สสส. เปิดผลวิจัย 1 ปีโคแฟค (ประเทศไทย) พบประชาชน 97% เผชิญหน้าข่าวลวง ห่วง 3 อันดับข่าวลวงแรกส่งผลกระทบสุขภาพคนไทย จัดวงนักคิดดิจิทัลร่วมถกหาทางแก้ไขและรับมือ

จันทร์ ๑๒ กรกฎาคม ๒๐๒๑ ๑๐:๓๗
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ โคแฟค (Cofact) และภาคีเครือข่าย เปิดผลสำรวจเนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีของโคแฟค (ประเทศไทย) พบประชาชน 97% รับว่าเคยพบเห็นข้อมูลข่าวลือข่าวลวง โดยข่าวลวง 3 อันดับแรกอยู่ในแวดวงสุขภาพทั้งหมด ประชาชนขอสื่อมวลชนและแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยคัดกรองข้อเท็จจริง ขณะที่วงเสวนาออนไลน์ นักคิดดิจิทัลครั้งที่ 17 เปิดประเด็น "How to รับมือปัญหาข้อมูลสับสน/ข่าวสารลวงหลอก บทเรียนไทยและเทศ" ตัวแทน จากหลากหลายสาขาร่วมกันเปิดมุมมอง ชี้ทางแก้ไขระยะสั้นสื่อมวลชนและแพลตฟอร์มมีบทบาทสำคัญ แต่ในระยะยาวต้องสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีทักษะการสื่อสารรับผิดชอบต่อสังคม

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีเป้าหมายในการสร้างสังคมสุขภาวะ และตระหนักดีว่าการจะเกิดสังคมสุขภาวะได้นั้น จำเป็นจะต้องเกิดสังคมแห่งปัญญาก่อน เรื่องของข้อมูลข่าวสารเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของการสร้างความรู้และปัญญา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนนวัตกรรมโคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดกลไกในการทำให้ข้อมูลสารสนเทศที่กระจายอยู่ในสังคม เป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เพราะหากสังคมไทยยังเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่สับสน ไม่ใช่ข้อเท็จจริง นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งกายและใจแล้ว ยังนับเป็นบ่อนทำลายปัญญาและจิตวิญญาณตั้งแต่ในระดับปัจเจกไปจนถึงสังคมโดยรวม

คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีการทำงานของโคแฟค (ประเทศไทย) จึงได้มีการวิจัยสำรวจข้อมูลจากประชาชนในหลากหลายกลุ่ม โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมโคแฟคและแก้ไขปัญหาข่าวลวงอย่างยั่งยืน พร้อมจัดเวทีเสวนาออนไลน์นักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 17 เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่รับฟังมุมมองจากผู้เข้าร่วมเสวนาที่มาจากหลากหลายสาขา ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน นักการศึกษา และตัวแทนจากแวดวงกฎหมาย ที่จะมาช่วยกันมองปัญหาและหาทางออกในการแก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ปัญหาข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน เป็นเท็จ ซึ่งวันนี้ไม่ได้เกิดจากสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่ต้นตอความสับสนของข้อมูลข่าวสารนั้นมาจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ สื่อมวลชน ประชาชนทุกคน ไปจนถึงตัวของแพลตฟอร์มที่มีบทบาทมากในยุคปัจจุบันนี้คือสื่อโซเชียลมีเดีย

ด้าน ดร.รดี ธนารักษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และตัวแทนทีมโคแฟคภาคเหนือ ได้นำเสนอผลสำรวจข้อมูล "ทำไมต้องค้นหาความจริงร่วม : Why Cofact matters เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีโคแฟคประเทศไทย" โดยได้ทำการสำรวจประชาชนในทุกภูมิภาค ครอบคลุมตั้งแต่นิสิตนักศึกษา ภาคีเครือข่าย และประชาชนทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดีย ผลสำรวจพบว่า 97% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยได้รับข่าวที่สงสัยว่าเป็นข่าวลวง โดยส่วนใหญ่รับข้อมูลข่าวสารที่สงสัยว่าเป็นข่าวลวงจาก 2 แหล่งใหญ่คือ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ และจากกลุ่มผู้รู้จักใกล้ชิด โดย 1 ปีที่ผ่านมา ข่าวลวง 3 อันดับแรกที่พบเป็นข่าวในแวดวงสุขภาพทั้งหมด อันดับที่ 1 คือข้อมูลสรรพคุณเกินจริงของถั่งเช่าและอาหารเสริมอื่นๆ อันดับที่ 2 ข่าวลวงเรื่องฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิดได้ และอันดับที่ 3 เป็นข่าวลวงเรื่องมะนาวโซดารักษามะเร็งและโควิดได้ ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสำรวจได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหา โดยอันดับ 1 คิดว่าสื่อมวลชนควรเป็นหลักในการช่วยตรวจสอบอย่างทันท่วงที ไม่ผลิตซ้ำข่าวลวง อันดับที่ 2 คือแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ควรเพิ่มฟังก์ชั่นในการเตือนข่าวลวง และอันดับที่ 3 ควรเพิ่มทักษะพลเมืองดิจิทัลในหลักสูตรการเรียนรู้ทุกระดับ และควรมีแพลตฟอร์มเฉพาะเพื่อเป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบข่าวลวง เช่น โคแฟค โดยส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามยังให้ความเชื่อมั่นว่า นวัตกรรมโคแฟคเป็นกลไกที่น่าเชื่อถือในการตรวจสอบข่าวลวง

ในส่วนของเวทีเสวนาออนไลน์ ที่มีผู้เชี่ยวชาญตัวแทนจากหลากหลายสาขามาร่วมกันระดมความคิดในหัวข้อ "How to รับมือปัญหาข้อมูลสับสน/ข่าวสารลวงหลอก บทเรียนไทยและเทศ" ได้รับเกียรติจาก คุณเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษา ThaiPBS ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki ประเทศไทย และ พ.ต.ท.(หญิง) เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ รองผู้กำกับ กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท.บช.สอท.

ทั้งนี้ คุณเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษา ThaiPBS ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์โควิด ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นช่องทางในการปล่อยข่าวลวง สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศไทย แต่ทุกประเทศในอาเซียนขณะนี้กำลังพบปัญหานี้เหมือนกันหมด ความน่ากังวลของข่าวลวง ไม่ใช่เพียงแค่ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ข่าวปลอมที่สร้างกระแสความเกลียดชัง ก็เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจในระยะยาว เพราะเป็นข่าวที่ไม่สามารถหักล้างด้วยข้อเท็จจริงได้ สำหรับการรับมือในสถานการณ์เฉพาะหน้านั้น สื่อมวลชนหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อย่างโคแฟค จะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการยับยั้งข่าวลวง ให้ข้อเท็จจริง แต่ในระยะยาว สิ่งสำคัญคือการสร้างคนรุ่นใหม่ไม่ให้หลงเชื่อข่าวลวง มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เป็นต้นตอในการปล่อยข่าวลวง เพราะทักษะการสื่อสารในวันนี้ ไม่ได้จำกัดแค่คนที่เรียนในวงการสื่อมวลชนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นทักษะจำเป็นในชีวิตของพลเมืองทุกคนในสังคม

สำหรับผลงานวิจัย "ทำไมต้องค้นหาความจริงร่วม : Why Cofact matters เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีโคแฟคประเทศไทย" และ การเสวนาออนไลน์ นักคิดดิจิทัลครั้งที่ 17 "How to รับมือปัญหาข้อมูลสับสน/ข่าวสารลวงหลอก บทเรียนไทยและเทศ" เป็นหนึ่งในโครงการที่สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โคแฟค (ประเทศไทย) เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ระบบนิเวศสื่อปลอดภัยและสังคมสุขภาวะ โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสาร "บทเรียนและข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาข่าวลวงอย่างยั่งยืน" และรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่เพจ Cofact โคแฟค

ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4