มรภ.สวนสุนันทา ติดจรวดความรู้ผู้ประกอบการ SME เปิดประตู...สู่โลกตลาดออนไลน์

อังคาร ๒๔ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๖:๑๖
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดสัมมนาในหัวข้อ SME Online Success Case Sharing & Learning หนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จของผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME ปี 2562 หรือโครงการ SME Online ปีที่ 3 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งร่วมกับ 5 องค์กรหน่วยร่วมเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศให้สามารถนำสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการ เรียกได้ว่าเป็นโครงการติดจรวดความรู้ให้กับผู้ประกอบการ SME ไทยเพื่อเปิดประตูสู่โลกของตลาดออนไลน์ ที่วันนี้ใครๆ ก็พลาดไม่ได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามกระแสของเทคโนโลยี ส่งผลให้ตลาดเดิมๆเงียบเหงา ขณะที่มูลค่าทางตลาดออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซเพิ่มสูงทุกวัน

อาจารย์ยงยุทธ เจริญรัตน์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า มรภ.สวนสุนันทา ได้รับมอบหมายจากสสว. ให้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาด SME ในเขตภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 28 จังหวัด โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ SME สามารถใช้ช่องทางตลาดออนไลน์ในการขยายตลาดและการขายสินค้า เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าของตลาดอีคอมเมิร์ซเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

"สำหรับการดำเนินโครงการ ช่วงแรกได้เปิดอบรมหลักสูตรตลาดดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ SME โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง การทำการตลาด และวิธีการเปิดร้านค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee, เทพ shop สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ขายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊กอยู่แล้ว โดยโครงการจะให้คำแนะนำต่อยอดเกี่ยวกับเทคนิคในการใช้เฟซบุ๊กเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การเข้าถึงลูกค้า และการใช้เครื่องมืออื่นๆ ของโซเชียลมีเดียยอดนิยม เช่น ไลน์ ยูทูป ให้มีประสิทธิภาพ โดยเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังได้การให้คำปรึกษาเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง สามารถใช้สื่อออนไลน์ได้คล่องแคล่ว โดยเพิ่มเติมเทคนิคขั้นสูง เช่น วิธีการซื้อและจัดการด้านการโฆษณา การวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า การเจาะกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่ม SME ที่มีศักยภาพสูง"

โดยผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการในกลุ่มแรกนี้ มีตัวแทนมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้อย่างน่าสนใจภายในงานสัมมนา SME Online Success Case Sharing & Learning ครั้งนี้ด้วย ได้แก่

นายไผ่พงศ์ พรหมจันทร์ (คุณไผ่) เจ้าของกิจการ TK2Go ขายชุดเทควันโด จากจังหวัดอุบลราชธานีคุณไผ่เล่าว่า เริ่มต้นจากทำยิมเทควันโด พร้อมขายชุดเทควันโดให้กับเด็กๆที่มาเรียน เพราะหน้าร้านเป็นจุดรับส่งสินค้า และมีบริการส่งสินค้าโดยการขายกล่องบรรจุภัณฑ์ จึงเกิดไอเดียการขายชุดเทควันโดออนไลน์ และ กล่องที่สามารถบรรจุภัณฑ์ ต่อมาเริ่มเห็นว่าชุดเทควันโดมือสองจากเกาหลีมีคุณภาพดี ราคาถูกและเป็นที่สนใจของลูกค้ามากกว่า จึงนำชุดเทควันโดมือสองเข้ามาบุกตลาดออนไลน์ เริ่มจากทำคนเดียวมา 3-5 ปีขายได้เฉลี่ย 5 ออเดอร์/วัน จนปี 2561 ธุรกิจเริ่มดีเขาเริ่มไปเรียนกับเอกชนเพื่อศึกษาการทำตลาดออนไลน์จริงจัง มีการจ้างลูกน้อง เพิ่มสต๊อค ถ่ายรูปสินค้าจัดทำแคตตาล็อค ซึ่งไผ่บอกว่าเขาเป็นร้านขายชุดเทควันโดร้านเดียวที่มีแคตตาล็อคสินค้าให้เลือก ขณะธุรกิจกำลังรุ่ง เขาทำอินตาแกรม โพสต์ไอจี มีเฟสบุ๊กและไลน์แอดเป็นช่องทางขายหลัก ช่วงโปรโมชั่นสำคัญๆ อย่างวันแม่สามารถดึงลูกค้าเข้ามากกว่า 20,000 คนด้วยกลยุทธ์สามารถ แต่การทำตลาดออนไลน์ไผ่บอกว่า หยุดนิ่งไม่ได้คนขายต้องมั่นเรียนรู้และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

"ผมเริ่มมองเห็นปัญหาของไลน์แอด ว่าจะมีการเปลี่ยนราคา เลยขอให้โครงการ SME Online เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยน ช่วง 12.8 วันแม่ปีนี้พอดีปรากฏว่าร้านพังครับ ลูกค้าเข้าร้านไม่ถูก ร้านเราขายไม่ได้เลยในวันแม่ที่ผ่านมา แต่จากความกล้าทำกล้าเปลี่ยนทำให้ 9.9 เราผ่านมาได้อย่างดีเยี่ยม ผมอยู่อุบลราชธานี บ้านแม่ผมน้ำท่วมต้องให้ลูกน้องไปช่วยขนของ ขณะที่เราปล่อยโปรโมชั่นสำหรับวันที่ 9 เดือน 9 ไปแล้ว มีผมกับแอดมินทำงานกันอยู่ 2 คนแต่เราประสบความสำเร็จมาก ระบบแชทบอท เปลี่ยนสภาพเราไปอย่างสิ้นเชิง แคตตาล็อคเทพ shop ทำให้ลูกค้าสะดวกดูแล้วจับภาพส่งให้แอดมินๆ ทำงานง่ายขึ้นเร็วขึ้น ตอบจนจบได้ ก่อนนี้ผมต้องใช้แอดมิน3-4 คนในวันโปรโมชั่น และใช้เวลาอีก 2 วันเคลียร์โปรโมชั่นจบ แต่จาก 9.9 ที่ผ่านมาธุรกิจผมจบภายในหนึ่งวันกับแอดมินคนเดียวเลยครับ โครงการฯ ได้พลิกโฉมร้านเราครั้งยิ่งใหญ่เลยครับ" นอกจากนี้คุณไผ่ยังบอกด้วยว่า เขาประทับใจมากกับโครงการ เพราะทำมาคนเดียวมา 4-5 ปี แต่วันนี้เขารู้ว่าไม่ได้ทำคนเดียวแต่มีคนที่พร้อมให้คำปรึกษาเขาได้ตลอดเวลา และวันนี้เขาก็พร้อมแชร์ประสบการณ์ดีๆให้กับเพื่อนพี่น้องในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน ซึ่งเป็นการสร้างพลังจากกลุ่มเล็กๆเพื่อเป้าหมายในวันข้างหน้าของพวกเขา

เช่นเดียวกับนางสาวกาญจนา สีดาเพ็ง หรือตุ้ม ทายาทเจ้าของธุรกิจ "ต่ายมะพร้าวแก้ว" โอทอปขึ้นชื่อของจังหวัดเลย ครอบครัวทำขายหน้าร้านมา 20 กว่าปี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวที่มาชมแก่งคุดคู้ เพราะมีมะพร้าวแก้วกว่า 50 ร้านการแข่งขันจึงสูง และขายได้เฉพาะหน้าท่องเที่ยว ตุ้มซึ่งรักการขายออนไลน์ตั้งแต่สมัยเรียนเห็นปัญหาการขายหน้าร้านมาตลอด วันหนึ่งจึงหยิบมะพร้าวแก้วเข้ามาตลาดออนไลน์ ขายแบบสไตล์ของเธอซึ่งใช้มือถือเป็นเครื่องมือหลัก จนเรียนจบทำงานด้านที่เรียนมาสักพักและก็เริ่มเห็นโอกาสการขายออนไลน์มากขึ้น จนได้มาเข้าโครงการ SME Online สิ่งแรกที่ทำคือ การซื้อโน๊ตบุ๊ค มาเป็นเครื่องมือในการทำตลาดออนไลน์

" อาจารย์ในโครงการฯ แนะนำว่าถ้าจะทำเป็นอาชีพจริงจัง ควรซื้อโน๊ตบุ๊คเพราะสามารถทำระบบต่างๆ ได้ด้วย จากปัญหาการซื้อโฆษณาจากมือถือซึ่งไม่มีการตั้งค่าเวลาและทวีปทำให้ได้ผลบ้างไม่ได้บ้าง กับระบบออเดอร์ที่ผิดพลาดบ่อยครั้ง หลังจากเข้าโครงการและกลับมาทำด้วยโน๊คบุ๊คสร้างระบบหลังบ้าน ทำเว็บไซต์ ตอนนี้ยอดขายเราดีขึ้น ออเดอร์ไม่ตกหล่น สามารถเช็คสต๊อคได้ ติดตามเลขพัสดุได้ และไม่ต้องนั่งจดออเดอร์ ที่อยู่ลูกค้าใส่กระดาษอีกแล้ว

