องค์กรธุรกิจในประเทศไทยเพิกเฉยต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์มากกว่าครึ่ง!

อังคาร ๒๘ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๒:๐๔
- บริษัทส่วนใหญ่ในไทยได้รับการแจ้งเตือนภัยคุกคามมากกว่า 5,000 ครั้งต่อวัน

- ในบรรดาบริษัทที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ในประเทศไทย 74 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าได้รับความเสียหายกว่าครึ่งล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 16 ล้านบาท

- ธุรกิจในประเทศไทยควรมีบุคลากรด้านซีเคียวริตี้ กระบวนการ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างเร่งด่วน

รายงานการศึกษาความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยในเอเชีย-แปซิฟิกประจำปี 2561 ของซิสโก้ (Cisco 2018 Asia Pacific Security Capabilities Benchmark Study) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวันนี้ ระบุว่าบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยกว่าครึ่งไม่ได้จัดการกับการแจ้งเตือนภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ได้รับทั้งๆ ที่เป็นการแจ้งเตือนที่ถูกต้อง

จากบริษัทที่ทำการสำรวจ 74 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าได้รับการแจ้งเตือนมากกว่า 5,000 ครั้งในแต่ละวัน ปัจจุบันจำนวนภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นความท้าทายที่แท้จริงจึงอยู่ที่ว่า "มีการดำเนินการอย่างไรหลังจากที่ได้รับการแจ้งเตือนภัยคุกคาม และมีการแจ้งเตือนภัยคุกคามจำนวนเท่าไรที่ได้รับการตรวจสอบอย่างแท้จริง"

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ในบรรดาการแจ้งเตือนภัยคุกคามที่ได้รับ โดยเฉลี่ยแล้วมีเพียง 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกตรวจสอบ และในบรรดาการแจ้งเตือนที่ถูกตรวจสอบ พบว่า 32 เปอร์เซ็นต์เป็นการแจ้งเตือนที่ถูกต้อง แต่กลับมีเพียง 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการดำเนินการและแก้ไขอย่างจริงจัง นั่นแสดงให้เห็นว่ายังต้องมีการปรับปรุงอีกมากเพื่อช่วยให้บริษัทต่างๆ รวมถึงบุคลากรด้านการรักษาความปลอดภัยในไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ผลการศึกษานี้เน้นย้ำถึงความท้าทายที่บริษัทต่างๆ ต้องเผชิญ โดย 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าองค์กรของตนประสบปัญหาการละเมิดระบบรักษาความปลอดภัยในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การโจมตีทางไซเบอร์ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางการเงินอย่างมากต่อบริษัทต่างๆ โดยในบรรดาบริษัทที่ถูกโจมตีเมื่อปีที่แล้ว 74 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าได้รับความเสียหายมูลค่ากว่า 16.5 ล้านบาท(ประมาณ 500,000 ดอลลาร์) ขณะที่ 8 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่ามูลค่าความเสียหายมีกว่า 5 ล้านดอลลาร์ หรือ 165 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น โดยความเสียหายที่ว่านี้ครอบคลุมถึง การสูญเสียรายได้ การสูญเสียลูกค้า และค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้น ฯลฯ

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีนของซิสโก้ กล่าวว่า "ปัจจุบัน การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของเทคโนโลยีในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศให้เติบโต ความสำเร็จของโมเดลการพัฒนาที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล (digital-led growth) นี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของประเทศไทยในการรับมือกับความท้าทายด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน หน่วยงานกำกับดูแล หรือสถาบันการศึกษา"

"บริษัทต่างๆ จำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมบุคลากร ระบบงาน และเทคโนโลยีไว้ให้พร้อม เพื่อให้สามารถระบุ สกัดกั้น และจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องกำหนดนโยบายและกฎหมายที่จะขัดขวางไม่ให้กลุ่มคนร้ายดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์ในประเทศไทย และสุดท้าย เราต้องการความช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่มีความรู้ความสามารถ" คุณวัตสันกล่าว

ภัยคุกคามทางไซเบอร์เริ่มพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มุ่งโจมตีเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IT Infrastructure) แต่ตอนนี้กลับพุ่งเป้าไปที่ "โครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินงาน" (Operational Infrastructure) ซึ่งสร้างความท้าทายเพิ่มมากขึ้นให้แก่บริษัทต่างๆ จากผลการสำรวจพบว่า 36 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองเคยพบการโจมตีทางไซเบอร์ต่อโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินงาน ขณะที่ 56 เปอร์เซ็นต์คาดว่าอาจจะมีการโจมตีที่คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นกับองค์กรของตนในหนึ่งปีข้างหน้า

เนื่องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มีขอบเขตกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ตอบแบบสอบถามคาดหมายว่าในหนึ่งปีข้างหน้า จะมีการพิจารณาทบทวนนโยบายด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวดมากขึ้นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าซึ่งต้องการตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลของตนได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ 76 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีการพิจารณาตรวจสอบจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ความกังวลใจเรื่องความเป็นส่วนตัวเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้ยอดขายของบริษัทชะลอตัวลง โดย 77 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าความกังวลใจดังกล่าวส่งผลให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป

มร. สตีเฟ่น เดน กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยของซิสโก้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน กล่าวว่า "ในเรื่องของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ การปกป้องเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานไอทีของบริษัทไม่ใช่มาตรการเพียงพออีกต่อไป เพราะทุกวันนี้คู่ค้า ลูกค้า และพนักงานคาดหวังว่าบริษัทจะปกป้องข้อมูลของพวกเขาให้ปลอดภัย ขณะที่กฎระเบียบที่เข้มงวดอย่างเช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation - GDPR) เริ่มมีผลบังคับใช้ บริษัทต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมนโยบาย เทคโนโลยี และทรัพยากรที่เหมาะสม ส่วนบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะต้องเสี่ยงต่อการถูกโทษปรับที่รุนแรงแล้ว ยังอาจสูญเสียความเชื่อมั่นของลูกค้าอีกด้วย"

การใช้ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตหลายรายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น โดย 51 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าองค์กรของตนทำงานร่วมกับบริษัทด้านซีเคียวริตี้มากกว่า 10 บริษัท ขณะที่ 65 เปอร์เซ็นต์ใช้ผลิตภัณฑ์หรือโซลูชั่นซีเคียวริตี้มากกว่า 10 อย่าง ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนและความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์ด้านการรักษาความปลอดภัยที่แตกต่างกันอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการตรวจจับและสกัดกั้นภัยคุกคามที่เล็ดลอดเข้ามา ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ กำลังประสบปัญหานี้ โดย 44 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าองค์กรของตนประสบปัญหาในการผนวกรวมการแจ้งเตือนเรื่องความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ของหลายๆ บริษัทเข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ มีการประมาณการว่า หากตรวจพบการละเมิดระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้เกือบจะทันทีภายในองค์กรขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจราว 433,000ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 14 ล้านบาท และ หากว่าตรวจพบล่าช้ากว่าหนึ่งสัปดาห์ ตัวเลขความเสียหายนี้ก็จะเพิ่มเป็นสามเท่า หรือประมาณ 1,204,000 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 40 ล้านบาท

คำแนะนำที่สำคัญ: รายงานผลการสำรวจนำเสนอคำแนะนำที่จะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถตรวจสอบสถานการณ์ภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยง และปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยให้ดีขึ้น รายงานดังกล่าวระบุว่าบริษัทต่างๆ ควรจะพิจารณาแนวทางต่อไปนี้:

เพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือต่างๆ และปรับใช้เครื่องมือรุ่นใหม่สำหรับการตรวจสอบในอุปกรณ์ต่างๆการเข้าถึงข้อมูลข่าวกรองที่แม่นยำและทันต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามต่างๆ โดยสามารถผนวกรวมข้อมูลดังกล่าวเข้าไว้ในกระบวนการตรวจสอบ และการจัดการเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยการติดตั้งเครื่องมือป้องกันที่เป็นปราการด่านแรก ซึ่งจะต้องสามารถปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น เช่น แพลตฟอร์มการรักษาความปลอดภัยบนระบบคลาวด์การแบ่งเซ็กเมนต์เครือข่ายเพื่อลดโอกาสในการแพร่หลายของภัยคุกคามมีการทบทวนและดำเนินการตามขั้นตอนการรับมือกับภัยคุกคามด้านความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับ ซิสโก้

ซิสโก้ (NASDAQ: CSCO) เป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีสร้างอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 บุคลากร ผลิตภัณฑ์ และ พันธมิตรของเรา ช่วยให้สังคมสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างปลอดภัย และได้รับโอกาสใหม่ๆที่เกิดจากดิจิทัล ท่านสามารถดูข่าวและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซิสโก้ได้ที่thenetwork.cisco.com และติดตามข่าวสารของซิสโก้บนทวิตเตอร์ที่ @Cisco

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้