'ด่านซ้าย’ ผุด “แผนยุทธศาสตร์การจัดการลุ่มน้ำหมัน” จากงานวิจัย เพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ คาดจะเริ่มใช้เดือนตุลาคม 2561

ศุกร์ ๐๒ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๘ ๑๕:๕๗
โดย ฝ่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

น้ำ คือฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของทั้งคน สัตว์ และพืช เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นความต้องการใช้น้ำก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดการแย่งชิงการใช้น้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร ประกอบกับสภาวะโลกร้อนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำรุนแรง และจากผลงานวิจัยด้านการจัดการน้ำหลายสำนักต่างยืนยันตรงกันว่า ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ขาดประสิทธิภาพและการใช้น้ำที่เหมาะสม ทำให้นับวันวิกฤตการณ์น้ำและการจัดการน้ำจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

จากปัญหาการจัดการน้ำในระดับประเทศมีความสอดคล้องกับปัญหาท้องถิ่น ดังเช่นกรณีงานวิจัยโครงการแนวทางการจัดการลุ่มน้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยเครือข่ายทางสังคมเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เผยให้เห็นว่า ลุ่มน้ำหมันเป็นแม่น้ำสายหลักของชุมชนในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีความยาวเพียง 65 กิโลเมตรไหลจากเหนือจรดใต้ แต่จากสภาพภูมิประเทศที่สูงชันทำให้ทิศทางการไหลไม่แน่นอนมีผลต่ออุทกศาสตร์ของลำน้ำทั้งในด้านการรับน้ำฝน การไหลของน้ำ การเก็บกัก และการกัดเซาะดินจากกระแสน้ำทำให้เกิดความแตกต่างทางกายภาพส่งผลให้ลุ่มน้ำหมันต้องเผชิญทั้งน้ำท่วมและวิกฤติภัยแล้งในปีเดียวกัน จากการวิจัยพบว่าตลอดระยะความยาวของลุ่มน้ำหมันล้วนประสบปัญหาด้านการจัดการน้ำในมิติต่างๆ อาทิ ขาดเทคนิควิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขาดกรอบและทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำส่งผลให้เกิดวิกฤติการจัดการน้ำในพื้นที่ อีกทั้งพื้นที่ยังมีความแตกต่างกันในเชิงนิเวศสูง และความแตกต่างในเรื่องของการใช้ชีวิต นำมาสู่ความไม่เข้าใจเกิดความขัดแย้งระหว่างหมู่บ้านต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ผศ.ดร. เอกรินทร์ พึ่งประชา อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า อำเภอด่านซ้าย นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันในเชิงนิเวศ และการใช้ชีวิตของแต่ละชุนชนสูงแล้ว ยังเป็นพื้นที่วิกฤติเขาหัวโล้นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีความวิกฤติไม่ต่างจากจังหวัดน่าน ภาวะวิกฤติเขาหัวโล้นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในอำเภอด่านซ้ายอย่างมาก เพราะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนบนพื้นที่ราบลุ่มกับคนบนพื้นที่สูง เช่นกรณีหมู่บ้านนาเวียงใหญ่ และหมู่บ้านห้วยตาด ซึ่งในอดีตทั้ง 2 หมู่บ้านมีปัญหาขัดแย้งในเชิงสังคมสูง เนื่องจากคนในพื้นที่ราบลุ่มต้องประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำป่าไหลบ่า ดินสไลด์ และยังได้รับผลกระทบจากการทำการเกษตรของคนบนพื้นที่สูงที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูงมาก ทำให้ระบบนิเวศของคนบนพื้นที่ราบลุ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง รวมถึงแหล่งอาหารธรรมชาติของชุมชนหายไป เช่น พื้นที่ที่เคยเป็นวังปลาและปลาที่อยู่ในลุ่มน้ำหมันซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักหายไป กลายเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งและนำมาสู่โจทย์งานวิจัย

"จากจุดเริ่มต้นในพื้นที่วิจัย 2 หมู่บ้านดังกล่าวนำไปสู่โจทย์ที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากผลการวิจัยเบื้องต้นแม้จะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ก็พบว่าแนวทางการแก้ปัญหาของหมู่บ้านหนึ่งอาจไม่ใช่คำตอบของทุกหมู่บ้าน และการแก้ปัญหาไม่สามารถแก้เพียงหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง เพราะจะไม่สามารถฟื้นฟูผืนป่าทั้งระบบได้ จึงหันมาแก้ปัญหาทั้งระบบนิเวศของลุ่มน้ำเพราะการฟื้นฟูทรัพยากรอาหาร ดิน น้ำ ป่า ไม่สามารถพัฒนาแบบแยกส่วนหรือทำงานวิจัยเชิงเดี่ยวได้ ควรคิดในเชิงระบบทั้งระบบนิเวศ ชุมชน และสังคม เป็นที่มาของการจัดทำโครงการการจัดการลุ่มน้ำหมันทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยดึงหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาร่วมในฐานะนักวิจัย ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ทั้งชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เทศบาล อำเภอ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างลุ่มน้ำในการขับเคลื่อน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ของลุ่มน้ำหมัน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้การฟื้นฟูป่าและแหล่งต้นน้ำจึงไม่สามารถแยกออกจากคนได้ คนจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยครั้งนี้"

ผศ.ดร. เอกรินทร์ กล่าวว่า "ตลอดลุ่มน้ำหมันแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะในเชิงกายภาพ ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ละหมู่บ้านมีรูปแบบการทำเกษตรที่แตกต่างกัน การดำเนินงานวิจัยจึงต้องประเมินสถานการณ์ของแต่ละหมู่บ้านก่อนว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร อะไรคือปัญหา มีการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Action Research เพื่อต้องการรู้ความต้องการในการแก้ปัญหาของแต่ละหมู่บ้าน โดยการถอดบทเรียนเพื่อหาคำตอบของแต่ละหมู่บ้านว่าที่ผ่านมามีการจัดการน้ำอย่างไร มีการจัดการป่าอย่างไร และมีรูปแบบในการทำเกษตรอย่างไร เพื่อต้องการรู้ว่าเขาคิดและต้องการอะไร ปัญหาคืออะไร และทำไมถึงไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง จากนั้นจึงค่อยนำมาสู่การหาวิธีการแก้ปัญหา"

ผลการถอดบทเรียนทำให้พบว่า ในการพัฒนาใดๆนั้น หนึ่งจะต้องรับฟังเสียงชาวบ้านว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ทำจากมุมมองของภาครัฐหรือคนภายนอก เพราะนั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ เช่น การสร้างเขื่อนที่มักเกิดคำถามว่าสร้างทำไม ไม่คุยกับชาวบ้านก่อน ฝายก็เช่นกันสร้างแล้วการใช้งานมีประสิทธิภาพแค่ไหน เมื่อมีโครงการภาครัฐเข้าไปยังพื้นที่จึงควรจะต้องมีการประสานกันระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับองค์ความรู้ใหม่ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ของระบบสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่สามารถควบคุมได้และองค์ความรู้จำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์รูปแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำหรือการจัดการป่า ดังนั้นการสร้างความยืดหยุ่นให้กับชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ สองกระบวนการพัฒนาจะต้องเรียนรู้วิถีของชาวบ้าน และการแก้ปัญหาจะต้องไม่ได้เกิดจากพัฒนาในมิติเชิงเดี่ยว แต่ต้องใช้ความรู้ในการจัดการ ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เข้าใจฐานหรือวิถีชีวิตของชุมชน และการระดมความเห็น การรับฟังเสียงของชาวบ้านการเขาได้มีส่วนร่วมเหล่านี้เป็นการสร้างความรู้สึกความมีศักดิ์ศรีให้กับเขาด้วย

"จริงๆแล้วชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธกระบวนการพัฒนา แต่การพัฒนาอะไรในพื้นที่ต้องฟังเสียงชาวบ้าน ต้องเรียนรู้วิถีชีวิต และในฐานะเจ้าของพื้นที่ชาวบ้านจะต้องเกิดการตั้งคำถามก่อนที่จะปล่อยให้มีการเข้ามาสร้างหรือพัฒนาในสิ่งที่ชุมชนไม่ต้องการเพราะจะทำให้ระบบนิเวศหายไป เช่นเดียวกับงานวิจัยลุ่มน้ำหมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่เห็นชีวิตของผู้คนตรงนั้น "

