โมเดลการบริหารจัดการน้ำ “อมตะซิตี้” ต้นแบบการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ใน EEC แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ประหยัดได้ถึง 40%

พุธ ๐๑ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๑๑:๕๓
“น้ำเสีย”กำลังจะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังมีลักลอบของโรงงานแอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คูคลองสาธารณะ ขณะที่ทุกภาคส่วนกำลังเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างเต็มกำลัง เพื่อรองรับการเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่จะเกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เมื่อการพัฒนาเต็มรูปแบบในอีก 20 ปี หรือปี พ.ศ.2580 จะทำให้ EEC ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง กลายเป็นพื้นที่เดียวของประเทศไทยที่จะมีผู้คนอพยพเข้ามามหาศาล ยังไม่รวมประชากรที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ทำให้ความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือปัญหาขาดแคลนน้ำที่รุนแรง หากไม่เร่งจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ในวันนี้
โมเดลการบริหารจัดการน้ำ อมตะซิตี้ ต้นแบบการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ใน EEC แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ประหยัดได้ถึง 40%

เมื่อ“น้ำ”เป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนา และเมื่อมองข้อดีของ “น้ำเสีย” ที่จะเข้ามาเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ของ EEC จากประสบการณ์ในช่วงเกิดวิกฤตแล้งในภาคตะวันออกเมื่อปี พ.ศ. 2548 ทำให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ตื่นตัวในการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง และอาจเรียกได้ว่าเป็นรายแรกๆ ที่มองเห็นคุณค่าและศักยภาพของ“น้ำเสีย”นำมาบำบัดหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ทดแทนแหล่งน้ำจากธรรมชาติหรือน้ำประปา สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนรายอื่นๆ เข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น จนวันนี้ภายใต้พื้นที่กว่า 50,000 ไร่ (ชลบุรี 30,000 ไร่ และระยอง 20,000 ไร่ ) ของนิคม มีอุตสาหกรรมมากกว่า 1,100 โรงงาน ทั้งอุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อให้คณะที่สนใจหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนสถาบันการศึกษา เข้ามาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำตามหลัก 3Rs (Reduce Reuse and Recycle) และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy System

ชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่ EEC ว่า จากแนวโน้มการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นและจะมีอัตราการขยายตัวที่มากกว่ายุโรปและอเมริกา ด้วยปัจจัยทางด้านการผลิตที่ดีกว่า ทั้งค่าแรงงาน วัตถุดิบ และต้นทุนอื่นๆ ที่ต่ำกว่า สำหรับประเทศไทยในภาพรวมแล้วเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจต่อการลงทุนมากประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี มีค่าแรงที่ไม่สูงมากนัก

พื้นที่ภาคตะวันออกของไทยมีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน เส้นทางคมนาคมขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว ทั้งทางบกและทางทะเล ล้วนเป็นปัจจัยบวกในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ทว่าความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีความต้องการสูงขึ้นมากถึง 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี พ.ศ. 2580 จึงยังเป็นปัญหาสำคัญที่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นอย่างมาก

“สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอมตะฯ ได้มีการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง จนได้ก้าวข้ามวิกฤตการขาดแคลนน้ำไปแล้ว นับตั้งแต่เกิดวิกฤตภัยแล้งอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2548 อมตะได้ดำเนินการพัฒนาด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนอย่างจริงจัง บนพื้นฐานที่มีข้อมูลการพยากรณ์อากาศที่ดี การวิเคราะห์แหล่งน้ำทางเลือกต่างๆ ทั้งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน การรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ และการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การสร้างสมดุลของการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy System) ด้วยการจัดการน้ำโดยใช้หลัก 3Rs (Reduce Reuse and Recycle)การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนการผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย การสร้างศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกๆ มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดการจัดการแบบ “ALL WIN””

ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมอมตะ มีระบบบำบัดน้ำเสียและการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ภายในนิคมถึง 5 สถานี มีกำลังการผลิตน้ำเสียทั้งหมด 35,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ระบบการหมุนเวียนน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมดสามารถประหยัดหรือลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำได้ถึง 35-40% หรือเท่ากับการนำน้ำดิบ 1 ลูกบาศก์เมตร มาใช้ได้เท่ากับ 1.4 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้อมตะฯ ยังได้นำระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพที่พัฒนาขึ้นดังกล่าวไปใช้กับนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้นในประเทศเวียดนาม พม่า และลาว โดยมีเป้าหมายในการประหยัดน้ำหรือลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ชูชาติ กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักการ 3Rs และกระบวนการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ตามรูปแบบที่ดำเนินการอยู่จะส่งผลโดยตรงทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำ การจัดการน้ำเสีย และลดการแย่งชิงน้ำกับชุมชนในปีวิกฤตภัยแล้ง รวมถึงการอนุรักษ์แหล่งน้ำ เกิดจากกระบวนการจัดการน้ำเสียที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้รองรับกับระบบกรอง RO ( Reverse Osmosis Membrane ) จึงทำให้เกิดประโยชน์ทั้งการประหยัดน้ำ และการจัดการน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูง

“การพัฒนาเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่มีความมั่นคงและยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และการตัดสินใจของนักลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้เติบโต ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน เป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป”

ด้าน รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ“การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมือง โดยการใช้นำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ EEC” ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ กล่าวกว่า “น้ำเสีย”จากภาคอุตสาหกรรม จะเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ของ EEC ที่สำคัญสามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งได้ดี โดยแนวทางที่จะช่วยให้การจัดการทรัพยากรน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การใช้ 3Rs (Reduce Reuse and Recycle)

โดยจากการวิจัยเบื้องต้น พบว่า ในปี 2563 พื้นที่ EEC มีนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการประหยัดน้ำโดยได้ดำเนินการโครงการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรีและระยอง ประมาณ 40% และที่มากกว่า 15% ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ศรีราชา, นิคมอุตสาหกรรม WHA ตะวันออก, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นต้น นอกจากนี้ผลการสำรวจ พบว่า ประเภทของอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากในพื้นที่ EEC มีศักยภาพในการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 15% อาทิ กลุ่มสิ่งทอมีศักยภาพประหยัดน้ำได้ 15-49.5%, กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีศักยภาพประหยัดน้ำได้ 15-37%, กลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะและยางประหยัดน้ำได้ 18-55%, กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ประหยัดน้ำได้ 16-34% , กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มประหยัดน้ำได้ 15-18% และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ประหยัดน้ำได้ 15 %

มุมมอง “น้ำเสีย”จากนี้ จะเปลี่ยนไป เมื่อน้ำเสีย จะกลายเป็นแหล่งน้ำจืดในอนาคต เทคโนโลยีการจัดการน้ำตัวช่วยในการยกระดับน้ำเสียให้เป็นน้ำใส การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ คือความหวังของอุตสาหกรรม เพราะโอกาสของ EEC อยู่ที่ความมั่นคงด้านน้ำ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้