ม.มหิดลชี้วิจัยโรค NCDs เปลี่ยนเป้าหมายสู่รุ่นเยาว์

จันทร์ ๐๓ ตุลาคม ๒๐๒๒ ๑๐:๑๗
แม้ทั่วโลกจะประสบวิกฤติโรคอุบัติใหม่ อาหาร และพลังงานจนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่ก็ไม่ได้ทำให้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) มีอุบัติการณ์น้อยลง
ม.มหิดลชี้วิจัยโรค NCDs เปลี่ยนเป้าหมายสู่รุ่นเยาว์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวรส มีกุศล รองหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญทั่วโลก และยังคงน่าเป็นห่วง คือ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งพบผู้ป่วยเกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลก คาดว่าในปี 2568 จะมีความชุกของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน

ที่สำคัญปัจจุบันพบอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ในกลุ่มวัยเด็กมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกิน หรือโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากพฤติกรรมนิยมบริโภคอาหารประเภทอาหารขยะ junk food ซึ่งหารับประทานง่าย แต่มีปริมาณไขมัน โซเดียม น้ำตาลและพลังงานสูง รวมทั้งการไม่ออกกำลังกาย และการดำรงชีวิตประจำวันที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งอีกด้วย

และจากการวิจัยที่ผ่านมาพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายได้นั้น มักมาจากการเบื่อหน่าย ท้อแท้ ที่โรคนี้ต้องใช้การรักษาต่อเนื่องยาวนาน

ประกอบกับความเชื่อที่ว่าเป็น "โรคของเวรกรรม" จึงมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ยอมเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและจริงจังขณะที่ในทางการแพทย์ยืนยันว่า โรคความดันโลหิตสูงนั้นหากยิ่งตรวจพบ และเข้ารับการรักษาได้เร็วเท่าใด ยิ่งส่งผลดีต่อการควบคุมภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคได้ดีมากขึ้นเท่านั้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวรส มีกุศล กล่าวต่อไปว่าสัญญาณเตือนของโรคความดันโลหิตสูงมักไม่ได้มากับอาการปวดศีรษะบริเวณต้นคออย่างที่หลายคนเข้าใจเสมอไป แท้ที่จริงแล้วเป็น "ภัยเงียบ" ที่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการใดๆ เลย ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่ากำลังป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ก็มักมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงไปเสียแล้ว

โดยในบางรายอาจถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด มีอาการชา หรืออ่อนแรงที่แขนขาข้างเดียวกัน ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อเข้ารับการรักษาภายในระยะเวลา4.5 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสเกิดความพิการ ลดโอกาสการเกิดซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง ลดอัตราการเสียชีวิต รวมไปถึงลดอัตราการตาย

วิธีที่จะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ คือ หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตเพื่อการเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ องค์การอนามัยโลก ได้จัดระดับความดันโลหิตปกติ คือไม่เกิน140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยปกติการวัดระดับความดันโลหิตจากการใช้เครื่องมือวัด แบบรัดต้นแขน จะให้ผลที่เที่ยงตรง และแม่นยำกว่าแบบรัดข้อมือ อย่างไรก็ตาม ควรมีการตรวจสอบมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะๆ และต้องใช้ปลอกแขนวัดความดันที่พอดี กระชับ และมีขนาดเหมาะสมกับแขนของผู้ป่วย เพื่อความแม่นยำในการตรวจวัดความดันโลหิต

"ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดที่ว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็น "โรคของเวรกรรม" มาเป็น "โรคของพฤติกรรม" ที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันการเกิดโรคได้หากหันมาใส่ใจดูแลเรื่องการกิน การอยู่ การจัดการความเครียด การออกกำลังกายที่เหมาะสม และเพียงพอ" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวรส มีกุศล กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา