“กรมโยธาธิการและผังเมือง” เร่งสร้างเขื่อนรับมือปัญหากัดเซาะ “อ่าวคุ้งกระเบน” ดันสู่พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ

จันทร์ ๒๗ มกราคม ๒๐๒๐ ๑๓:๔๙
กรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พื้นที่ชายฝั่งบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี หลังจากเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2559 มีกำหนดสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563 โดยการสร้างแบ่งเป็น 3 ระยะ มีความยาวของโครงการ 1,265 เมตร แบ่งเป็นระยะที่ 1 ความยาว 336 เมตร ระยะที่ 2 ความยาว 824 เมตร และระยะที่ 3 ความยาว 105 เมตร คาดสามารถเปิดใช้ได้ทันภายในปีนี้ เพื่อรองรับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของพื้นที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน
กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งสร้างเขื่อนรับมือปัญหากัดเซาะ อ่าวคุ้งกระเบน ดันสู่พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ

สำหรับพื้นที่ชายฝั่งบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญเนื่องจากได้เริ่มก่อตั้งตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพื้นที่ดำเนินการศึกษาสาธิตและการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล เพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสมและยั่งยืน

จากสถิติของการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งบริเวณพื้นที่แห่งนี้ ระหว่าง พ.ศ.2549 – 2554 พบพื้นที่ถูกกัดเซาะประมาณ 15,876 ตรางเมตร (ประมาณ 9.9 ไร่) บางช่วงมีอัตราการกัดเซาะสูงถึง 8.77 เมตรต่อปี แม้จะมีการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่แล้ว แต่ก็มีสภาพที่ชำรุดพบปัญหารอยแตกร้าวและพังทลายอยู่บ่อยครั้ง เพราะถูกสร้างมามากกว่า 10 ปีแล้ว ทำให้ต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซมเป็นประจำทุกปี อีกทั้งไม่สามารถที่จะป้องกันการชะล้างชายหาดลงไปได้

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ในปี พ.ศ. 2555 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหนังสือถึงสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจันทบุรี เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อก่อสร้างเขื่อนฯทดแทนของเดิมที่ชำรุดเสียหาย ก่อนจะมีการลงพื้นที่สำรวจออกแบบและจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากโครงการทุกภาคส่วน เพื่อนำความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการออกแบบและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากนั้นจึงมีการเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2559

สำหรับเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณนี้จะเป็น "เขื่อนประเภทบันไดคอนกรีต" ความยาว 1,265 เมตร เพื่อป้องกันทรัพย์สินของทางราชการไม่ให้ถูกคลื่นกัดเซาะจมหายไปในทะเล ลักษณะเขื่อนของโครงการ มี 2 รูปแบบ คือ 1.ลักษณะเป็นขั้นบันไดความลาดชัน 1:2 พร้อมถุงทรายวางซ้อนกัน 3 ชั้น วางเหนือกล่องกันทรายและโครงสร้างคานสำเร็จรูป โครงสร้างของสันเขื่อนประกอบด้วยพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หนา 0.15 เมตร กว้าง 4.0 เมตร และมีเก้าอี้คอนกรีตเพื่อป้องกันคลื่นกระเซ็นข้ามมาด้านหลังและใช้เป็นที่นั่งพักผ่อน ส่วนโครงสร้างด้านล่างเป็นเสาเข็มและถุงทราย 2. ลักษณะเป็นบล็อคสลายพลังงาน ความลาดชัน 1:2 โครงสร้างของสันเขื่อนและส่วนตีนเขื่อนเหมือนแบบที่หนึ่ง ในโครงการก่อสร้างทางลงเรือพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 5.0 เมตร ความลาดชัน 1:5 จำนวน 2 แห่งเมื่อก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จจะสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว เนื่องจากเขื่อนบันไดคอนกรีตที่ถูกสร้างขึ้นนั้นอาจจะไปกีดขวางการเคลื่อนที่ของตะกอนในแนวขนานชายฝั่งบ้าง จึงอาจส่งผลทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านตะวันออกติดกับจุดสิ้นสุดของเขื่อนบันไดคอนกรีตในอีก 25 ปีข้างหน้าทำให้พื้นที่ที่ติดกับจุดสิ้นสุดของเขื่อน จะถูกกัดเซาะลึกเข้าไปในแผ่นดินประมาณ 4 เมตร ระยะทางตามแนวชายฝั่งที่จะถูกกัดเซาะประมาณ 100 เมตร ส่วนบริเวณชายฝั่งที่ไกลออกไปนั้นจะไม่ได้รับผลกระทบ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้วางแผนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยจะมีการนำทรายมาเสริมในบริเวณที่ได้รับผลกระทบถูกกัดเซาะทุกปี เฉลี่ยประมาณ 80 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งแหล่งทรายที่จะนำมาใช้เสริมหาดดังกล่าวสามารถใช้ทรายที่ทับถมบริเวณท่าเทียบเรือที่อยู่ทางด้านตะวันออกของอ่าวได้ เนื่องจากทรายในบริเวณนั้นมีคุณสมบัติเหมือนกับทรายในพื้นที่โครงการเพราะเป็นทรายในอ่าวเดียวกัน

นอกจากเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่ถูกสร้างขึ้นจะสามารถป้องกันการชะล้างหรือแรงคลื่นที่ไปกัดเซาะชายหาดได้แล้ว เขื่อนแห่งนี้ยังตอบสนองความต้องการของชุมชนด้วยการใช้พื้นที่บริเวณเขื่อนเป็นลานสาธารณะ มีการออกแบบให้เป็นบันได้เพื่อให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำหรือเดินเล่นบริเวณชายหาดได้ พร้อมทั้งมีแนวคิดที่จะทำให้ตลอดระยะทางความยาวของเขื่อนระยะทางกว่า 1,265 เมตร กลายเป็นจุดเรียนรู้เชิงระบบนิเวศของนักท่องเที่ยว ทั้งพื้นที่สวนรุกชาติ, โรงเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล คาดว่าพื้นที่บริเวณนี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่และกลายเป็นแหล่งพักผ่อนของประชาชนที่อยู่ในจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียงในอนาคตด้วย

กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งสร้างเขื่อนรับมือปัญหากัดเซาะ อ่าวคุ้งกระเบน ดันสู่พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งสร้างเขื่อนรับมือปัญหากัดเซาะ อ่าวคุ้งกระเบน ดันสู่พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4