ผศ.ดร. เอกรินทร์ กล่าวยอมรับว่า ผลการวิจัยแม้จะไม่สามารถหาคำตอบแบบเบ็ดเสร็จที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบให้ออกมาเหมือนกันทั้งหมดได้ เพราะได้ค้นพบแล้วว่าแนวทางในการแก้ปัญหาของแต่ละหมู่บ้านแตกต่างกัน แนวทางหนึ่งอาจไม่ใช่คำตอบของอีกหมู่บ้านหนึ่ง แต่สามารถเสนอแนวคิดให้กับท้องถิ่นได้ว่าจากการถอดบทเรียนแต่ละหมู่บ้านมีปัญหาอะไร มีวิธีคิดที่จะนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืนและให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ซึ่งต่อไปปัญหาการจัดการน้ำของอำเภอด่านซ้าย จำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องมาเรียนรู้ร่วมกันก่อนว่าชุมชนต้องการอะไร และควรทำอะไรก่อน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น นั่นคือ จะต้องมีกระบวนการวิจัยก่อนที่จะมีผลผลิต จึงไม่สามารถสร้างพิมพ์เขียว หรือ output ได้แบบเบ็ดเสร็จ แต่จะต้องใช้ความรู้หรืองานวิจัยเข้าไปช่วยในการพัฒนา

และจากการที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้เห็นควรให้นำผลงานวิจัยมาขยายผลและพัฒนาเรื่องการจัดการน้ำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในท้องถิ่น จึงได้จัดให้มีการประชุมระดมความเห็นการจัดการลุ่มน้ำหมันขึ้นเมื่อต้นปี 2560 ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย โดยมีภาคส่วนต่างๆเข้าร่วม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้จัดทำ "แผนยุทธศาสตร์การจัดการลุ่มน้ำหมัน"เร่งด่วน เพื่อให้การพัฒนาและบริหารจัดการทรัยพากรน้ำลุ่มน้ำหมันเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยทางอำเภอด่านซ้ายได้มอบหมายให้ ผศ.ดร. เอกรินทร์ นักวิจัย สกว.ดำเนินการจัดทำขึ้น ล่าสุดแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาเรียบร้อย คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคม 2561

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘:๒๐ DEK FILM SPU สุดเจ๋ง! คว้ารางวัลชนะเลิศ เด็นโซ่ Tiktok Contest
๐๘:๕๗ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ อัพสกิลเทคโนโลยีสำหรับผู้บริหารยุคดิจิทัล ณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
๐๘:๒๕ พีไวว์ คว้ารางวัล BUSINESS PRODUCT INNOVATION AWARDS 2024 ปีที่2
๐๘:๕๐ แอ็กซอลตา เปิดตัวผลิตภัณฑ์แห่งนวัตกรรม ซูเปอร์พาวเวอร์ เคลียร์ โครแมกซ์ 3060S เคลียร์ 2K ประสิทธิภาพสูงสุด เงาวับ
๐๘:๑๖ Zoom เปิดตัว Zoom Workplace แพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกันที่ขับเคลื่อนด้วย AI พร้อมใช้งานใน 36 ภาษาทั่วโลก
๐๙:๒๐ LINE STICKERS หนุนครีเอเตอร์ไทย โตก้าวกระโดดในงาน LINE CREATORS CONNECT DAY 2024 ชวนอัปสเกลเป็นสติกเกอร์ทางการ
๐๘:๕๔ แถลงข่าวเปิดค่ายเพลง WANLOVE MUSIC และ MARZY PROJECT ของนักธุรกิจสาย Creator ที่รับรองทำถึง ทำถูกต้อง!!
๐๘:๐๙ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ขอเชิญร่วมกิจกรรม 'Young เก๋า Young ไม่กลัวแก่#2 : สร้างสุขวัยเก๋า'
๐๘:๓๑ Camila Cabello คัมแบ็กในรอบปีปล่อยซิงเกิล I LUV IT พร้อมแท็กทีม Playboi Carti พาทุกคนเข้าสู่ Era ใหม่สุดแซ่บ
๐๘:๕๘ พาราไดซ์ พาร์ค ต้อนรับร้านตัดผมเด็ก Chic Kids Salon โดยช่างมากประสบการณ์