ทางโครงการฯแนะนำให้ทำคอนเทนต์ ถ่ายภาพสินค้าอย่างไรให้โดดเด่น และก็มีออกบูธในงานต่างๆ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ตอนนี้นอกจากขายออนไลน์ที่มีลูกค้าจากต่างประเทศติดต่อเข้ามา ด้วยความที่สินค้าเราเป็นขนมก็เน้นขยายทางออฟไลน์ด้วยซึ่งทางโครงการฯ ได้คำแนะนำตลอด รู้สึกไม่โดดเดียวคนเดียวอีกแล้วค่ะ"ที่สำคัญเธอบอกว่า ทุกเช้าที่ได้ติดเสียงโทรศัพท์เด้งๆ หมายถึงมียอดเงินโอนเข้ามา โดยที่ไม่ต้องไปยืนขายอยู่หน้าร้าน เป็นสิ่งที่เธอมีความสุขมาก เพราะการขายออนไลน์ขายได้ทุกวันและตลอดเวลาโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ

สุดท้ายนายโฆษิต สุอุตะ เจ้าของบริษัท โคเนเจอร์ จำกัด ธุรกิจเครื่องสำอางค์แบรนด์ dungjaiskincare ประสบความสำเร็จในการใช้ sale page ผลิตภัณฑ์เด่น set รักษาสิว เป็นคนหนึ่งที่เข้าโครงการเพราะเคยทำธุรกิจขายออนไลน์มาอย่างโชกโชน ประสบความสำเร็จจนรู้สึกว่าออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยาก จนวันที่เปลี่ยนจากสินค้าแฟชั่นมาเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม ทำให้ความรู้เรื่องการขายออนไลน์บนเฟสบุ๊คที่เคยทำมาแทบใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย การเข้าร่วมโครงการทำให้เขาได้รู้จักกับเครื่องมือที่ชื่อ sale page เรียนรู้การสร้างคอนเทนต์นำการขาย ซึ่งผลสะท้อนกลับมาได้ผลกว่าการตะโกนขายสินค้าอย่างเดียวมากมาย

สำหรับการดำเนินโครงการฯ ตลอด 6–7 เดือนที่ผ่านมา ผู้จัดการโครงการฯ เปิดเผยว่า แบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการระดับเริ่มต้น อบรมตั้งแต่เปิดร้านค้าออนไลน์ ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าอบรมประมาณ 2,450 ราย กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ การอบรมเป็นการสอนเทคนิคต่างๆ เช่น การใช้เฟซบุ๊กในการโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สอนการใช้อี-มาร์เก็ตเพลส การเปิดร้านค้าอีคอมเมิร์ซผ่านทางเทพ shop และสุดท้ายกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงจะเป็นการสอนเปิดเว็บไซต์ที่เป็นอีคอมเมิร์ซ หรือที่เรียกว่า Sale Trade ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีศักยภาพสูง ประมาณ 1,050 ราย อีกหนึ่งกลุ่มที่มีผู้ประกอบการ SME ประมาณ 30 ราย เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ชำนาญการด้านการขายออนไลน์ โครงการจะเน้นให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว หรือให้คำปรึกษาเชิง Grouping

"ผลสำเร็จจากโครงการ พบว่า ผู้ประกอบการหลายรายในกลุ่มระดับเริ่มต้นที่ผ่านการอบรมโครงการ เริ่มมีออเดอร์แรกเข้ามาแล้ว เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME ได้ใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายสินค้า ส่วนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพพบว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% บางรายยอดขายไม่ได้เพิ่ม แต่สามารถบริหารจัดการนำสินค้าไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงมากยิ่งขึ้น

ประเภทสินค้าที่เข้ามาอบรมมีความหลากหลาย บางสินค้าเป็นโอทอป เช่น ครกอ่างศิลา ไข่เค็ม สินค้าทุกประเภทขายผ่านทางออนไลน์ได้ เพียงใช้วิธีการโพสต์ การเขียนเรื่องราว บางประเภทเป็นสินค้าเฉพาะทาง เช่น ชุดเทควันโดมือสอง โครงการจะสอนดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่เฉพาะเหมาะกับผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ใช้ หรือสินค้านวัตกรรมใหม่ เช่น เครื่องดักยุง ทั้งนี้สินค้าทุกประเภทขายได้ยอดขายดีบนออนไลน์ หากเราต้องใช้วิธีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ"

สำหรับการอบรมในปีนี้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด ในปีหน้าก้าวสู่เฟส 2 หลักสูตรจะมีการปรับเปลี่ยนให้ลงลึกและเข้มข้นมากขึ้น ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในการขยายกิจการ สามารถติดต่อมาได้ที่ สสว.เพื่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการในปีหน้าและปีต่อๆ ไป คลิกไปที่ www.sme.go.th ไปที่โครงการ SME Online

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4