ปตท.สผ. เดินหน้าแผนงานแหล่งบงกช-เอราวัณ ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ประชาชน และการเติบโตของบริษัท

จันทร์ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๙ ๑๖:๑๕
บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ยืนยันความพร้อมที่จะสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณตามแผนงาน มั่นใจข้อเสนอตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจะมีราคาขายที่ถูกลงกว่าปัจจุบัน และบริษัทยังคงได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม เชื่อมั่นทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เปิดเผยภายหลังการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต แปลง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ และแปลง G2/61 หรือแหล่งบงกช เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จากนี้ไป ปตท.สผ. อีดี จะเดินหน้าตามแผนงานที่ได้เตรียมการไว้ โดยมีเป้าหมายหลักคือการรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจากทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ โดยในส่วนของแหล่งบงกชซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้วนั้น บริษัทสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องทันที ส่วนแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. อีดี จะดำเนินงานตามแผนงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการ (Transiton of Operations) โดยจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถเข้าดำเนินการและผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นพลังงานให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่องในปี 2565

"ปตท.สผ. เชื่อว่าความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นประโยชน์โดยตรงของประเทศและประชาชน โดยภาครัฐมีความมุ่งมั่นให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่ง ปตท.สผ. อีดี ได้เตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องนี้ไว้แล้ว และเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ดำเนินการปัจจุบันของแหล่งเอราวัณ เพื่อให้การผลิตก๊าซฯ ในอนาคตให้กับประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นเช่นเดียวกับที่ผู้ดำเนินการปัจจุบันของแหล่งเอราวัณได้ปฏิบัติภารกิจนี้ได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด" นายพงศธร กล่าว

ลงทุน 1 ล้านล้านบาท รักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่ง

สำหรับแผนการดำเนินงานทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณตามข้อเสนอสัญญาฯ ที่จะรักษาระดับการผลิตก๊าซฯ ตั้งแต่ปี 2565 ไปจนถึงตลอดช่วงอายุสัญญาฯ ไม่น้อยกว่า 700 และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับนั้น ปตท.สผ. อีดี วางแผนที่จะลงทุนอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท สำหรับการพัฒนาแหล่ง เช่น เจาะหลุมสำรวจและหลุมผลิต การก่อสร้างแท่นผลิตเพิ่มเติม

"ในฐานะที่ ปตท.สผ. เป็นบริษัทไทย เรามีพันธกิจที่ต้องแสวงหาพลังงานเพื่อประเทศไทยและคนไทย ทั้งนี้ การผลิตก๊าซในอ่าวไทยหลังจากปี 2565 เป็นต้นไป เกือบร้อยละ 80 จะมาจากการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งหมายถึงเราจะกลายเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งถือว่าเราได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่มีการจัดตั้ง ปตท.สผ. ขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ" นายพงศธร กล่าว

ในด้านของแผนทรัพยากรบุคคล ปตท.สผ. อีดี ยินดีต้อนรับเพื่อนพนักงานทุกคนที่พร้อมจะร่วมสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินการของแหล่งเอราวัณ และร่วมสานต่อในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับแผนทรัพยากรบุคคลแหล่งเอราวัณได้ภายในปีนี้

ข้อเสนอตามสัญญาฯ เป็นประโยชน์กับทั้งภาครัฐ ประชาชน และบริษัท

นายพงศธร กล่าวถึงข้อเสนอที่ ปตท.สผ. อีดี ยื่นต่อรัฐฯ ในการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณว่าค่าคงที่ราคาก๊าซ* (Price constant) ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งได้เสนอไปนั้น บริษัทมั่นใจว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน รวมทั้ง ปตท.สผ. เองที่ยังคงได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ ปตท.สผ. อีดี สามารถเสนอค่าคงที่ราคาก๊าซที่ต่ำลงนั้น เนื่องมาจากการเป็นผู้ดำเนินการทั้งแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ จะทำให้บริษัทมีปริมาณการผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผลตอบแทนจากขายก๊าซฯ เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน สามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตก๊าซฯ ให้ลดลงได้จากการผสานประโยชน์ (Synergy) ในการดำเนินการทั้ง 2 แหล่งร่วมกัน เช่น ค่าบริหารจัดการส่วนกลาง, ค่าเจาะหลุม ค่าแท่นหลุมผลิต ค่าใช้จ่ายของระบบโลจิสติกส์ และการจัดหาสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนได้ประมาณร้อยละ 20 - 25

"เราได้ทำการวิเคราะห์อย่างรอบคอบในทุกด้านแล้ว และมั่นใจว่าข้อเสนอที่ได้ยื่นเสนอต่อภาครัฐในการประมูลนั้น มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะราคาขายก๊าซที่ลดลง จะส่งผลให้ไฟฟ้าซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตมีราคาถูกลงด้วย ในขณะเดียวกัน ปตท.สผ. เองยังสามารถเติบโตได้เช่นเดียวกัน" นายพงศธร กล่าว

สำหรับการดำเนินการในแหล่งเอราวัณ ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น ปตท.สผ. ได้ร่วมทุนกับ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ ส่วนแหล่งบงกช ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการเอง ด้วยสัดส่วนการลงทุน 100%

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4