ภูเก็ต ระยอง ตรัง พร้อมเดินหน้าจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

พฤหัส ๐๑ เมษายน ๒๐๒๑ ๐๙:๐๘
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) เปิดตัวโครงการนำร่องสามโครงการ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลในจังหวัดภูเก็ต ระยอง ตรัง ซึ่งการดำเนินงานจะมุ่งเน้นไปที่การลด การเก็บรวมรวม การคัดแยกและการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินงานถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวขอบคุณหน่วยงานภาคี และกล่าวถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนและการดำเนินการตามหลัก 3R ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการหาแนวทางแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติกว่า "โครงการดังกล่าวฯ เป็นการดำเนินงานที่มีเป้าหมายสอดคล้องกับวาระแห่งชาติ เรื่องนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG Model รวมทั้ง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2563 - 2565"

"ขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับทุกคน เราต้องก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน" Dr. Giuseppe Busini อัครราชทูต รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า "โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างระดับภูมิภาคและยุโรป โดยดำเนินงานใกล้ชิดกับประเทศไทยในการป้องกันขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่ทะเล ซึ่งโครงการนำร่องสามารถส่งเสริมความพยายามให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมกับการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและสั่งสมประสบการณ์จากระดับท้องถิ่นรวมไปถึงระดับชุมชน ระดับครัวเรือน ภาคธุรกิจในท้องถิ่น และหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เราหวังว่าโครงการนำร่องนี้จะเป็นแนวปฏิบัติที่ดี และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและการพัฒนาทางด้านนโยบายในอนาคต"

ในส่วนของการเชื่อมโยงระหว่างความคิดในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และนานาชาติทางด้านนโยบาย ก็เป็นสิ่งสำคัญ Mr. Jan Scheer อัครราชทูตและรองหัวหน้าปฏิบัติการและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย  กล่าวว่า "ผมมั่นใจว่าเราสามารถเรียนรู้ได้จากการแก้ปัญหาและเรียนรู้ได้จากการที่จังหวัดภูเก็ต ระยอง ตรัง เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ  อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีสิ่งแวดล้อมทางทะเลอันล้ำค่า เราสามารถเรียนรู้ได้จากความท้าทายที่ต้องเผชิญในแต่ละพื้นที่และเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่งที่ทางโครงการนำร่องมีภาคีที่มีประสบการณ์และมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้พบภาคีเครือข่ายทุกท่านในวันนี้และขอให้โครงการนำร่องดำเนินการลุล่วงและประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี"

ภายในงาน ไม่เพียงแต่มีการนำเสนอของโครงการนำร่องในแต่ละพื้นที่ แต่ยังมีการจัดกิจกรรมกลุ่มที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกเหนือจากโครงการนำร่องทั้งสามจังหวัดในประเทศไทยแล้ว โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ Expertise France (EF) ยังสนับสนุนโครงการนำร่องกว่า 20 โครงการใน 5 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องการจัดการขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน ตลอดจนการลดขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเลจากเรือพาณิชย์และเรือประมงในประเทศจีน อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม ประสบการณ์และบทเรียนของโครงการนำร่อง จะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีและก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านนโยบายในอนาคต

โครงการนำร่องทั้ง 3 จังหวัดประกอบด้วย

1) โครงการส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงรูปแบบและนโยบายด้านการจัดการขยะพลาสติก ในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง จังหวัดตรัง ดำเนินงานโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) เกาะลิบง จังหวัดตรัง มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีหญ้าทะเลมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูน เพื่อให้เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลเอาไว้ โครงการนำร่องจึงได้ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นและภาคการท่องเที่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดขยะพลาสติก และจะดำเนินงานให้มีการจัดการขยะพลาสติกให้ดีขึ้น

2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะพลาสติกจากบ้านเรือนเพื่อการรีไซเคิลแบบวงจรปิด ดำเนินงานโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชุมชนท้องถิ่น โรงเรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติกในจังหวัดระยอง ได้มีส่วนร่วมในการคัดแยกและเก็บรวบรวมขยะพลาสติกให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอัตราการรีไซเคิล และลดการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่ทะเล 

3) โครงการจัดการและลดขยะพลาสติกภาคครัวเรือนและธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต ดำเนินงานโดยมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ในฐานะที่เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายที่จะลดและจัดการปริมาณขยะพลาสติกในภาคธุรกิจและครัวเรือนให้ดีขึ้น โดยมีการใช้วัสดุทางเลือกแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในภาคบริการส่งอาหารและภาคการท่องเที่ยว

ที่มา: องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้