เอ็นไอเอ ชี้ปี 62 ไทยต้องเป็นประเทศผู้คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมชู 7 ระบบนวัตกรรมที่ไทยต้องเร่งยกระดับ

อังคาร ๑๘ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๑๓:๔๓
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยแนวทางการพัฒนาประเทศไทยในปี 2562 ประเทศไทยต้องเป็นกลุ่มประเทศ ผู้ผลิตและคิดค้นเทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่กำหนดอนาคตของโลก ทางออกสู่การหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยต้องพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จำเป็น 7 ด้าน ได้แก่ สถาปัตยกรรมการเงินนวัตกรรม นวัตกรรมเพื่อสังคม งานแห่งนวัตกรรม ตลาดนวัตกรรมภาครัฐ นวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ นวัตกรรมเชิงพื้นที่ และการสร้างนวัตกรและวิสาหกิจฐานนวัตกรรม

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มต้นจากประเทศไทย 1.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งเกษตรกรรม ประเทศไทย 2.0 เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเบา ประเทศไทย 3.0 เริ่มพัฒนาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหนัก ในขณะที่โลกมีการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัว และทำให้ต้องเร่งก้าวเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มากขึ้น ทั้งนี้ นวัตกรรมอาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้อย่างที่เคยมาอีกต่อไป แต่หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้ด้วย แม้กระทั่งรูปแบบธุรกิจในประเทศไทยก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีเพียง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีวิสาหกิจเริ่มต้นหรือบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอีกด้วย

สำหรับการรับมือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น องค์กรหรือหน่วยธุรกิจต่างๆ ต้องสามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงเพื่อระบุโอกาสในอนาคตได้ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร โดยอาศัยการจัดการกระบวนการนวัตกรรม การสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมภายในองค์กร และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำนวัตกรรม รวมถึงการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอด้านนวัตกรรม เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งยังจะสามารถช่วยให้มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ การเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะ ในเชิงพาณิชย์และการยกระดับคุณภาพชีวิต

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า "ในส่วนของ NIA คาดการณ์ว่า นับจากนี้ไปความแตกต่างระหว่างระดับของเทคโนโลยี จะลดน้อยลงเรื่อยๆ จะมีเพียงสาขาเทคโนโลยีที่แตกต่างกันเท่านั้น แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาเล็กน้อยแต่ท้ายที่สุดแล้ววิทยาการในสาขาต่างๆ ล้วนจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมประยุกต์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้นี้ยังจะได้เห็นกลุ่มประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 3 ประเภท ได้แก่ 1.ประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 2.ประเทศที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี และ 3. ประเทศผู้ผลิตและคิดค้นเทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนว่าอนาคตของโลกจะขึ้นอยู่กับประเทศในกลุ่มที่ 3 คือผู้คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั่นเอง" โดยแนวทางการพัฒนาประเทศไทยในปี 2562 ประเทศไทยต้องเป็นกลุ่มประเทศ ผู้ผลิตและคิดค้นเทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่กำหนดอนาคตของโลก ทางออกสู่การหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ภายใต้การดำเนินงานของ NIA นอกจากจะพยายามส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการเทคโนโลยีรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมองว่ามีประเด็นที่จะผลักดันระบบนวัตกรรม 7 ประการที่สำคัญเพื่อตอบเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย

- นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social innovation) ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม เช่น การศึกษา สาธารณสุข ภาวะการมีงานทำ ฯลฯ

- งานแห่งนวัตกรรม (Innovation workforce) คือการพัฒนาศักยภาพกำลังคนเพื่อตอบสนองงานด้านตลาดนวัตกรรม ซึ่งจะเกิดรูปแบบงานใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย

- สถาปัตยกรรมการเงิน (Financial architecture) ระบบการเงินนวัตกรรมที่ครบวงจรและใช้งานได้จริง

- นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-base innovation) โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้เปลี่ยนแปลงจากการแข่งขันในระดับประเทศไปสู่ระดับภูมิภาค และในที่สุด ในระดับเมือง มีการวัดระดับความเป็นนวัตกรรม ในภูมิภาค และเมืองที่ดึงดูด นักนวัตกรรม หลายประเทศเริ่มออกแคมเปญดึงดูด นวัตกร ในระดับเมือง มีการสร้างพื้นที่ เชิงกายภาพ ให้ดึงดูดการใช้ชีวิตในเมือง และสร้างเป็นพื้นที่เพื่ออรรถประโยชน์ใหม่ๆ

- ตลาดนวัตกรรมภาครัฐ (Government market) โดยภาครัฐต้องเป็นผู้นำในการอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่พัฒนานวัตกรรม และนำมาใช้ในการบริการแก่สาธารณะ

- นวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (Mandatory innovation) เป็นการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่มีมายาวนาน เช่น ปัญหาในภาคเกษตรกรรม ความแห้งแล้ง ภัยพิบัติต่างๆ

- การสร้างนวัตกรและวิสาหกิจฐานนวัตกรรม (Innopreneurship & IDE) ซึ่งเป็นการสร้างผู้นำทางธุรกิจและกิจการ ที่เติบโตด้วยนวัตกรรมให้มีความเข้มแข็ง

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนาประเทศไทยเพื่อยกระดับนวัตกรรมนั้น การมีพันธมิตรที่มีศักยภาพถือเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ NIA ได้มีโครงการความร่วมมือกับหลายประเทศ รวมถึงประเทศที่มีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพอย่างอิสราเอล ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าเป็น INNOVATION NATION หรือชาติแห่งนวัตกรรม เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะที่มาจากความท้าทายจากวิกฤตการณ์รอบด้านที่อิสราเอลต้องเผชิญ โดย NIA ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ Israel Innovation Authority เมื่อช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา และได้มีการทำโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพร่วมกับบริษัทอิสราเอลเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพไทย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการได้ทำงานร่วมกัน และได้เห็นกระบวนการคิดของอิสราเอลผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ นี้ จะช่วยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นวัตกรรมของไทยให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้เช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ http://www.nia.or.th ,facebook.com/NIAThailand

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital