สืบสานการทำพระเครื่องนครชุม จากตำนานศักดิ์สิทธิ์สู่แหล่งเรียนรู้เพื่อคนรุ่นหลัง

ศุกร์ ๑๖ มีนาคม ๒๐๑๒ ๑๗:๓๘
เมืองกำแพงเพชรในยุคกรุงสุโขทัยช่วงรัชสมัยพระมหาธรรมราชที่ ๑ (ลิไท) ถือเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา ศิลปะและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เมืองนครชุมซึ่งเป็นหนึ่งในมหานครลุ่มน้ำปิงที่เจริญรุ่งเรืองสูงที่สุดร่วมสมัยเดียวกับ เมืองเชียงทอง เมืองคลองเมือง เมืองแปบ เมืองคณฑี เมืองเทพนคร และเมืองไตรตรึงษ์ พระยาลิไทได้ทรงสถาปนาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นอนุสรณ์อันแสดงถึงความรุ่งเรืองของเมืองนครชุมในช่วงยุคทองที่เจริญรุ่งเรืองนานกว่า ๒๐๐ ปี ดังที่ปรากฏความในศิลาจารึกหลักที่ ๘ (ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ) ซึ่งได้เรียกเมืองนครชุมว่า “นครพระชุม” ซึ่งอาจหมายความถึงเมืองอันเป็นที่รวมของพระหรือเมืองที่มีพระมากก็เป็นได้

พระมหาธาตุเจดีย์นครชุมในปัจจุบันเป็นเจดีย์แบบพม่าที่สร้างทับเจดีย์ของเดิมที่ทรุดโทรมและถูกทิ้งร้างนับร้อยปีจนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายร้อยปี ปรากฏว่ามีผู้ค้นพบกรุพระพิมพ์หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “พระเครื่อง” บริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ที่ถูกปล่อยให้รกร้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นจุดกำเนิดของกรุพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐี รวมถึงได้มีการพบตำนานการสร้างพระพิมพ์ซึ่งจารึกในแผ่นลานเงินรวมอยู่ในกรุที่ถูกค้นพบ ทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงตำนานความเป็นมาของพระเครื่องนครชุมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ด้วยเหตุนี้กำแพงเพชรจึงกลายเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง ซึ่งที่นี่มีกรุพระเครื่องทั้งที่ขุดค้นพบแล้วและยังไม่ได้ค้นพบอีกเป็นจำนวนมาก

กรุพระเครื่องที่มีชื่อเสียงของกำแพงเพชรได้แก่ กรุทุ่งเศรษฐี ซึ่งอยู่บริเวณตำบลคลองสวนหมากเดิมหรือตำบลนครชุมในปัจจุบัน โดยพระเครื่องที่พบที่กรุทุ่งเศรษฐีได้แก่ พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน และพระกำแพงพลูจีบ เป็นต้น โดยเฉพาะพระกำแพงซุ้มกอนั้น ถือเป็นชุดพระพิมพ์ที่มีชื่อเสียง ได้รับการยกย่องจากผู้คนในวงการพระเครื่องให้บรรจุรวมอยู่ในพระเครื่องชุดเบญจภาคี อันถือเป็นพระเครื่องห้าชนิดที่ถือเป็นสุดยอดในวงการพระเครื่องของไทย โดยมีตำนานกล่าวไว้ว่าผู้สร้างพระกำแพงซุ้มกอคือฤาษี ๓ องค์ ได้สร้างถวายแก่ พระยาศรีธรรมาโศกราชผู้ปกครองบ้านเมืองขณะนั้น (ประมาณปี พ.ศ.๑๙๐๐) โดยมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ว่าหากได้ครอบครองพระกำแพงซุ้มกอจะอยู่ยงคงกระพัน คุ้มกันอันตราย เมตตามหานิยมก้าวหน้ารุ่งเรือง และเจริญยิ่งด้วยโภคทรัพย์สมบัติ ทำให้พระกำแพงซุ้มกอมีราคาหาเช่าสูงสุดถึงองค์ละห้าสิบล้านบาททีเดียว

พระกำแพงซุ้มกอ(จำลอง) และพระกำแพงซุ้มระฆัง (จำลอง) ขนาดใหญ่ในพระราชนิพนธ์เสด็จประภาสต้นครั้งที่สองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้กล่าวถึงเมืองกำแพงเพชรไว้ว่า “ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้ ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น” อันแสดงให้เห็นว่า ชาวกำแพงเพชรได้มอบพระเครื่องให้แก่ญาติมิตรและผู้มาเยือนที่สนิทนับถือ จนถือเป็นขนบธรรมเนียมที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน แต่ทว่าพระพิมพ์โบราณนั้นนับวันก็มีแต่จะหมดสิ้นไปเรื่อยๆ อีกทั้งการขุดค้นโบราณสถานเพื่อค้นหากรุพระเครื่องโบราณนั้นก็ยังส่งผลให้โบราณสถานเกิดความเสียหาย ซึ่งจังหวัดกำแพงเพชรเองก็มีอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกอันทรงคุณค่าด้วย ในปัจจุบันจึงมีการริเริ่มสืบทอดวิธีการทำพระพิมพ์แบบโบราณขึ้นมาอีกครั้งโดยมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษา อนุรักษ์ และรักษาเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าของพระเครื่องกำแพงเอาไว้ และแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้การทำพระเครื่องโบราณที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของไทยก็อยู่ที่ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชรนี่เอง

