องค์กรยังขาดการป้องกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

พฤหัส ๓๑ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๒:๕๔
พีดับเบิ้ลยูซีคาดเม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนขั้นสูงและการเข้ารหัสเพิ่มขึ้นในปีนี้

- 51% ของผู้บริหารมีการจัดการในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานและลูกค้าอย่างถูกต้อง

- 53% ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบของบุคคลที่สามที่ทำหน้าที่จัดการข้อมูลลูกค้าและพนักงาน

- 48% บอกว่าการยืนยันตัวตนขั้นสูงช่วยลดจำนวนการฉ้อโกงและ 46% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในด้านนี้ในปีนี้

- 31% บอกว่าคณะกรรมการบริษัทมีส่วนร่วมโดยตรงในการทบทวนความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความเป็น

ส่วนตัว

- 32% ของผู้บริหารได้เริ่มกระบวนการการประเมินผลจีดีพีอาร์ไปแล้วตั้งแต่ปี 2560

PwC เผยหลายองค์กรทั่วโลกยังขาดการป้องกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าสังคมในวันนี้จะถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และความไว้วางใจที่เชื่อมโยงถึงกันและมีนัยสำคัญต่อกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจล่าสุด PwC's 2018 Global State of Information Security(R) Survey (GSISS) ที่ทำการสำรวจผู้บริหารระดับสูงทั้งฝ่ายธุรกิจและเทคโนโลยีจำนวน 9,500 คน ใน 122 ประเทศว่า ผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามน้อยกว่าครึ่ง หรือ 49% เท่านั้นบอกว่า องค์กรของตนมีการจำกัดการเก็บรวบรวมข้อมูล การรักษาข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเฉพาะเท่าที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีเพียง 51% ที่มีการจัดเก็บ รักษา และส่งผ่านข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและพนักงานอย่างถูกต้อง และ 53% ยังต้องฝึกอบรมพนักงานของตนเกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัวและแนวทางปฏิบัติ

รายงานของ PwC ระบุว่า ในส่วนของบุคคลที่สามที่ทำหน้าที่จัดการข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและพนักงานนั้น มีผู้บริหารเพียง 46% เท่านั้นที่ได้ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาเหล่านี้มีความสามารถในการปกป้องข้อมูลนั้นๆ ขณะที่ผู้บริหารในสัดส่วนเท่ากัน (46%) บอกว่า องค์กรของพวกเขากำหนดให้บุคคลที่สามต้องปฏิบัติตามนโยบายความเป็นส่วนตัว

นาย ชอน จอยซ์ หัวหน้าสายงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว ประจำ PwC สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า:

"การประยุกต์ใช้ข้อมูลในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้นได้เปิดประตูไปสู่ทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดยยังมีบริษัทน้อยรายที่สร้างระบบการบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวเพื่อเปลี่ยนถ่ายองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงที่พบมากที่สุด รวมไปถึงการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลและกิจกรรมการเก็บรักษาข้อมูล จะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนากรอบการใช้ข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาลขององค์กรได้"

ทั้งนี้ ข้อมูลจากผลสำรวจ GSISS ประจำปี 2561 พบว่า โดยรวมภาคธุรกิจในยุโรปและตะวันออกกลาง ยังมีคงความล้าหลังกว่าภาคธุรกิจในแถบเอเชีย อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ในเรื่องของการพัฒนากลยุทธ์ด้านความปลอดภัยข้อมูล และการปฏิบัติตามหลักการใช้ข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล (ดังตารางแสดงผลด้านล่าง)

การเดิมพันที่สูง และสิ่งที่ต้องปรับปรุง

ผู้บริหารระดับสูงต่างตระหนักถึงความเสี่ยงของความไม่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกครั้งที่ 21 ของ PwC ที่ผ่านมาพบว่า ภัยคุกคามไซเบอร์ ติดอันดับภัยคุกคามที่มีผลกระทบต่อการเติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 โดยซีอีโอที่ถูกสำรวจถึง 40% ในปีนี้บอกว่า พวกเขามีความกังวลต่อภัยอย่างมาก เปรียบเทียบกับ 25% ในปีก่อน

แม้ผลสำรวจจะพบข้อดีอยู่บ้าง ยกตัวอย่าง เช่น 87% ของซีอีโอทั่วโลกบอกว่า พวกเขากำลังลงทุนในเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์เพื่อสร้างความไว้วางใจกับลูกค้า และ 81% บอกว่า กำลังสร้างความโปร่งใสในการใช้และการจัดเก็บข้อมูล แต่ซีอีโอน้อยกว่าครึ่งหนึ่งยังบอกว่า กำลังดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ "เป็นส่วนใหญ่" และที่น่ากังวลมากไปกว่านั้นคือ น้อยกว่า 1 ใน 3 ของซีอีโอในแอฟริกา และเกือบ 1 ใน 4 ของซีอีโอในอเมริกาเหนือ (22%) บอกว่า พวกเขา "ไม่ได้มีการจัดการเพื่อสร้างความโปร่งใสในการใช้และการจัดเก็บข้อมูลเลย"

ความสำคัญของการสร้างความไว้วางใจ

ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำว่า บริษัทต่างๆ จะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างมีความรับผิดชอบ ยกตัวอย่าง เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีผู้บริโภคเพียง 25% เท่านั้นที่เชื่อว่า บริษัทส่วนใหญ่มีการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวอย่างมีความรับผิดชอบ (ข้อมูลจากผลสำรวจ Consumer Intelligence Series ของ PwC ในปี 2560)

