สพฉ.แจง กรณีรถฉุกเฉินไม่สามารถเข้าไปรับผู้ป่วยในสนามบินดอนเมืองได้ ระบุเป็นมาตรฐานสากลที่ให้สนามบิน รถไฟใต้ดินเป็นพื้นที่ปลอดภัยพิเศษ พร้อมระบุไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเตรียมหารือพื้นที่พิเศษ สนามบิน รถไฟใต้ดิน การทางพิเศษ ให้เชื่อมกับระบบ

จันทร์ ๑๖ กันยายน ๒๐๑๙ ๐๙:๒๖
กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพพร้อมเล่าเรื่องราวเพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีที่คุณพ่อป่วยฉุกเฉิน แต่รถ 1669 ไม่สามารถเข้ามารับที่สนามบินดอนเมืองได้ เพราะสนามบินเป็นเขตต้องห้าม พอให้รถโรงพยาบาลในสนามบินไปส่ง ก็ส่งให้แค่รัศมี 8 กิโลเมตร สุดท้ายพ่อลำไส้ปริแตก ทำให้เสียโอกาสการใช้สิทธิ UCEP ที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมง ทำให้ทางครอบครัวไม่สามารถเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้ ล่าสุด เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า อยากให้พี่น้องประชาชนให้เข้าใจ การทำงานในพื้นที่พิเศษ อย่างเช่น สนามบิน รถไฟใต้ดิน ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของของสถานที่นั้นๆ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้มีข้อจำกัดการเข้าการออก สำหรับกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ขอเรียนว่า ทางสนามบินเอง ก็มีทีมแพทย์ฉุกเฉินอยู่ตลอดเวลา อย่างในสนามบินดอนเมือง เข้าใจว่าอยู่ในรูปแบบของคลินิก ที่ทำการรักษาในเบื้องต้น แต่ในส่วนของเรื่องการผ่าตัดอาจไม่มีขีดความสามารถ จึงจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง เช่น โรงพยาบาลภูมิพล

"กรณีของผู้ที่ร้องเรียนเข้ามานั้น เข้าใจว่า ผู้ร้องเรียนไม่ทราบเบอร์ฉุกเฉินของสนามบิน คงจำได้เฉพาะเบอร์โทร 1669 จึงโทรมาเบอร์นี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่พื้นที่พิเศษ โดยเฉพาะสนามบินมีข้อจำกัดเรื่องความปลอดภัยอยู่ ตรงนี้ ควรประสานไปยังทีมแพทย์ของสนามบินนั้นๆ เพื่อทำการรักษา หรือ ส่งต่อผู้ป่วยจะดีที่สุด อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ สพฉ.เองไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่อไปจะมีการพูดคุยกับสนามบินต่างๆ รวมทั้งพื้นที่พิเศษอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน การทางพิเศษว่าเราจะเชื่อมต่อกันอย่างไร หรืออาจจัดตั้ง หน่วยปฏิบัติการฉึกเฉินเชื่อมต่อกับระบบ 1669 อยู่ในทุกสนามบินเลย ตรงนี้เราก็จะมีการพูดคุยเพื่อพัฒนาต่อไป "

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวด้วยว่า กรณีที่ผู้ร้องเรียนระบุ เสียโอกาสใช้สิทธิ UCEP ขอเรียนว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้น บิดาของผู้ร้องเรียนเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ หากคัดแยกประเภท ก็จะเข้าการเจ็บป่วยแบบเร่งด่วน ไม่ใช่การเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่อาจทำให้เสียชีวิตในทันที ทั้งนี้สพฉ.จะทำการตรวจสอบอีกครั้ง ว่าเข้าเกณฑ์ หรือไม่ และยินดีเป็นหน่วยงานกลางในการทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายยืนยันว่า ประชาชนคนไทยทุกคน มีสิทธิในการใช้ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่า รักษาพยาบาล ภายใน 72 ชั่วโมง ที่ไม่ต้องจ่าย เพราะมี การคุ้มครองจากกองทุนต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ถ้าโรงพยาบาลรัฐ ก็จะมีทุกกองทุนจ่ายอยู่แล้ว แต่โรงพยาบาลเอกชน กองทุนจะจ่ายเฉพาะฉุกเฉินวิกฤติ ถ้าไม่เข้าฉุกเฉินวิกฤติ ต้องสำรองจ่ายไปก่อน และขอเบิกกับกองทุนในภายหลังได้ กรณีจะเข้าเกณฑ์ หรือไม่เข้าเกณฑ์ทางโรงพยาบาลเอกชน จะส่งเรื่องมายังสพฉ. จากนั้นไม่เกิน 1 ชั่วโมง ก็จะรู้ทันทีว่าเข้าเกณฑ์ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หรือไม่อย่างไร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest