ไอดีซีเผย ตลาดคอนเทนต์และโมบายแอปพลิเคชั่นในไทยยังสามารถโตได้อีกเยอะ

พุธ ๐๓ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๓:๐๖
จากผลการสำรวจของไอดีซี ซึ่งได้จากงานวิจัยเรื่อง Thailand Mobile Content Market Study 2015 พบว่า ตลาดคอนเทนต์และแอปพลิเคชั่นบนมือถือในไทยมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้การใช้งานส่วนใหญ่จะพบมากในด้านโซเชียลเน็ตเวิร์คและด้านความบันเทิงเป็นหลักก็ตาม

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีตลาดสมาร์ทโฟนใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน และมีจำนวนผู้ใช้งานมือถือบนเครือข่าย 3G และ 4G ที่มากรวมกันทั้งสิ้น 87.5 ล้านเลขหมาย จึงส่งผลให้ตลาดคอนเทนต์บนมือถือมีศักยภาพในการเติบโตสูง และเป็นตลาดที่น่าลงทุนสำหรับผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นในไทยและจากต่างประเทศ ไอดีซีได้จัดทำงานวิจัยนี้ขึ้นเพื่อประเมินสภาพตลาดในปัจจุบันและแนวโน้มการเติบโตของตลาด โดยงานวิจัยนี้ครอบคลุมถึงจำนวนผู้ใช้งาน ความถี่ในการใช้งาน และพฤติกรรมการใช้งานของคนไทยสำหรับแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ บนมือถือ

นายไมเคิล อาราเนตา ผู้จัดการประจำประเทศไทยของไอดีซีกล่าวว่า "ในปัจจุบันนั้น จำนวนผู้ที่เข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นบนมือถือทุกวัน ยังคงมีจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทย และยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชั่นด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากโซเชียลเน็ตเวิร์คและความบันเทิง มีเพียงแค่ 15% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดเท่านั้น นั่นหมายความว่า ตลาดแอปพลิเคชั่นของไทยยังอยู่ในระยะเริ่มแรก แต่ก็มีศักยภาพในการเติบโตที่รวดเร็วได้"

งานวิจัยของไอดีซี ได้เปิดเผยถึงประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญในตลาดดังต่อไปนี้

ไทยเป็นตลาดที่มีจำนวนผู้เข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นด้านโซเชียลเน็ตเวิร์คและด้านความบันเทิงที่สูง จากรายงานตัวเลขของไอดีซีพบว่า จำนวนผู้เข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นบนมือถือทุกวัน มีทั้งสิ้น 24 ล้านคน หรือคิดเป็น 37% ของจำนวนประชากรไทย โดยแอปพลิเคชั่นที่มีการเข้าใช้งานส่วนใหญ่คือ Facebook LINE WhatsApp Google Maps TripAdvisor Agoda YouTube เกมส์ วิดีโอ และ การฟังเพลงบนมือถือ

ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้ที่ใช้งานแอปพลิเคชั่นโซเชียลเน็ตเวิร์คอยู่ทั้งสิ้น 22 ล้านคน ถือเป็นอัตราที่สูงสุดเมื่อเทียบกับการเข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นด้านอื่นๆ ในส่วนของแอปพลิเคชั่นด้านความบันเทิงนั้น มีจำนวนผู้ที่เข้าใช้งานทุกวันเฉลี่ยอยู่ที่ 14 ล้านคน

นอกเหนือจากแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์คและด้านบันเทิงแล้ว โมบายล์ช้อปปิ้งก็เป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชั่นที่กำลังได้รับความนิยมในไทย ซึ่งมีผู้ใช้คิดเป็น 25% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด ส่วนการใช้งานแอปพลิเคชั่นอื่นๆ เช่น โมบายล์แบงก์กิ้ง โมบายล์คอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว รีวิวร้านอาหาร และ สุขภาพ ยังคงมีอัตราการใช้งานที่น้อยอยู่

