PwC เผย ‘กฎระเบียบ–การเมือง’ ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจแบงก์ปี 57

พฤหัส ๑๒ มิถุนายน ๒๐๑๔ ๑๔:๐๒
PwC เผยผลสำรวจความเสี่ยงอุตสาหกรรมกลุ่มแบงก์ทั่วโลกปี 57 พบการออกกฏระเบียบข้อบังคับที่มากเกินไป และการแทรกแซงของมาตรการภาครัฐฯ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจธนาคารทั่วโลกมากที่สุด เหตุส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานและการทำกำไรของแบงก์ ขณะที่ความกังวลเรื่องภัยไซเบอร์หนุนความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีพุ่งทั่วโลก ด้านนายแบงก์ทวีปเอเชียแปซิฟิกเห็นต่าง ยกให้สภาวะทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่ง ชี้เศรษฐกิจและการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงแบงก์ไทยปีนี้ แต่เชื่อครึ่งปีหลังผลงานเริ่มฟื้นตัว หลังการเมืองเห็นทิศ เศรษฐกิจเดินหน้า ดันยอดปล่อยสินเชื่อเติบโต

นาย บุญเลิศ กมลชนกกุล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงานธุรกิจการเงินและการธนาคาร บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เปิดเผยถึง ผลสำรวจ Banking Banana Skins 2014 ที่ทาง PwC ร่วมกับ The Centre for the Study of Financial Innovation (CSFI) จัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยทำการสำรวจความคิดเห็นนายธนาคาร ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน และผู้ที่อยู่ในแวดวงภาคธุรกิจธนาคารจำนวน 656 รายใน 59 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ว่า การออกกฎระเบียบที่มากเกินไป (Overregulation) และการแทรกแซงทางการเมือง (Political interference) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการประกอบธุรกิจธนาคารมากที่สุดในปีนี้ จากจำนวนความเสี่ยงทั้งหมด 28 ประเภทที่ทำการสำรวจ

“การออกกฏระเบียบข้อบังคับที่มากเกินไป กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่ออุตสาหกรรมแบงก์ที่รุนแรงที่สุดในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ เพราะสร้างภาระให้แบงก์เป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ต้องแบกรับผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงาน และความยุ่งยากซับซ้อนในการต้องปฏิบัติตาม (Compliance) เท่านั้น แต่ยังรวมถึง ความสามารถในการทำกำไร และโอกาสการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆที่ลดลง เพราะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น” นาย บุญเลิศ กล่าว

นอกจากนี้ การแทรกแซงทางการเมือง สืบเนื่องจากการดำเนินมาตรการของรัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพ เปลี่ยนแปลง หรือจัดระเบียบระบบสถาบันการเงิน อาจสร้างข้อจำกัดในการดำเนินงานให้แก่แบงก์ และทำให้ตลาดเกิดการบิดเบือนอย่างไม่ตั้งใจอีกด้วย

ทั้งนี้ การแทรกแซงทางการเมืองมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การปรับโครงสร้างระบบธนาคาร เช่น การล้อมรั้วกิจกรรมทางการเงินที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ (Ring-Fencing) โดยแยกกิจกรรมของสถาบันการเงิน ที่การบริการมีความจำเป็นชนิดที่เศรษฐกิจและประชาชนทั่วไปจะขาดเสียมิได้ ให้อยู่ภายใต้การดูแลของทางการอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะไม่ต้องใช้เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น โดยทางภาครัฐจะกำกับดูแลสถาบันการเงินในส่วนที่อยู่ใน Ring-Fencing อย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้มีความเสียหายเกิดขึ้น ทำให้ธนาคารขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแทรกแซงในรูปแบบอื่น เช่น การบังคับภาษีภาคธนาคาร การตั้งเกณฑ์ด้านฐานทุนและสภาพคล่อง การแทรกแซงการตั้งราคา และการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงจากการประพฤติมิชอบ (Malpractice) ซึ่งเป็นความกังวลนี้พบมากในกลุ่มผู้ถูกสำรวจแถบยุโรป ที่มีการออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากทั้งในระดับสหภาพยุโรป และระดับประเทศหลังเผชิญกับภาวะวิกฤติหนี้ในช่วงก่อนหน้านี้

นายบุญเลิศ กล่าวต่อว่า แม้ภาคธุรกิจธนาคารจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในปีนี้ แต่ผลสำรวจระบุว่า แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมแบงก์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยความกังวลต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเริ่มลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีสะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มการประกอบธุรกิจของภาคธนาคารและสถาบันการเงินเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าความมั่นใจต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะเริ่มสดใสขึ้น ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับความพร้อมของเงินทุน สภาพคล่อง คุณภาพสินเชื่อและผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ เริ่มลดลง แต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเจริญเติบโตในระยะยาว รวมถึงผลกระทบของการลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Tapering of quantitative easing) ของธนาคารกลางสหรัฐที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลก

เอเชียแปซิฟิกชูภาวะเศรษฐกิจความเสี่ยงอันดับ 1 ของแบงก์

นายบุญเลิศกล่าวว่า ผลสำรวจปัจจัยเสี่ยงของภาคธนาคารในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกนั้นมีความแตกต่างกันออกไป เมื่อมองปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความกังวลให้กับอุตสาหกรรมแบงก์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลับแตกต่างกับฝั่งตะวันตก โดยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ฯลฯ ต่างเห็นตรงกันว่า ปัจจัยเสี่ยงของธนาคารในภูมิภาคนี้คือ สภาวะเศรษฐกิจมหภาค (Macro-economic environment) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลาง รวมถึง การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น-ลงอย่างหวือหวา นอกจากนี้ เอเชียแปซิฟิกยังถือเป็นภูมิภาคเดียวที่ปัญหาการรักษาและดึงดูดทรัพยากรบุคคลหรือทาเลนต์เป็น 1 ใน 10 ปัจจัยเสี่ยงที่ภาคธนาคารกังวลมากที่สุด

“ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ของแบงก์ในเอเชียแปซิฟิกของภาคธุรกิจธนาคารในปีนี้ (และอันดับ 3 ของโลก) คือ การฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอน การก่อหนี้ที่เกินตัวของภาครัฐและเอกชนในบางประเทศ และปัญหาหนี้สาธารณะของแต่ละประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดปัญหาดังกล่าวมากที่สุด” นาย บุญเลิศกล่าว

อย่างไรก็ดี ผลจากการสำรวจที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Technology risk) ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 18 เมื่อปี 2555 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 ในปีนี้ สืบเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับอาชญากรรมทางการเงินผ่านระบบเครือข่ายโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ หรือ ไซเบอร์คราม ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งของภาคธุรกิจธนาคารในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึง ความเสี่ยงจากการใช้ระบบงานหลังบ้าน (Back office system) ที่ล้าสมัย ไม่ได้รับการปรับปรุง หรือลงทุนเพิ่ม และความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (Reputational risk) จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมออนไลน์ (Social media)

เศรษฐกิจ–การเมือง ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจแบงก์ของไทย

เมื่อมองปัจจัยเสี่ยงของภาคธุรกิจธนาคารของไทยนั้น นายบุญเลิศกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจและความไม่สงบทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของภาคธุรกิจธนาคารในประเทศ สังเกตได้จากผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกค่อนข้างชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีการระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลงมา

นายบุญเลิศกล่าวทิ้งท้ายว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กำหนดทิศทางของการดำเนินธุรกิจธนาคารต่อไป แต่ประเมินว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์โดยรวมในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกที่มองไม่เห็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต เนื่องจากปัจจุบันแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความชัดเจน ประกอบกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้า ขณะที่ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น จะช่วยสนับสนุนให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่สิ่งที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือคุณภาพสินทรัพย์ในระบบธนาคาร เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก เริ่มส่งสัญญาณการปรับตัวลดลง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๒๙ ไทยพาณิชย์ ตอกย้ำกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch เปิดตัว โปรจีน อาฒยา นักกอล์ฟหญิงระดับโลก เป็น Brand
๑๔:๓๐ KCG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 พร้อมอนุมัติจ่ายปันผล 0.30 บาทต่อหุ้น
๑๔:๔๙ บาฟส์ ประกาศความสำเร็จ ลุยขยายโครงข่ายขนส่งน้ำมันทางท่อ เชื่อมต่อเครือข่ายพลังงานทั่วไทย
๑๔:๓๙ บีโอไอจับมือพันธมิตร จัดงาน SUBCON Thailand 2024
๑๔:๐๘ Finnomena Funds มองสงครามคลายกังวล เป็นโอกาส Buy the Dip แนะจังหวะสะสม กองทุนหุ้นเวียดนาม ดาวเด่น
๑๔:๕๔ กลุ่ม KTIS คว้า 3 รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่นและอ้อยรักษ์โลก ประจำปี 2566
๑๔:๒๒ AKP จัดประชุมผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567
๑๔:๕๒ บัญชี ttb all free พร้อมดูแลต่อหลังสงกรานต์ มอบสิทธิ์ประกันอุบัติเหตุฟรีให้คนไทย ไม่มีวันจบ
๑๔:๕๘ SINO จัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567
๑๓:๑๘ เรียน ONLINE- เรียนลัดคัดหุ้นเด็ด ฉบับปรับปรุงใหม่ (CC01)