PwC คาดว่า การปรับปรุงเทคโนโลยีในรูปแบบของการยืนยันตัวตน ซึ่งรวมไปถึงไบโอเมตริกซ์ หรือ เทคโนโลยีในการนำคุณลักษณะของบุคคลมาใช้เพื่อแยกแยะ หรือจดจำบุคคล และการเข้ารหัส จะช่วยให้ผู้นำทางธุรกิจสามารถสร้างเครือข่ายที่น่าไว้วางใจได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ครึ่งหนึ่งของผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามบอกว่า การใช้เทคโนโลยียืนยันตัวตนขั้นสูงช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจ ในเรื่องความสามารถในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลและความเป็นส่วนตัวขององค์กร นอกจากนี้ 48% ยังบอกด้วยว่า การยืนยันตัวตนก่อนเข้าระบบได้ช่วยลดจำนวนการฉ้อโกง และ 41% บอกว่า ช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า ผลสำรวจระบุว่า 46% ของผู้บริหารมีแผนที่จะลงทุนในเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์และการยืนยันตัวตนขั้นสูงในปีนี้

อย่างไรก็ดี การนำเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์มาใช้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการกำกับดูแลความเป็นส่วนตัวและความกังวลของสาธารณชนได้ ทั้งนี้เพราะบริษัทต้องติดตามข้อมูลทางชีวภาพเพื่อใช้เป็นการพิสูจน์ตัวบุคคล และด้วยการทำงานของระบบการยืนยันตัวตนที่อิงกับความรู้ของผู้เข้าใช้งานเป็นหลัก ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อผู้ใช้ใส่นามสกุลมารดาก่อนแต่งงาน ก็อาจทำให้องค์กรตกอยู่บนความเสี่ยงต่อการโจมตี หากมีการขโมยข้อมูลนั้น หรือเกิดการรั่วไหลจากการโจมตีแยกต่างหาก

นอกจากนี้ PwC ยังคาดว่า แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่ออุตสาหกรรมในการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อความปลอดภัย จะผลักดันให้เกิดการลงทุนในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น โดย 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มภาคการเงินบอกว่า พวกเขาวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในการเข้ารหัสในปีนี้

ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล: เรื่องสำคัญสำหรับคณะกรรมการบริษัท

น้อยกว่า 1 ใน 3 (31%) ของผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถาม GSISS ประจำปีนี้บอกว่า คณะกรรมการบริษัทของพวกเขามีส่วนร่วมโดยตรงในการทบทวนความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว และสำหรับองค์กรที่มีมูลค่ามากกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้ก็สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย (36%) เท่านั้น

นาย พอล โอโร๊ค หัวหน้าสายงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว ประจำ PwC เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า:

"ทุกองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ควรต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการบริษัทในด้านการกำกับดูแลภัยไซเบอร์และการบริหารความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวให้มากขึ้น เพราะหากกรรมการบริษัทยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเสี่ยง พวกเขาก็จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ"

มองจีดีพีอาร์และเอ็นไอเอสเป็นโอกาส

สำหรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (EU's General Data Protection Regulation: GDPR) ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 25 พฤษภาคม 2561 กับองค์กรใดๆ ที่ทำธุรกิจในสหภาพยุโรป ผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจ GSISS ประจำปีนี้จากทั่วโลกบอกว่า ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเวลา 1 ปีก่อนถึงวันครบกำหนดประกาศใช้ ทั้งนี้ 1 ใน 3 หรือ 32% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้เริ่มประเมินผลจีดีพีอาร์แล้ว ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทในเอเชียมีความตื่นตัวต่อประเด็นนี้สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ (37%)

นอกจากนี้ คำสั่งของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวกับความมั่นคงของระบบเครือข่ายและข้อมูล (The EU's Directive on Security of Network and Information Systems: NIS directive) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความสามารถในการเตรียมตัวและรองรับการโจมตีไซเบอร์ และมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้เช่นกัน ได้ส่งผลให้ธุรกิจที่ถูกระบุโดยประเทศสมาชิกให้เป็นผู้ประกอบการในการให้บริการที่จำเป็น (โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ) รวมทั้ง ผู้ให้บริการด้านดิจิทัล (เช่น โปรแกรมค้นหาข้อมูล การให้บริการระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง และตลาดออนไลน์) ต้องเผชิญกับข้อกำหนดใหม่ภายใต้คำสั่งเพื่อความปลอดภัย และการรายงานเหตุการณ์ต่อหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเช่นเดียวกับจีดีพีอาร์ บริษัทเหล่านี้อาจต้องเผชิญกับผลกระทบร้ายแรง หากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว

นาย แกรนท์ วอเตอร์ฟอล หัวหน้าสายงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว ประจำ PwC ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ได้กล่าวว่า:

"ซีอีโอไม่ควรมองว่าจีดีพีอาร์และเอ็นไอเอสเป็นเพียงแค่กฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามเท่านั้น แต่เป็นโอกาสเชิงกลยุทธ์ในการทำให้ธุรกิจเดินไปสู่ความสำเร็จในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ควรสร้างความสัมพันธ์และมีการสื่อสารที่ดีกับหน่วยงานกำกับดูแลถึงกฎระเบียบที่มีผลบังคับใช้"

ด้าน นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า:

"วันนี้ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่องค์กรทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยต้องมีการวางกลยุทธ์และแผนลงทุนเพื่อรองรับอย่างจริงจัง เพราะเมื่อเกิดการละเมิดข้อมูลขึ้น องค์กรนั้นๆ ไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญกับความสูญเสียทางการเงิน แต่ยังรวมถึงความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรด้วย ในทางกลับกัน องค์กรไหนที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันข้อมูล ก็จะสามารถสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้เกิดกับพนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ได้"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?