วสท.ตรวจวิเคราะห์อาคารเพลิงไหม้ราชเทวี อพาร์ทเม้นท์ เตรียมจัดสัมมนาลดความเสี่ยงอัคคีภัยแก่เจ้าของอาคาร ในวันที่ 10 เม.ย.2561 ที่ วสท.

พฤหัส ๐๕ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๕:๑๗
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. พร้อมด้วย คุณพิชญะ จันทรานุวัฒน์ เลขาธิการ และคุณบุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมความปลอดภัยด้านอัคคีภัย วสท.และผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ตรวจสอบวิเคราะห์อาคารเพลิงไหม้ราชเทวี อพาร์ทเม้นท์ ซอยเพชรบุรี 18 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ จากเหตุไฟไหม้เกิดเวลาประมาณ 02.00 น.ของคืนวันที่ 3 เม.ย.2561 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ใช้เวลานานกว่า 4ชั่วโมงในการควบคุมเพลิง และช่วยชีวิตผู้พักอาศัยลงมาจากอาคาร จนกระทั่ง 07.00 น.จึงควบคุมเพลิงไว้ได้ มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ราย โดยเสียชีวิตในอาคาร 1 ราย และที่โรงพยาบาล 2 ราย

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า อาคารอพาร์ทเม้นท์ดังกล่าวเป็นอาคารสูง 14 ชั้น แต่ละชั้นมี 12 ห้อง และมีผู้พักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นอาคารที่ก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2530 ก่อนมี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 จึงยังไม่มีการติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง(Sprinkler) จากการตรวจสอบโครงสร้างเบื้องต้นยังแข็งแรง ความเสียหายเกิดขึ้นช่วงพื้นผิวอาคาร อาคารมีบันไดหนีไฟแต่เป็นลักษณะบันไดลิง มีอุปกรณ์ดับเพลิง การก่อสร้างมีระยะห่างและระยะร่นถูกต้อง แต่ซอยค่อนข้างแคบทำให้การเข้าไปช่วยเหลือค่อนข้างลำบาก ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ทีมผู้เชี่ยวชาญจะตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง หลังจากนี้จะประสานกับผู้เกี่ยวข้องถึงมาตรการการติดตั้งจุดจ่ายน้ำดับเพลิงฉุกเฉิน

จากการเข้าตรวจสอบภายในอาคาร คาดว่าต้นเพลิงมาจากช่องชาฟต์ (ช่องรวมระบบท่อและสายไฟแนวดิ่ง) ต่ำกว่าชั้น 5 สาเหตุอาจมาจากสายไฟเก่าเกิดช็อตและเป็นประกายไฟลุกลามไปทั่วอาคาร มีควันจำนวนมากปรากฎที่ชั้น 6 และไฟไหม้อย่างรุนแรงที่ช่องชาฟต์ ประจำชั้น 8-11 ผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุอยู่ในห้องชั้น 12 ซึ่งควันออกมาจากช่องชาฟต์พอดี และพบที่นอนใยมะพร้าวซึ่งถูกไฟไหม้ในช่องชาฟต์ชั้น12 และถูกดึงออกมา ส่วนชั้น 14 สายไฟละลายเป็นจำนวนมาก แต่โครงสร้างหลักของอาคารยังไม่เสียหายมากนัก สามารถซ่อมแซมและเปิดใช้งานต่อได้ แต่ต้องตรวจสอบโครงสร้างรองอีกที เพราะเหล็กบางส่วนโดนความร้อน ทำให้พื้นโก่งตัว ซึ่งก็ต้องใช้วุฒิวิศวกร มาตรวจอย่างละเอียด ใช้เวลา 1-2 เดือน แล้วอาคารต้องปรับปรุงให้แล้วเสร็จ ทำเรื่องไปยังเจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาต จึงจะสามารถเปิดใช้งานได้

ด้าน นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ เลขาธิการ วสท.กล่าวว่า สำหรับช่องชาฟต์ (ช่องรวมระบบท่อและสายไฟแนวดิ่ง) ที่ปลอดภัยนั้นควรจะต้องมีการปิดช่องว่างให้หมดด้วยวัสดุที่กันไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ให้มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับคุณสมบัติของพื้นอาคาร การมีรูหรือช่องว่าง ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วเป็นลักษณะตัววี ตรงนี้เองทำให้มีผู้เสียชีวิต เพราะพอควันไฟโผล่มาช่องชาฟต์ของแต่ละชั้น ทำให้ควันลามไปทั่ว คนที่จะหนีเจอควันจำนวนมากก็สู้ไม่ไหว ต้องหนีกลับไปที่ห้องตัวเอง อีกทั้งสายไฟที่ร้อนและเสื่อมทำให้เกิดประกายไฟในช่องชาฟต์ หากมีช่องว่างในชั้น ทำให้ควบคุมเพลิงได้ยาก จึงขอให้ทุกอาคารตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยด้วย

นางสาวบุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมความปลอดภัยด้านอัคคีภัย วสท.ได้เสนอแนะอาคารเก่าที่เป็นอาคารสูง และสร้างก่อน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ฉบับที่ 33 ปี พ.ศ.2535 ควรปรับปรุงโดย 1.ลดความเสี่ยงอัคคีภัย ได้แก่ ต้องสำรวจสภาพระบบไฟฟ้าอาคารและปรับปรุงให้อยู่ในสภาพปกติ รวมทั้งไม่เก็บวัสดุสิ่งของที่ติดไฟได้ในห้องระบบไฟฟ้า หรือในช่องท่องานระบบ ไม่สะสมวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงในอาคารจำนวนมาก 2. อาคารต้องมีระบบความปลอดภัยอัคคีภัย ได้แก่ มีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่สามารถทำงานได้อัตโนมัติแจ้งเตือนเมื่อเกิดเพลิงไหม้เพื่อให้ผู้ใช้อาคารสามารถอพยพได้อย่างรวดเร็ว,ต้องปิดช่องเปิดในแนวดิ่งซึ่งเป็นช่องท่องานระบบต่างๆจะต้องมีการปิดป้องกันไฟลาม ป้องกันควันไหลในแนวดิ่งและแพร่กระจายไปในชั้นอื่นของอาคาร,อาคารต้องมีบันไดหนีไฟที่สามารถป้องกันไฟและควันได้ให้ผู้ใช้อาคารอพยพออกทางบันไดนี้ได้ โดยบันไดต้องเชื่อมต่อตั้งแต่ดาดฟ้าจนถึงจุดปล่อยออกนอกอาคาร เป็นบันไดที่ออกได้สะดวกไม่ใช่บันไดแนวดิ่งหรือบันไดลิง, มีไฟแสงสว่างฉุกเฉินและป้ายทางออกหนีไฟ ที่แสดงทางออกได้ชัดเจนเมื่อเกิดเพลิงไหม้, มีแผนผังทางหนีไฟที่ติดแสดง ในอาคาร ให้ทราบถึงตำแหน่งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยแล้วทางหนีไฟในแต่ละชั้น,มีการซ้อมแผนฉุกเฉินอัคคีภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง, มีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายและมีแผนในการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความปลอดภัย

สำหรับอาคารที่สร้างหลัง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ฉบับที่ 33 ปี พ.ศ.2535 วสท. มีข้อแนะนำแก่เจ้าของ "อาคารทั่วไป และอาคารชุมนุมคน" โดยเจ้าของอาคารควรให้ความสำคัญและตรวจสอบระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัย ในอาคารทั่วไป รวมทั้งอาคารที่ใช้เพื่อการชุมนุมคน เช่น หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ห้องแถว ตึกแถว บ้านแฝด อาคารที่อยู่อาศัยรวม หรืออพาร์ตเมนต์ที่มากกว่า 4 ยูนิตขึ้นไป ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากอัคคีภัย โดยมีสิ่งจำเป็นต้องรู้และเข้าใจเกี่ยวกับระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัยใน "อาคารทั่วไป" คือ 1.) ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ควรติดตั้งในห้องแถวหรือตึกแถวที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 ยูนิต แต่ถ้าสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป ต้องติดตั้งทุกชั้นในแต่ละยูนิต และอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร ต้องติดตั้งในทุกชั้นของอาคาร 2.) ส่วนประกอบของระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ 2 ชุด อุปกรณ์แจ้งเหตุมีทั้งแบบแจ้งเหตุอัตโนมัติ (Detector) และอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ (Manual Alarm) เพื่อให้อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทำงาน ส่วนอุปกรณ์อีกตัวชุดหนึ่งคือ อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินหรือทราบอย่างทั่วถึงเมื่อเกิดไฟไหม้