ตลาดแอปพลิเคชั่นบนมือถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่สูง โดยในปีที่ผ่านมานั้น รายได้ที่เกิดจากแอปพลิเคชั่นบนมือถือ มีมูลค่าสูงถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากการเก็บค่าโฆษณาในแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 42% ของรายได้ในตลาดทั้งหมด

ผู้พัฒนาคอนเทนต์หรือเจ้าของคอนเทนต์จากต่างประเทศยังคงครองตลาดในส่วนของจำนวนดาวน์โหลดและการใช้งาน ส่งผลให้เกิดความแตกต่างที่สูงระหว่างจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นจากต่างประเทศและแอปพลิเคชั่นที่เป็นของคนไทย โดยปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 9 ต่อ 1 (ตัวเลข ณ สิ้นเดือนเมษายน 2558) แอปพลิเคชั่นของไทยที่กำลังได้รับความนิยมที่สูงขึ้นนั้น ได้แก่ Ensogo และ Wongnai

แอปพลิเคชั่นที่เน้นการให้ข้อมูลขององค์กรไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งาน ไอดีซีพบว่า แอปพลิเคชั่นที่หลายบริษัทหรือองค์กรนำเสนอผ่านมือถือเพื่อประชาสัมพันธ์หรือเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการในด้านไลฟ์สไตล์ และ ความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ นายไมเคิลกล่าวว่า "เราไม่ได้สรุปว่าแอปพลิชั่นที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลกับผู้ใช้นั้นไม่มีประสิทธิภาพ หากแต่องค์กรต้องทำการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ โดยเน้นการสื่อสารแบบ 2 ทางให้เพิ่มมากขึ้น ไอดีซีจึงอยากแนะนำให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นพิจารณานำความเป็น ‘โซเชียล’ หรือความเป็น ‘เกมส์’ เพิ่มเติมเข้าไปในตัวคอนเทนต์ ซึ่งจะสามารถดึงความสนใจของผู้ใช้ และ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารกับองค์กรได้ และ จะส่งผลให้แอปพลิเคชั่นนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น”

การสร้างรายได้จากแอปพลิเคชั่นบนมือถือนั้นมีหลายช่องทาง แต่ช่องทางที่เห็นได้ชัดเจนยังมีน้อย ในปัจจุบัน มีหลายองค์กรที่ได้ใช้แอปพลิเคชั่นบนมือถือเป็นช่องทางใหม่ในการเพิ่มรายได้ จากรายงานของไอดีซี รูปแบบการสร้างรายได้จากแอปพลิเคชั่นบนมือถือนั้น มี 5 วิธีหลัก ซึ่งได้แก่ การเก็บค่าโฆษณา การสร้างส่วนแบ่งรายได้ ฟรีเมี่ยม (ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรี แต่มีการคิดค่าบริการสำหรับฟังค์ชั่นที่ต้องการเพิ่มเติม) รายได้ที่มาจากการสร้างแอคเคาท์อย่างเป็นอย่างทางการ และ การเก็บค่าสมาชิก

นางสาวนีรนุช กนกวิไลรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโส ประจำไอดีซีประเทศไทย ซึ่งเป็นหัวหน้า คณะผู้จัดทำงานวิจัยชิ้นนี้ เปิดเผยว่า "รูปแบบการสร้างรายได้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน ไทย คือ การเก็บค่าโฆษณา แม้จะมีหลายบริษัทกำลังพิจารณาโอกาสจากรูปแบบการสร้าง รายได้แบบอื่นๆ อยู่ก็ตาม" โดยผู้พัฒนารายหลักที่มีรายได้จากการเก็บค่าโฆษณาที่อยู่บน แอปพลิเคชั่นบนมือถือมากที่สุด ในไทยได้แก่ Facebook Google และ LINE

