นักลงทุนทั่วโลกห่วง “ภัยไซเบอร์” คุกคามการเติบโตของธุรกิจอันดับหนึ่ง

พุธ ๒๘ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๒:๒๖
PwC เผยนักลงทุนทั่วโลกห่วงความปลอดภัยทางไซเบอร์กระทบการเติบโตของธุรกิจเป็นภัยร้ายแรงอันดับแรก หลังกระแสของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตของบริษัทในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยสหรัฐอเมริกาและจีนยังคงครองตลาดที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจจะลงทุนเป็นอันดับต้นๆ พร้อมแนะผู้บริหารให้สื่อสารกับนลท. ถึงแผนการรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนในระยะยาว

นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ PwC 2018 Global Investor Survey ที่ทำการศึกษามุมมองของนักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวน 663 ราย จาก 96 ประเทศทั่วโลก และทำการเปรียบเทียบกับมุมมองของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,293 รายว่า การถูกโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber attack) ถือเป็นภัยคุกคามการดำเนินธุรกิจในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ โดย 41% ของนักลงทุนและนักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า นี่เป็นภัยคุกคามอันดับที่ 1 ของภาคธุรกิจ โดยปรับตัวขึ้นจากอันดับที่ 5 ในปี 2560 และใกล้เคียงกับมุมมองของซีอีโอทั่วโลก (40%) ที่มองว่า ภัยไซเบอร์เป็นภัยคุกคามอยู่ในลำดับที่ 3 รองจากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไป และปัญหาการก่อการร้าย ตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนถึง 64% เชื่อว่า ผู้นำธุรกิจต้องหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์เป็นภารกิจอันดับต้นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค (เทียบกับผู้นำธุรกิจทั่วโลกที่ 47%)

นอกเหนือจากภัยไซเบอร์แล้ว นักลงทุนยังได้แสดงความกังวลต่อปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง (39%) เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (37%) ประชานิยม (33%) และการคุ้มครองทางการค้า (32%)

นางสาว ฮิลลารี อีสต์แมน หัวหน้าสายงานบริหารความสัมพันธ์นักลงทุน ประจำ PwC โกลบอล กล่าวว่า

"ความกังวลอันดับต้นๆ ของนักลงทุนและซีอีโอโลก ชี้ให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย โดยดูจากปัจจัยภายในและภายนอก ประกอบกับประสบการณ์ที่ธุรกิจต้องพบเจอในแต่ละวัน เช่น ในขณะที่การเฟ้นหาพนักงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการขององค์กรถือเป็นความท้าทายของผู้บริหารในอันดับต้นๆ แต่ในมุมของนักลงทุน จะสนใจแนวโน้มของสังคมโดยรวม ที่มีผลกระทบต่อตัวธุรกิจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนทางการเมือง ประชานิยม และ การกีดกันทางการค้า"

ผลสำรวจยังพบว่า ทั้งนักลงทุนและซีอีโอทั่วโลกมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดย 54% ของนักลงทุนที่ทำการสำรวจ (เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน) เชื่อว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกจะมีการปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน ขณะที่ 57% ของซีอีโอก็แสดงความเชื่อมั่นเช่นกัน (เพิ่มขึ้น 19% จากปีก่อน)

อย่างไรก็ดี นักลงทุนมีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มการเติบโตของรายได้ของธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบกับซีอีโอทั่วโลก โดยมีนักลงทุนน้อยกว่า 1 ใน 4 หรือ 23% เท่านั้น ที่เชื่อมั่นมากว่า รายได้ของธุรกิจที่ตนลงทุนจะเติบโตในอีก 12 เดือนข้างหน้า เทียบกับความเชื่อมั่นของซีอีโอทั่วโลกที่ 42%

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น หรือ 20% ที่เชื่อมั่นว่า รายได้ของธุรกิจที่ตนลงทุนจะเติบโตในอีก 3 ปีข้างหน้า เปรียบเทียบกับซีอีโอทั่วโลกที่ 45%

ทั้งนี้ นักลงทุนยังมองว่า กระแสของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตของธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้ามากกว่าซีอีโอ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีการผลิตและบริการจากการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และ บล็อกเชน (85% ของนักลงทุน เทียบกับ 64% ของซีอีโอทั่วโลก) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป (81% ของนักลงทุน เทียบกับ 68% ของซีอีโอทั่วโลก) และการเปลี่ยนแปลงช่องทางการจัดจำหน่าย (76% ของนักลงทุน เทียบกับ 60% ของซีอีโอทั่วโลก) ขณะที่มากกว่า 1 ใน 4 หรือ 26% ยังเชื่อด้วยว่า การเข้ามาของเอไอจะส่งผลให้เกิดแผนการลดจำนวนพนักงานในวงกว้างกว่าปีก่อน

"นักลงทุนคาดว่า กระแสของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากกว่าซีอีโอ ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว ดังนั้น การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างบริษัทและนักลงทุน จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหานี้ โดยหากผู้บริหารสามารถแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า บริษัทมีการดำเนินการในการรับมือกับความท้าทายที่เข้ามา ก็จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนในระยะยาวได้" นางสาว อีสต์แมน กล่าว