ลุงสมหมาย ผู้สืบสานการทำพระแห่งนครชุม“แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม” ก่อตั้งโดย คุณลุงสมหมาย พยอม ชาวบ้านนครชุมซึ่งมีใจรักในพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ลุงสมหมายได้ศึกษาวิธีการทำพระเครื่องจากช่างพระเครื่องในจังหวัดกำแพงเพชร อาศัยประสบการณ์ลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จในการทำพระเครื่องจำลองแบบจากพระเครื่องโบราณดั้งเดิม จนในที่สุดก็ได้ก่อตั้งแหล่งการเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมขึ้นโดยได้รับงบประมาณจากโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน(SML) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่สนใจในเรื่องวิธีการทำพระเครื่อง โดยมิได้มุ่งหวังผลตอบแทนในเชิงการค้าหรือแสวงหากำไร

ซึ่งโดยปรกติถ้าหากไม่ใช่เซียนพระ การจะหาชมพระเครื่องนครชุมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะพระเครื่องนครชุมแท้ๆ นั้นนอกจากจะหายากแล้วยังมีความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นที่ต้องการของคนเล่นพระเป็นอย่างมาก แต่ที่นี่ก็มีการจำลองพระพิมพ์นครชุมรูปแบบต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนได้ศึกษาและมองเห็นความรุ่งเรืองและงดงามของนครชุมในอดีตที่ถูกถ่ายทอดผ่านการทำพระพิมพ์ ที่แต่เดิมนั้นไม่ได้ทำขึ้นเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แต่ทำขึ้นเพื่อให้คนได้ระลึกถึงความดีงามของพระพุทธศาสนา ซึ่งภายในแหล่งเรียนรู้ก็จะมีสมาชิกที่คอยสาธิตกระบวนการทำพระเครื่องในขั้นตอนต่างๆ ให้ผู้มาเยี่ยมเยือนได้ชมว่า กว่าจะมาเป็นพระพิมพ์ที่หรือพระเครื่องที่เรารู้จักนั้น ต้องผ่านกระบวนการใดมาบ้าง นอกจากก็จะได้เห็นพระเครื่องนครชุมที่หายากแล้ว หากมีเวลามากพอไม่รีบไปไหน ลุงสมหมายยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองทำพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อจะได้เรียนรู้และเข้าใจถึงกระบวนการทำพระเครื่อง และได้ของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์ติดไม้ติดมือเป็นของฝากกันด้วย

แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๐๖๖ หมู่ ๓ ซอยชากังราว ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โดยปรกติจะเปิดให้เข้าศึกษาดูงานเป็นหมู่คณะ โดยสามารถติดต่อคุณลุงสมหมายเพื่อขอนัดวันเวลาล่วงหน้าได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๙-๖๔๑-๒๕๔๓

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๐๘ 'AKS' เดินหน้าปรับพอร์ตสินเชื่อในบริษัทย่อย 'BYC' พร้อมดันมูลค่ากิจการทะลุ 400 ล้านบาท
๑๓:๔๑ ผถห.TPCH อนุมัติจ่ายปันผลปี 66 อัตรา 0.40 บ./หุ้น เตรียมรับทรัพย์ 20 พ.ค.67-มั่นใจผลงานปี 67 โตแกร่ง ลุยพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มอีก 4
๑๓:๒๖ เกมเศรษฐี 2: Meta World คว้ารางวัล 'The Most Popular Rising Game of The Year' จากงาน Thailand Social AIS Gaming Awards
๑๓:๑๗ ผู้ถือหุ้น AGE ไฟเขียวปันผล 0.20 บาท ฉลุย
๑๓:๒๙ ไทยเวียตเจ็ทเสนอ โปรส่งท้าย เที่ยวคลายร้อน ตั๋วเริ่มต้น 100 บาท
๑๓:๔๗ TERA เปิดเทรดวันแรกราคาพุ่งเหนือจอง 122.86 %
๑๓:๔๑ LINE TODAY ปักธง 'LIVE TODAY' ออนไลน์ไลฟ์แห่งชาติ เดินหน้าดันพันธมิตรโต ตอกย้ำกลยุทธ์สร้างอิมแพคให้ธุรกิจคอนเทนต์
๑๓:๒๐ Coach เปิดตัว The Coach Tabby Shop ลาน PARC PARAGON ต่อยอดกระเป๋ารุ่น Tabby Bag สู่การสร้างประสบการณ์ใหม่ที่เหนือความคาดหมาย
๑๓:๔๒ YLG ชี้ทองคำผันผวนระยะสั้นรับแรงขายทำกำไร หลังคลายกังวลเหตุปะทะตะวันออกกลาง ระยะสั้นแนะขาย ระยะยาวหาจังหวะเก็บรับเทรนด์ระยะยาว 2-3
๑๓:๒๒ สสวท. จับมือ องค์การค้าของ สกสค. อบรมครู สควค. สร้างพลังครูวิทย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