ทีเส็บจัด 'ไมซ์คลินิก' สัมมนาออนไลน์ ให้ความรู้มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการไมซ์

จันทร์ ๑๖ สิงหาคม ๒๐๒๑ ๑๖:๒๓
ทีเส็บจัดกิจกรรมไมซ์คลินิกผ่านการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) จับมือสำนักงานประกันสังคม เปิดเวทีให้ความรู้ผู้ประกอบการไมซ์ ซักถามสร้างความรู้ความเข้าใจต่อมาตรการเยียวยาจากผลกระทบโควิด 19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บจัดกิจกรรม "ไมซ์คลินิก" ในรูปแบบการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) เพื่อเป็นเวทีสื่อกลางประสานงานให้หน่วยงานภาครัฐ ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการไมซ์ถึง "นโยบายและแนวทางดำเนินงานสำคัญของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์" ล่าสุด เชิญผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับนายจ้างและลูกจ้างในอุตสาหกรรมไมซ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไมซ์ได้สอบถามข้อมูลเชิงลึก สร้างความเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามมาตรการเพื่อรับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจ ทั้งจากผู้แทนสมาคมด้านไมซ์ ท่องเที่ยว และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน อาทิ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA), สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) (TEA), สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA), สมาคมโรงแรมไทย (THA), สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA), สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TCT), สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (ADT), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA), สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA) เข้าร่วมฟังสัมมนาออนไลน์กว่า 240 ราย

นายสุรสิทธิ์ ศรีแก้ว ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ทางสำนักงานประกันสังคมได้มีโครงการจ่ายเงินเยียวยาแก่นายจ้างและผู้ประกันตนในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการ ครอบคลุมถึงการจัดการประชุมและจัดการแสดงสินค้า จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเยียวยาฯ นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33, โครงการเยียวยาฯ ผู้ประกันตนมาตรา 39 และโครงการเยียวยาฯ ผู้ประกันตนมาตรา 40 อีกทั้งยังมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยเนื่องจากรัฐสั่งปิดเพิ่มเติมด้วย

โครงการเยียวยาฯ ตามมาตรา 33 นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท ต่อหัว สูงสุดไม่เกิน 200 คน นายจ้างบุคคลธรรมดา รับเงินผ่านพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น นายจ้างนิติบุคคลรับเงินผ่านบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้กับสำนักงานประกันสังคม โดยนายจ้างจะต้องแจ้งความประสงค์ขอรับการเยียวยาและยื่นเอกสารให้ครบผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th

สำหรับลูกจ้างตามมาตรา 33 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท ต่อคน (สัญชาติไทย) ผ่านพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 5,000 บาท

นอกจากนี้ ในกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยเนื่องจากรัฐสั่งปิด ลูกจ้างร้านอาหารและผู้ประกอบการที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน จะได้รับเงินชดเชย 50% ไม่เกิน 90 วัน

สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ที่เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีการส่งคำถามล่วงหน้าเพื่อสอบถามข้อมูล และมีการส่งคำถามสอบถามในช่วงเวลาสัมมนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการทำความเข้าใจในหลากหลายประเด็น อาทิ ขอบข่ายการได้รับสิทธ์เยียวยาของธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ งานแสดงสินค้า และงานประชุม, แนวทางการสนับสนุนกรณีเมื่อธุรกิจถูกสั่งปิดเกิดความเสียหายมากกว่าเงินเยียวยาที่ได้รับ, แนวทางการช่วยเหลือเพิ่มเติมของภาครัฐ, การดำเนินการในกรณีที่ไม่ได้เข้าข่ายอยู่ใน 9 กิจการที่ได้รับสิทธิ์การเยียวยา, การช่วยเหลือในกรณีธุรกิจไม่ได้ถูกรัฐสั่งปิดแต่จำเป็นต้องยุติการดำเนินงาน และในกรณีที่สำนักงานมีหลายสาขา สำนักงานใหญ่ได้รับสิทธิ์เยียวยาแล้ว แต่สาขายังไม่ได้รับการเยียวยา เป็นต้น

นายสุรสิทธิ์ กล่าวว่า การดำเนินงานธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ งานแสดงสินค้า และการจัดประชุม ถือว่าอยู่ในขอบข่ายประเภทที่ได้รับสิทธิ์ในการเยียวยา สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ใน 9 ประเภทกิจการที่รัฐประกาศ และธุรกิจที่ไม่ได้ถูกรัฐสั่งปิดแต่ยุติการดำเนินงานเองไม่ถือว่าเข้าข่ายได้รับสิทธิ์ ส่วนธุรกิจที่มีสำนักงานหลายสาขา สาขาย่อยสามารถไปแจ้งข้อมูลกับสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการหรือผู้ประกันตนมีข้อสงสัยหรือต้องการยื่นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิ์รับการเยียวยา สามารถติดต่อ สำนักงานประกันสังคม ได้ทางสายด่วน 1506 ซึ่งเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดกิจกรรม "ไมซ์คลินิก" ในรูปแบบการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ครั้งนี้ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการไมซ์ เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐโดยตรงที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทีเส็บในฐานะหน่วยงานรัฐหลักที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์จะยังคงเดินหน้าประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไมซ์ มีความรู้ความเข้าใจถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างถูกต้องต่อไป

ที่มา: ทีเส็บ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้