มีเพียงไม่กี่ประเภทอุตสาหกรรมในไทย ที่ประสบผลสำเร็จจากการใช้แอปพลิเคชั่นบนมือถือเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภค งานวิจัยของไอดีซีได้ทำการศึกษากลยุทธ์การพัฒนาแอปพลิเคชั่นใน 13 ประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีแอปพลิเคชั่นให้ผู้ใช้งานได้ดาวน์โหลด หากแต่การใช้งานบนแอปพลิเคชั่นที่มาจากอุตสาหกรรมหลายประเภท อันได้แก่ สาธารณูปโภค สาธารณสุข ประกันภัย ด้านพลังงาน และ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ยังได้รับความนิยมจากผู้ใช้น้อยมาก ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการที่ผู้ใช้ไม่ทราบว่ามีแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ให้ดาวน์โหลด โดยนีรนุช ได้ให้ความคิดเห็นว่า "อุตสาหกรรมที่จะสามารถสร้างรายได้ที่สูง จากการให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ได้แก่ การเงินและธนาคาร ค้าปลีก สื่อประชาสัมพันธ์ และการสื่อสาร ซึ่งจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นบนมือถือที่มาจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 11-15% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า"

ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นในไทยต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น ความสำเร็จในตลาดแอปพลิเคชั่นของประเทศไทยนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสำเร็จของนักพัฒนาในประเทศ นักพัฒนาในประเทศส่วนใหญ่มักมีแนวความคิดว่าผลตอบแทนจากการพัฒนาแอปพลิเคชั่นอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ และไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ซึ่งหากเปลี่ยนแนวความคิด มาเป็นการพยายามสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการร่วมมือกันมากขึ้นและสร้างระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริมการระดมทุน สร้างคอนเทนต์ที่เป็นที่ดึงดูดผู้ใช้งานและเพิ่มเนื้อหาที่มีคุณภาพ ก็สามารถเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับนักพัฒนาจากต่างประเทศได้

นายจาริตร์ สิทธุ นักวิเคราะห์อาวุโส สายงานศึกษาตลาดไคลเอนต์ดีไวซ์ ประจำไอดีซีประเทศไทย ได้ชี้ว่า “ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของการขาดบุคลากรที่มีความสามารถ แต่เป็นการขาดความคิดสร้างสรรค์มากกว่า นักพัฒนาชาวไทยไม่ได้มีความสามารถน้อยกว่าชาติอื่น แถมยังเข้าใจว่าคนไทยชอบหรือไม่ชอบอะไรมากกว่าด้วยซ้ำไป ประเด็นสำคัญคือการเปลี่ยนข้อได้เปรียบของเราให้เป็นแอปพลิเคชั่นสัญชาติไทย ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้ดีกว่า และให้ประสบการณ์การใช้งานที่เหนือกว่าให้ได้”

ตลาดคอนเทนต์และแอปพลิเคชั่นในไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไอดีซีคาดการณ์ว่าปัจจัยที่ส่งเสริมให้ตลาดแอปพลิเคชั่นเติบโต ทั้งในแง่ของจำนวนการใช้งานและรายได้นั้น ได้แก่ ความนิยมในการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น การใช้งานโมบายบรอดแบนด์ที่สูงขึ้น การขยายเครือข่ายของ 3G และ 4G และรูปแบบการใช้ชีวิตที่พึ่งพาโทรศัพท์มือถือที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจาริตร์ได้เสริมว่า “เราคาดว่ายอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในปี 2558 นี้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 29% หรือมียอดจำหน่ายถึง 20 ล้านเครื่องได้ ซึ่งนี่จะทำให้จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 36 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ และ แน่นอนว่าเมื่อมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมากขึ้น ปริมาณการใช้งานแอปพลิเคชั่นก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นด้วย”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลหรือสั่งซื้อกรุณาติดต่อ คุณภาวดี พงษ์สุพรรณ ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส ไอดีซีประเทศไทย ที่หมายเลข +662-645-2370 ต่อ 503 หรือ [email protected] สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการสัมภาษณ์นักวิเคราะห์เพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คุณศศิธร แซ่เอี้ยว ที่หมายเลข +6681-921-5253 หรือ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4