ไบโอเทค สวทช. พัฒนาวัคซีนรวมสำหรับสุกรในเข็มเดียว ป้องกันไวรัสนิปาห์ และ ไวรัสพีอาร์อาร์เอส

อังคาร ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๒๑ ๑๐:๑๒
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) พัฒนาวัคซีนและศึกษาภูมิคุ้มกันของสุกรต่อวัคซีนต้นแบบที่สามารถใช้ป้องกันทั้งไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) และไวรัสพีอาร์อาร์เอส (PRRS virus) ได้ในเข็มเดียว เพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาดร้ายแรงในปศุสัตว์ที่สามารถแพร่สู่คนได้ พร้อมทั้งเสริมสร้างระบบป้องกันและควบคุมโรคระบาดต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah) ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ (emerging disease) ซึ่งสามารถแพร่ระบาดติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยมีแหล่งรังโรคคือ ค้างคาวผลไม้ แต่สัตว์ที่สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ คือ สุกร สุนัข แพะ แมว ม้า และแกะ ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะโรค และสามารถติดต่อมาสู่คนได้จากการสัมผัส หรือรับประทานวัตถุที่ปนเปื้อน ปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลาย ของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะสุกรซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ง่ายที่สุด เป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงในสุกร และการติดเชื้อไข้สมองอักเสบในมนุษย์ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยมีรายงานการแพร่ระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ. 2541-2542 โดยพบผู้ป่วยเกือบ 300 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของมาเลเซียเป็นอย่างมาก โดยทางการมาเลเซียมีการสั่งทำลายสุกรกว่า 1.2 ล้านตัว หรือประมาณร้อยละ 50 ของสุกรทั่วประเทศ

ดร. นันท์ชญา วรรณเสน นักวิจัยทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันทั้งสำหรับปศุสัตว์และมนุษย์  ในขณะที่วัคซีน PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) มีใช้อย่างแพร่หลายและมีความปลอดภัยในการนำไปใช้ในสุกร ทางทีมวิจัยจึงมีความสนใจที่จะนำวัคซีน PRRS ไปพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำส่งโปรตีนแอนติเจนของไวรัสนิปาห์ เพื่อใช้เป็นวัคซีนรวมที่สามารถป้องกันได้ทั้งไวรัสนิปาห์ และไวรัส PRRS ในเข็มเดียว (bivalent vaccine)

ดร. นันท์ชญา ให้ข้อมูลต่อว่า โครงการวิจัยนี้คณะวิจัยไบโอเทค ได้ทำงานร่วมกับ Prof. Simon Graham และ Dr. Rebecca McLean จาก The Pirbright Institute (TPI) สหราชอาณาจักร ในการศึกษาภูมิคุ้มกันของสุกรต่อวัคซีนต้นแบบที่พัฒนาขึ้นนี้ โดยทีมวิจัยไบโอเทคได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการตัดต่อพันธุกรรมไวรัส PRRS และได้วางแผนร่วมกับทีมวิจัยจาก TPI ในการทดสอบคุณสมบัติของไวรัส PRRS เพื่อใช้เป็นเวกเตอร์ไวรัส (viral vector) ที่สามารถนำส่งโปรตีนของไวรัสนิปาห์ เพื่อใช้เป็นวัคซีนรวมสำหรับป้องกันโรคทั้ง 2 โรคได้

โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก The Transnational Access Activities (TNA) : Veterinary Biocontained Facility Network (VetBioNet) เป็นมูลค่า 61,350 ปอนด์ (2,504,000 บาท) โดยสนับสนุนการทดสอบวัคซีนในสุกรในห้องปฏิบัติการวิจัย high containment laboratory ซึ่งใช้สำหรับการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคและสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ Animal and Plant Health Agency, UK และการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๓๖ โรงพยาบาลพระรามเก้า คว้ารางวัล Digital Transformation Initiative of the Year 2024 จากเวที Healthcare Asia Awards
๑๒:๐๐ กลับมาอีกครั้งกับงานช้อปอย่างมีสไตล์ รายได้เพื่อชุมชน ครั้งที่ 14 เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ ชวนมาช้อป ชม ของดี ของเด็ดประจำจังหวัดปทุมธานี ระหว่าง 4 - 10
๑๒:๓๙ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ สนับสนุนพื้นที่ กรมพลศึกษา จัดแข่งขันกีฬากระบี่กระบองระหว่างโรงเรียน กิจกรรมสร้างสรรค์เสริมทักษะเยาวชน ส่งเสริม SOFT POWER
๑๑:๑๕ TOA ย้ำแชมป์สีเบอร์หนึ่ง คว้า 2 รางวัลใหญ่ 'สุดยอดองค์กร และแบรนด์สีที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นมากที่สุด' 13 ปีซ้อน Thailand's Most Admired Company Brand ปี
๑๑:๔๒ ไทยพีบีเอสยกระดับรู้เท่าทันภัยออนไลน์ ผนึกกำลัง 8 หน่วยงาน ป้องกัน-กวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์
๑๑:๕๘ ศิษย์เก่าวิศวฯ SPU กว่า 5 ทศวรรษ ร่วมย้อนวันวานในงาน วิศวฯ คืนถิ่น SEAN HOMECOMING 2024
๑๑:๑๓ เฮงลิสซิ่ง ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น ฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี ประจำปี 2567
๑๑:๔๕ YouTrip สาดความคุ้มต้อนรับสงกรานต์กับ 2 โปรพิเศษ 4.4 Travel Sale และ Japan Mega Cashback รับส่วนลดสุดคุ้มจากแบรนด์ท่องเที่ยวดัง และเงินคืนสูงสุด 2,000
๑๑:๕๒ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เชิญเข้าร่วมงานสัมมนาวิชา อนาคตเศรษฐกิจไทย: ยืดหยุ่นและยั่งยืน
๑๑:๑๐ เจแอลแอล ประเทศไทย เผยเทรนด์ ESG ของปี 2567 และเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของวงการอสังหาฯ