รองนายกฯ ประจิน ยืนยัน กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมมือภาครัฐดำเนินการกับเว็บไซต์ไม่เหมาะสม 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (CSOC)

พฤหัส ๒๐ ตุลาคม ๒๐๑๖ ๑๓:๔๕
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ยืนยันกระทรวงดิจิทัลฯ ปกป้องสถาบันฯ เต็มที่ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง จัดการกับผู้กระทำความผิดกฎหมายกรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันและการยุยงปลุกปั่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ พร้อมตรวจสอบข้อมูลที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ยังได้ย้ำเดินหน้าโครงการขับเคลื่อนตามแผนฯ รวมทั้งผลักดันกฎหมายอีก 3 ฉบับให้แล้วเสร็จภายในธันวาคม 2559

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดท.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการติดตามและตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งภาครัฐ อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงฯ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง คือ กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) และทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยการใช้อำนาจตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 26/2557 ซึ่งให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เดิม) แต่งตั้งบุคคลเป็นคณะทำงานด้านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อตรวจสอบ ระงับ และใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันเกี่ยวเนื่องกับการปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนต่อต้านการปฏิบัติงานของ คสช. ในการดำเนินการ กรณีเป็นการละเมิดต่อสถาบันฯ หากเว็บดังกล่าวเข้าข่ายให้สามารถปิดได้ทันที

นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังมีศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ CSOC (Cyber Security Operation Center) ตั้งอยู่ที่อาคาร 9 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ ภายใต้การกำกับดูแลของกองป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) สำนักงานปลัดกระทรวงดีอี ผนวกการทำงานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ของ สตช. เพื่อคอยติดตาม เฝ้าระวัง ข้อความในสื่อออนไลน์ต่างๆ รวมถึงสื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีบุคลากรในการดำเนินงานร่วม 100 คน ซึ่งในการดำเนินการนั้นหากพบเห็นประเด็นไม่เหมาะสมที่กระทำภายในประเทศ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถประสานงาน เจรจา และดำเนินการปิดได้ทันที แต่ถ้าเป็นประเด็น ไม่เหมาะสมที่มีแหล่งข้อมูลจากต่างประเทศ กระทรวงดีอีได้ประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในการติดตามข้อมูล หากมีประเด็นเป็นเรื่องกฎหมาย กระทรวงฯ จะมีการประสานงานไปยังสถานทูตเพื่อเจรจาหารือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

"สำหรับในช่วงหลังจากวันที่ 14 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา พบว่า มีเว็บที่หมิ่นสถาบันฯ ประมาณ 50 - 60 ยูอาร์แอล (URL) และสามารถจับกุมได้บางส่วน ซึ่งเว็บดังกล่าวยังมีการกระจายไปในยูอาร์แอล อื่นอีก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเว็บเพจที่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ของต่างประเทศ ส่วนเว็บไซต์ที่เป็นเว็บของไทย กระทรวงฯ จะมีการตรวจสอบหากเข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคง และกรณีละเมิดต่อสถาบัน กระทรวงฯ สามารถใช้อำนาจกฎหมายตามประกาศของ คสช. ปิดเว็บที่ไม่เหมาะสมได้ทันที กรณีเว็บไซต์ที่พบว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ระบุความผิดเกี่ยวกับลามก อนาจาร หมิ่นสถาบัน ต้องมีการตรวจสอบเพื่อหาหลักฐาน โดยจะส่งเรื่องมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เพื่อตรวจสอบก่อนส่งเรื่องต่อไปยังศาลเพื่อขออำนาจศาล และแจ้งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการในต่างประเทศอย่างเต็มที่"

พล.อ.อ.ประจินฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "สำหรับการดำเนินงานนั้น เราจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ วงใน คือ ผู้ที่เริ่มต้นจัดทำและเผยแพร่เว็บไซต์ เราจะดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนวงกลาง คือ กลุ่มที่กดไลค์ กดแชร์ และ วงนอก คือ ผู้ชมทั่วไป ทั้งสองกลุ่มนี้เราจะทำความเข้าใจพร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่าตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดีดังกล่าว โดยขอให้หยุดดู หยุดไลค์ หยุดแชร์ เพราะอาจจะได้รับโทษทางกฎหมาย ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์"

นอกจากนั้นยังได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงดีอี และเร่งรัดการดำเนินงานสำคัญๆ เช่น การเพิ่มอัตรากำลัง การโอนงาน การโอนงบประมาณ รวมไปถึงการดำเนินงานด้านการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ตามแผนงานต่อไป ส่วนเรื่องร่างกฎหมายอีก 3 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นั้น จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมศกนี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้