กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund : SRI Fund) มุ่งมั่นใส่ใจการลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่ยั่งยืน

พฤหัส ๑๒ มกราคม ๒๐๒๓ ๐๙:๓๗
ปัจจุบันกระแสการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ ESG ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม จากอุปสงค์ด้านการลงทุนที่มุ่งเรื่องของการสร้างผลตอบแทนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดอุปทานของภาคธุรกิจที่ผนวกเรื่องของ ESG เข้าไปในการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประกาศให้ทศวรรษนี้เป็น "ทศวรรษแห่งการลงมือทำ" เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ด้าน ด้วยการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนจะให้ความสำคัญกับการเติบโตในระยะยาว และคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มากกว่าผลกำไรในรูปของตัวเงินในระยะสั้น

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งรวมถึงประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในโลกจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง ตลอดจนภาวะโลกร้อน คำถามที่สำคัญ คือ ตลาดทุนไทยจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ รวมทั้งช่วยส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ก.ล.ต. มุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้ตลาดทุนไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งแนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืน (sustainable investing) ในประเทศไทย ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยให้ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับหนึ่งในแนวทางการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลคือ Principles for Responsible Investment (PRI) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก United Nations ได้กำหนดหลักปฏิบัติเรื่องหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบโดยผนวกประเด็นเรื่อง ESG เข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้ร่วมลงนาม (signatories) นำไปใช้ ทั้งนี้ การร่วมลงนามใน PRI เป็นการแสดงถึงการมีสัญญาผูกพันต่อหลักปฏิบัติการลงทุนที่รับผิดชอบอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ร่วมลงนามจะต้องผนวกประเด็นเรื่อง ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน การมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้น (active ownership) และการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานตามหลักปฏิบัติการลงทุนที่รับผิดชอบด้วย โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่บริหารจัดการกองทุน อาทิ SRI Fund กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในฐานะผู้รับจัดการเงินลงทุนให้กับผู้ลงทุน สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ PRI ได้ตามความสมัครใจ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานของไทยที่ร่วมลงนามแล้ว จำนวน 3 ราย

เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ United Nations บลจ. จึงเป็นองคาพยพหนึ่งที่สำคัญในตลาดทุนด้วยการนำ ESG มาเป็นปัจจัยในการพิจารณาลงทุนเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ลงทุน และเพื่อช่วยให้ บลจ. มีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของกองทุนรวม ก.ล.ต. จึงได้ออกแนวทางปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลของ SRI Fund หรือ Sustainable & Responsible Investing Fund เมื่อเดือนเมษายน 2565 โดยกำหนดให้ SRI Fund เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตามหลักสากล เช่น SDGs UN Global Compact เป็นต้น และกำหนดให้ บลจ. ที่บริหารจัดการ SRI Fund ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเดียวกัน เช่น นโยบายการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน กลยุทธ์การลงทุน ผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI Fund ได้อย่างสะดวก และมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing) หรือการที่ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเข้าใจผิดว่ากองทุนรวมนั้นเป็นกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน โดยที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น รวมทั้งได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขออนุมัติจัดตั้ง SRI Fund และคำขอแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวมเพื่อให้เป็น SRI Fund สำหรับการยื่นคำขอในปี 2566 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้กับประชาชน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565

สำหรับจุดเด่นในการลงทุน SRI Fund คือ เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่เน้นความยั่งยืนเป็นหลัก โดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่วิเคราะห์และคัดเลือกกิจการที่ผ่านการตรวจสอบเชิงลึกมาแล้วว่า มีแนวคิดและการกระทำในเชิงประจักษ์ตามหลัก ESG รวมถึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกระจายพอร์ตการลงทุน (diversification) ที่น่าสนใจ เพราะหากเปรียบเทียบผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (annualized return) ของ ดัชนี SETTHSI TRI ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ของบริษัทไทยที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนกับดัชนี SET TRI จะพบว่า ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีย้อนหลัง 1 ปี และ 3 ปี ของดัชนี SETHSI TRI สูงกว่า SET TRI ร้อยละ 2.36 และร้อยละ 1.11 ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาในต่างประเทศก็พบว่ากองทุนรวมที่ได้รับการจัดอันดับที่สะท้อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน (ESG ratings) ในระดับสูง มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่ากองทุนรวมอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากกองทุนรวมดังกล่าวมีการคำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ส่งผลให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีความยืดหยุ่น (resilience) และมีผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาวด้วย

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีกองทุน SRI Fund ที่ได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว จำนวน 4 กองทุน โดยผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อ SRI Fund และเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI Fund ได้ที่ https://web-esg.sec.or.th/

นอกจากนี้ ก.ล.ต. มีพันธกิจที่สำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียนออกมาตรฐานกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Sustainable and Responsible Fund Standard: SRFS) เพื่อให้ SRI Fund ที่เปิดเผยข้อมูลครบถ้วนตามที่ ASEAN SRFS กำหนด สามารถเสนอขายหน่วยลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนได้โดยสะดวก ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเจรจากับ Securities and Futures Commission ฮ่องกง เพื่อให้ บลจ. ไทย สามารถเสนอขาย SRI Fund ในฮ่องกง ภายใต้โครงการ HK-TH MRF ได้โดยสะดวกเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บลจ. จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนของตลาดทุนไทย ด้วยการจัดตั้งและบริหารจัดการ SRI Fund มากยิ่งขึ้น และร่วมลงนามใน PRI เพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อแสดงถึงการยึดมั่นต่อหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ เพราะการลงทุนด้วยความมุ่งมั่นใส่ใจด้านความยั่งยืน นอกจากจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเงินลงทุนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งช่วยให้ประเทศไทยบรรลุ SDGs แล้ว ยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวแก่ผู้ลงทุน อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้ บลจ. ในการขยายฐานผู้ลงทุนในระดับสากลด้วย

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?