CEA เจาะลึกแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย 12 สาขา มุ่งสู่ระดับสากล

ศุกร์ ๑๖ ธันวาคม ๒๐๒๒ ๑๗:๓๐
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" หรือ Creative Economy นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตามอง หลายประเทศได้หยิบยกรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มาใช้เป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยนำสินทรัพย์ ทุนทางวัฒนธรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประเทศมีเอกลักษณ์ สะท้อนอัตลักษณ์ของชาติซึ่งสามารถส่งออกให้ต่างชาติยอมรับได้
CEA เจาะลึกแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย 12 สาขา มุ่งสู่ระดับสากล

ในขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ต้องเตรียมพร้อมปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบของ "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ด้วยระบบนิเวศที่เรียกว่า "อุตสาหกรรมสร้างสรรค์" หรือ Creative Industries โดยในประเทศไทยได้กำหนดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไว้ทั้งหมด 15 สาขา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุดใหม่ (New Engines of Growth) เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้จัดทำ "รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์" รวม 12 สาขา เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาสู่การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากล โดยเริ่มดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2562-2565

สำรวจแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้ง 12 สาขา

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ตามนิยามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดไว้ ประกอบด้วย 4 กลุ่ม รวม 12 สาขา ได้แก่ กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Originals) - 1) งานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) 2) ดนตรี (Music) 3) ศิลปะการแสดง (Performing Arts) 4) ทัศนศิลป์ (Visual Arts) กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content/Media) - 5) ภาพยนตร์ (Film) 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง (Broadcasting) 7) การพิมพ์ (Publishing) 8) ซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) (Software: Game and Animation) กลุ่มบริการสร้างสรรค์ (Creative Services) 9) การโฆษณา (Advertising) 10) การออกแบบ (Design) 11) สถาปัตยกรรม (Architecture) และ กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Goods/Products) 12) สินค้าแฟชั่น (Fashion)

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวม 12 สาขา ที่ CEA จัดทำขึ้นนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การส่งเสริมให้เกิดการรวบรวมข้อมูล และการพัฒนาแพลตฟอร์มจัดเก็บประมวลผลข้อมูล สถิติ องค์ความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการยกระดับศักยภาพของบุคลากร (Capacity Building) ในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความสำเร็จของการพัฒนาธุรกิจและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา วิเคราะห์ศักยภาพและแนวทางการพัฒนาส่งเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา รวมทั้งเครือข่ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใน Ecosystem ตลอดโซ่คุณค่า (Value Chain) อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

1. กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Originals)

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ บนรากฐานทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบด้วย 4 สาขา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการรวมข้อมูลสถานะอุตสาหกรรมพร้อมแนวทางการพัฒนาของกลุ่มนี้ ได้แก่

ด้านสาขาดนตรี มีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในขณะที่สาขาศิลปะการแสดง มีศักยภาพทางธุรกิจ (ขนาดเล็ก) ในระดับแข็งแกร่ง (Strong) และอัตราการอยู่รอดของธุรกิจสูงถึงร้อยละ 90 ทางด้าน สาขาทัศนศิลป์ มีอัตราการเจริญเติบโตไปในทิศทางที่ดี และสาขางานฝีมือและหัตถกรรม มีจำนวนแรงงานสร้างสรรค์สูงสุด หากเร่งผลักดันคาดจะช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2562 สาขางานฝีมือและหัตถกรรม (Craft)

"…แม้ว่าสัดส่วนการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขางานฝีมือและหัตถกรรม จะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 แต่อย่างไรก็ตาม สัดส่วนจำนวนแรงงานสร้างสรรค์ในสาขางานฝีมือและหัตถกรรมซึ่งมีมากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 37.56 ของแรงงานสร้างสรรค์ทั้งประเทศไทย สะท้อนว่าหากได้รับการส่งเสริมและยกระดับศักยภาพอย่างเหมาะสม อาจเพิ่มอัตราเร่งให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้…"

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2563 สาขาดนตรี (Music)

"…อุตสาหกรรมดนตรีของไทย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น 1,478 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 0.1 ของมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด (ข้อมูลปี 2561) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี (2557-2561) พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดนตรี มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้ง 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์…"

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2563 สาขาศิลปะการแสดง (Performing Arts)

"…ข้อมูลปี 2561 พบว่าอุตสาหกรรมศิลปะการแสดงมีกำไรสุทธิเป็นบวกอยู่ที่ 2,396.94 ล้านบาท โดยมีการ กระจายรายได้ของธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ค่อนข้างสมดุล ประกอบกับข้อมูลด้านการเงินของนิติบุคคลในอุตสาหกรรมศิลปะการแสดง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ศักยภาพการดำเนินธุรกิจได้ พบว่ากิจการในอุตสาหกรรมศิลปะการแสดง มีศักยภาพการดำเนินธุรกิจในระดับแข็งแกร่ง (Strong) กล่าวในภาพรวมคืออัตราการอยู่รอดของธุรกิจ มีมากถึงร้อยละ 90…"

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2563 สาขาทัศนศิลป์ (Visual Arts)

"…กว่าร้อยละ 95 ของผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ของไทย เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก แต่อุตสาหกรรมฯ นี้สร้างมูลค่าสูงกว่า 23,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.58 ของมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด นอกจากนี้ ระหว่างปี 2557-2561 พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมทัศนศิลป์มีแนวโน้มการเติบโตไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะในปี 2561 มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 15 สาขา อย่างมีนัยสำคัญ…"

2. กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content/Media)

การนำความคิดสร้างสรรค์มาผลิตคอนเทนต์หรือสื่อ ประกอบด้วย 4 สาขา ซึ่งมีปัจจัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และมีกลุ่มอุตสาหกรรมดาวรุ่งน่าจับตามอง โดยเฉพาะสาขาซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) โดยรายได้อุตสาหกรรมเกมของไทยในปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท และมีจำนวนคนเล่นเกมออนไลน์ของไทยในปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก ตลาดหลักในการส่งออกควรเน้นไปที่กลุ่มประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งไต้หวันและฮ่องกง อเมริกาเหนือ และยุโรป ด้านสาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ยังต้องเฝ้าระวัง พร้อมเร่งฟื้นฟูสภาพคล่องทางธุรกิจและการขาดทุน ในส่วนสาขาการกระจายเสียงยังต้องพึ่งพิงสาขาอุตสาหกรรมโฆษณา และอื่น ๆ และสาขาการพิมพ์ มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากอิทธิพลของ Disruptive Technology เข้าสู่ Digital Age

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2564 สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film)

"…ปี 2563 ทั่วโลกประสบภาวะวิกฤตจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และการระบาดของโควิด-19 ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยเฉพาะประเทศไทย โดยพบว่าหนึ่งในอุตสาหกรรมฯ ที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด พร้อมเร่งฟื้นฟูสภาพคล่องทางธุรกิจจากการเผชิญภาวะขาดทุนสุทธิกว่า 1.44 พันล้านบาท คืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาภาพยนตร์ ในกลุ่มโรงภาพยนตร์ และการผลิตภาพยนตร์…"

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2564 สาขาการกระจายเสียง (Broadcasting)

"…ข้อมูลจากการศึกษาปี 2561 พบว่าตัวเลขมูลค่าอุตสาหกรรมของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการ
กระจายเสียงค่อนข้างน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รวมทั้งหมด 15 สาขา รวมทั้งรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงาน มีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในสาขาอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการกระจายเสียง มีความเกี่ยวข้องและพึ่งพาอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมโฆษณา และอุตสาหกรรมในกลุ่ม Creative Content/Media…"

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2564 สาขาการพิมพ์ (Publishing)

"…ข้อมูลปี 2561 พบว่าแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ ลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ รวมทั้งกระแสความนิยมของการบริโภคสื่อรูปแบบใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอิทธิพลของ Disruptive Technology เข้าสู่ Digital Age ซึ่งกระทบต่อสถานะทางธุรกิจของอุตสาหกรรมการพิมพ์จำนวนมาก…"

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2564 สาขาซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) (Software) (Game and Animation)

"…ข้อมูลจาก Newzoo บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมเกม เปิดเผยว่าปี 2564 มูลค่าของอุตสาหกรรมเกมทั่วโลกสูงถึงประมาณ 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทย มูลค่าของอุตสาหกรรมเกมมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยปี 2563 มูลค่าของอุตสาหกรรมเกมของไทยอยู่ที่ราว 29,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 844 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตและลงทุนในอุตสาหกรรมเกม ได้แก่ จีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…"

3. กลุ่มบริการสร้างสรรค์ (Creative Services)

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้บริการด้านความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 3 สาขา ด้านสาขาการโฆษณา มีอิทธิพลช่วยเพิ่มแรงจูงใจทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับสินค้าและบริการในประเทศ ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย ในขณะที่ สาขาสถาปัตยกรรม ถือเป็นสาขาดาวรุ่งจากการสร้างรายได้ในปี 2564 สูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท และคาดในช่วงปี 2566-2570 จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 5.8 ด้านสาขาการออกแบบ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น แฟชั่น ผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2565 สาขาการโฆษณา (Advertising)

"…อุตสาหกรรมการโฆษณาเชื่อมโยงใกล้ชิดกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการชี้นำและยกระดับสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การจ้างงานในอุตสาหกรรมการโฆษณาประมาณ 5 หมื่นคน รวมรายได้จากอุตสาหกรรมการโฆษณาในประเทศเกือบ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 นับว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย…"

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2565 สาขาการออกแบบ (Design)

"…อุตสาหกรรมการออกแบบของไทยมีจำนวนแรงงานประมาณ 2 หมื่นคน และมีรายได้รวมของธุรกิจในอุตสาหกรรมสูงเกือบ 2 พันล้านบาทในปี 2564 ทั้งยังเชื่อมโยงใกล้ชิดและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งอุตสาหกรรมสถาปัตยกรรม โดยช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการต่าง ๆ อีกด้วย…"

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2565 สาขาสถาปัตยกรรม (Architecture)

"…อุตสาหกรรมสถาปัตยกรรมมีแรงงานประมาณ 3.6 หมื่นคน สร้างรายได้รวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ทั้งยังเชื่อมโยงใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย ศักยภาพของแรงงานสร้างสรรค์ในสาขานี้ สามารถยืนยันได้จากการที่ผลงานของสถาปนิกไทยได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ เช่น Architecture Masterprize โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 16 จาก 60 ประเทศ มาร่วมพลิกโฉมอุตสาหกรรมสถาปัตยกรรมไทย เพื่อก้าวเป็นดาวรุ่งที่สดใส ด้วยเป้าหมายรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 5.8 ในช่วงปี 2566-2570…"

4. กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Goods/Products)

การนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาสินค้า ประกอบด้วย 1 สาขา ได้แก่ สินค้าแฟชั่น เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยในปี 2564 มีมูลค่ามากกว่า 2.2 แสนล้านบาท และสร้างรายได้เกือบ 4 แสนล้านบาท

รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2565 สาขาสินค้าแฟชั่น (Fashion)

"อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นสร้างการจ้างงานในอุตสาหกรรมมากกว่า 7.5 แสนคนในปี 2564 มีมูลค่ามากกว่า 2.2 แสนล้านบาท และสร้างรายได้เกือบ 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นยังเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณี อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมการออกแบบ อุตสาหกรรมการโฆษณา ฯลฯ…"

CEA หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้ง 12 สาขานี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์พัฒนาต่อยอด และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันเชิงธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน

สามารถดาวน์โหลดรายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ฉบับเต็ม ทั้ง 12 สาขา ที่ https://www.cea.or.th/th/single-industries/Creative-Industries-Development-Report-12-sectors

พร้อมติดตามความเคลื่อนไหวการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ CEA ได้ที่ www.cea.or.th

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้