3.) การติดตั้งถังดับเพลิงแบบมือถือ ห้องแถวหรือตึกแถวที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 ยูนิต ส่วนอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะอื่นๆ ต้องติดตั้งในแต่ละชั้นอย่างน้อย 1 เครื่องต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ซึ่งแต่ละเครื่องต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นง่ายสะดวกต่อการดูแลรักษา 4.) ป้ายบอกชั้นและทางหนีไฟ ป้ายบอกตำแหน่งชั้นและทางหนีไฟพร้อมไฟฉุกเฉิน ต้องติดตั้งทุกชั้นของอาคารโดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป อาคารอยู่อาศัยรวมที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไปและอาคารอื่นๆที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร 5.) ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรอง อาคารสาธารณะที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบไฟฟ้าสำรอง เช่น แบตเตอรี่ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่ระบบไฟฟ้าปกติขัดข้องและต้องสามารถจ่ายไฟในกรณีฉุกเฉินได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะจุดที่มีเครื่องหมายทางออกฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ ทางเดินและระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ 6.) บันไดหนีไฟ อาคารที่สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคารที่สูง 3 ชั้นและมีพื้นที่ดาดฟ้าเกิน 16 ตารางเมตร ต้องมีบันไดหนีไฟที่ปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อย 1 บันไดนอกเหนือจากบันไดหลัก ถ้าเป็นอาคารที่สูงตั้งแต่ 23 เมตรต้องมีบันไดหนีไฟที่ปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อย 2 บันไดที่ต่อเนื่องจากชั้นดาดฟ้าถึงจุดปล่อยออกนอกอาคาร

สำหรับ "อาคารสูง" จะต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย เพื่อความปลอดภัย ดังนี้ 1) ระบบการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่ทำงานได้อย่างอัตโนมัติและสามารถแจ้งเตือนภัยให้ได้ทราบอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ของอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารประเภทที่อยู่อาศัย ลักษณะการใช้อาคารจะเป็นที่พักผ่อนหลับนอน จะต้องมีอุปกรณ์ที่ทำงานได้รวดเร็ว สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยปลุกคนได้ในขณะหลับ 2) ทางเลือกในการอพยพหนีไฟ หมายถึงต้องมีบันไดหนีไฟอย่างน้อยสองบันได 3) มีป้ายทางหนีไฟที่บอกทางออกหนีไฟให้เห็นชัดเจน 4) มีไฟแสงสว่างฉุกเฉินที่ส่องสว่างในเส้นทางหนีไฟไปตลอดทางกระทั่งออกนอกอาคารโดยสมรรถนะต้องส่องสว่างได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง 5) อาคารสูงต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง(Sprinkler) ติดตั้งครอบคลุมทุกพื้นที่ของอาคาร มีระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง(Fire Pump)ที่ได้มาตรฐาน มีวาล์วและสายฉีดน้ำดับเพลิงที่สามารถลากไปได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของอาคาร 6) มีอุปกรณ์ดับเพลิงขั้นต้นหรือถังดับเพลิงติดตั้งในทุกชั้นของอาคาร ระยะจากจุดใดๆไปถึงอุปกรณ์ไม่เกินมาตรฐาน 7) บันไดหนีไฟต้องมีระบบป้องกันควันไฟที่ได้มาตรฐาน 8) ต้องมีลิฟต์ดับเพลิง 9) ต้องมีระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อจ่ายไฟให้กับระบบความปลอดภัยของอาคารอย่างน้อยสองชั่วโมง 10) ต้องมีแผนผังทางหนีไฟและตำแหน่งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยติดแสดงให้เห็นชัดเจนในทุกชั้นของอาคาร 11) อาคารจะต้องมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ระบบความปลอดภัยอัคคีภัย มีการตรวจสอบ ทดสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และสิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ต้องดำเนินการคือ 12) อาคารต้องมีแผนฉุกเฉินอัคคีภัย มีการอบรมดับเพลิงขั้นต้น มีการซ้อมอพยพหนีไฟเป็นประจำทุกปี มีการประเมินเส้นทางเข้าถึงของรถดับเพลิง ซึ่งการอบรมดับเพลิงขั้นต้นและการซ้อมอพยพหนีไฟนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรต้องเรียนรู้ เพื่อจะได้มีความมั่นใจในการระงับเหตุขั้นต้นได้ สามารถอพยพออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น 13)การควบคุมวัสดุในอาคาร ทั้งวัสดุตกแต่งภายในและภายนอกอาคาร ควรพิจารณาในเรื่องชนิดและปริมาณเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มเติมเข้าในอาคาร ต้องควบคุมวัสดุประเภทโฟมและพลาสติก ซึ่งติดไฟง่าย

ทั้งนี้ วสท.เตรียมจัดสัมมนาให้ความรู้แก่เจ้าของอาคารเก่า –ใหม่ โรงแรม นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักบริหารอาคาร และผู้สนใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายต่อย่างใด ในวันที่ 10 เมษายน 2561 เวลา 9.00 -16.00 น ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคาร วสท. ซอยรามคำแหง 39 ทั้งนี้เพื่อร่วมสร้างสรรค์ความปลอดภัยแก่ประชาชน นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4