อยที่สุด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.13 ยอมรับว่าตนเองใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ช่วงเริ่มต้นการเรียน/การทำงานบ่อยที่สุด ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.5 ระบุว่าตนเองใช้ช่วงใกล้เลิกเรียน/เลิกงานบ่อยที่สุด สำหรับระยะเวลาโดยเฉลี่ยในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ระหว่างการเรียน/การทำงานนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในระหว่างเวลาเรียน/ทำงานเป็นระยะเวลาน้อยกว่าสิบนาทีโดยเฉลี่ยต่อหนึ่งครั้งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 39.54 รองลงมาร้อยละ 31.56 ระบุว่าใช้ประมาณ 10 ถึง 15 นาทีโดยเฉลี่ยต่อหนึ่งครั้ง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.58 และร้อยละ 11.32 ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำกิจกรรมอื่นๆระหว่างเวลาเรียน/ทำงานโดยเฉลี่ยประมาณ 15 ถึง 20 นาทีและมากกว่า 20 นาทีตามลำดับ ขณะเดียวกันช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน/เข้าทำงานจนถึงเลิกเรียน/เลิกงานในแต่ละวัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองเข้าใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียน/การทำงานในทุกๆ 1 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38.85 รองลงมาประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.62 ระบุว่าทุกๆ ครึ่งชั่วโมงหรือต่ำกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.9 ระบุว่าตนเองเข้าใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ในระหว่างเวลาเรียน/ทำงานในทุกๆ 2 ถึง 3 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย และกลุ่มตัวอย่างที่เหลือระบุว่าทุกๆ 4 ชั่วโมงหรือมากกว่าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10.63

ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ระหว่างการเรียน/การทำงาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.15 ร้อยละ 58.58 และร้อยละ 59.69 ยอมรับว่าการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ระหว่างเวลาเรียน/ทำงานส่งผลให้ตนเองมีสมาธิในการเรียน/การทำงานลดลง ส่งผลให้ตนเองทำความเข้าใจในวิชาเรียน/ปฏิบัติงานช้าลง และส่งผลให้ตนเองมีความสนใจต่อวิชาเรียน/การทำงานในขณะนั้นลดลงตามลำดับ

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.57 เห็นด้วยกับการห้ามใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำกิจกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียน/ทำงานในระหว่างเวลาเรียน/ทำงานเลย อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.77 ที่ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.66 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.28 ยอมรับว่าตนเองจะรู้สึกหงุดหงิดบ้างหากมีการห้ามใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำกิจกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียน/ทำงานในระหว่างเวลาเรียน/ทำงานเลย ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.39 ยอมรับว่าจะรู้สึกหงุดหงิดมาก โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 17.32 ที่ระบุว่าตนเองจะไม่รู้สึกหงุดหงิดเลย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.01 ไม่แน่ใจ

นอกจากนั้นกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.38 เห็นด้วยกับการกำหนดบทลงโทษที่มากกว่าการตักเตือนต่อนักเรียนนักศึกษาที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างเวลาเรียนในชั้นเรียนเป็นประจำ เช่น การไล่ออกจากห้องเรียน การตัดคะแนน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.59 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.03 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.26 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษไล่ออกกับลูกจ้าง/พนักงานที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างเวลาทำงานเป็นประจำถือเป็นการลงโทษที่ไม่หนักเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.91 มีความคิดเห็นว่าเป็นการลงโทษที่หนักเกินไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.83 ไม่แน่ใจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้