เมื่อพิจารณา 5 อันดับตลาดที่น่าลงทุนและมีความสำคัญต่อการเติบโตในสายตาของนักลงทุนพบว่า สหรัฐอเมริกา (78%) สาธารณรัฐประชาชนจีน (65%) เยอรมนี (32%) สหราชอาณาจักร (21%) และอินเดีย (12%) นำหน้าตลาดอื่นในปีนี้ โดยช่องว่างความน่าสนใจระหว่างตลาดสหรัฐฯ และจีนนั้นค่อยๆ แคบลงเหลือ 13% ในปีนี้ เทียบกับ 23% ในปีก่อน

ในทางกลับกัน ช่องว่างระหว่างตลาดเยอรมนีกับอังกฤษนั้นเริ่มกว้างขึ้น สืบเนื่องจากทิศทางความไม่แน่นอนของผลกระทบจากการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ เบร็กซิท โดยผลสำรวจปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ตลาดอยู่ในระดับที่เท่ากันที่ 32% แต่มาปีนี้ นักลงทุนให้ความสนใจตลาดอังกฤษลดลง แต่อย่างไรก็ดี ทั้งเยอรมนีและอังกฤษยังสามารถรักษาอันดับ 1 ใน 5 ตลาดที่น่าลงทุนในปีนี้ไว้ได้ (ที่อันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ)

นอกเหนือจากนี้ ช่องว่างของความกังวลเกี่ยวกับความไว้วางใจในการทำธุรกิจที่ลดลง (Declining trust in business) ระหว่างนักลงทุนกับผู้บริหารยังกว้างขึ้นอย่างมีนัย โดยนักลงทุนที่ถูกสำรวจมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 36% แสดงความกังวลต่อความไว้วางใจในการทำธุรกิจที่ลดลงระหว่างลูกค้าและบริษัทเปรียบเทียบกับผู้นำธุรกิจที่ 18%

นักลงทุนส่วนใหญ่ หรือ 60% เชื่อว่า ธุรกิจต้องมีความโปร่งใสในเรื่องของผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งความไว้วางใจจากพนักงาน (เทียบกับ 51% ของซีอีโอ) ขณะที่ซีอีโอถึง 73% กลับรู้สึกว่า คุณค่าขององค์กร ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด (เทียบกับ 56% ของนักลงทุน)

นางสาว อีสต์แมน กล่าวเสริมว่า "ซีอีโอควรนำมุมมองของนักลงทุนมาพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์จากภายนอกว่า ควรมุ่งเน้นการทำธุรกิจในจุดใด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับกิจการ ผลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ มีความกังวลต่อความเสี่ยงที่มากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมากกว่าซีอีโอ นั่นแปลว่า การลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล และการฝึกอบรม จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริหาร หากต้องการเรียกความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจจากนักลงทุน"

นาย ศิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ปัจจัยที่นักลงทุนไทยส่วนใหญ่กังวลว่า จะกระทบการดำเนินธุรกิจนั้น ไม่แตกต่างกับนักลงทุนทั่วโลกมากนัก โดยความไม่แน่นอนทางการเมือง เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และภัยไซเบอร์ ยังคงเป็นความกังวลหลักที่นักลงทุนมองว่า จะกระทบการเติบโตของธุรกิจในระยะข้างหน้า หากไม่เร่งปรับตัว"

"นอกจากนี้ ภาคธุรกิจไทยเองจำเป็นจะต้องตื่นตัวในเรื่องของการกำกับดูแลความเสี่ยง และกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุมและรอบคอบ พร้อมทั้งศึกษา และลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรของตน ควบคู่ไปกับการมีมาตรการป้องกันภัยทางไซเบอร์ที่เข้มแข็งด้วยเช่นกัน"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๐ ก.แรงงาน เตือนประชาชนรอบโกดังกากของเสีย จ.ระยอง ปฏิบัติตามคำแนะนำ พร้อมกำชับดูแลความปลอดภัยของลูกจ้างแรงงาน
๐๙:๒๘ MSC ร่วมกับ AWS จัดงาน MSC x AWS ECO Connect
๐๙:๐๕ เอเอฟเอส ประเทศไทย ผนึกกำลังศิษย์เก่า แลกเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน
๐๙:๐๐ Synology ช่วยให้องค์กรต่างๆ นำแผนการกู้คืนข้อมูลจากแรนซัมแวร์ไปปรับใช้ได้อย่างไร
๐๙:๓๗ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ชวนคนกรุงฯ ค้นหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต กับกิจกรรม ธรรมะในสวน ห้วข้อ เข้าใจชีวิต พิชิตสุข ณ สวนเบญจกิติ 4 พฤษภาคม 2567
๐๙:๐๒ ฉางเจียงเปิดแฟชั่นโชว์ หลอมรวมวัฒนธรรมและงานศิลป์อวดสายตาชาวโลก
๐๙:๕๗ เจาะฟีเจอร์กล้อง 108MP ใน HUAWEI nova 12i สเปกเท่าเรือธงในงบต่ำหมื่น!
๐๘:๑๓ ม.หอการค้าไทย ลงนามความร่วมมือ กับ AIT
๐๘:๒๑ จับติ้วแบ่งสายสุดเดือด ศึกลูกหนังเยาวชน แอสเซทไวส์ สยามกีฬาคัพ 2024 เริ่มโม่แข้ง 23 เม.ย.นี้!!
๐๘:๔๐ The Winner of OpsSimCom 2024 by MIT Sloan is.THAMMASAT.!!