ทริสเรทติ้งจัดเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนของ “ธ. ทหารไทย” ที่ระดับ “BBB+”

ศุกร์ ๐๓ เมษายน ๒๐๐๙ ๑๑:๔๖
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable’ หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ด้อยสิทธิสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหารและการสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้น ในฐานะเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ของธนาคาร ING Bank N.V. ได้เข้ามาบริหารกิจการของธนาคารอย่างเต็มที่และคาดว่าจะช่วยเสริมสถานภาพทางการเงินและการดำเนินงานของธนาคารให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยธนาคารได้รับประโยชน์ด้านความรู้ความชำนาญจาก ING Bank ในด้านระบบบริหารความเสี่ยง รวมทั้งจุดแข็งด้านธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย การประกันภัย และบริการด้านบริหารสินทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต ธนาคารยังมีเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากแผนการขายหนี้เสียในปี 2552 และผลขาดทุนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงในอนาคตเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารยังมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับค่อนข้างสูง ตลอดจนสภาพแวดล้อมทั้งทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งอาจจำกัดการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

อันดับเครดิต “BBB+” ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารสะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน ไม่สะสมผลตอบแทน มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสามารถไถ่ถอนโดยธนาคารได้หลังจาก 5 ปี นับจากวันที่ออกตราสาร และไถ่ถอนได้ทุกๆ 6 เดือนหลังจากนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร โดยธนาคารจะไม่มีภาระผูกพันในการจ่ายดอกเบี้ยในกรณีที่ธนาคารคาดว่าจะไม่มีผลกำไรในงวดบัญชี 6 เดือนซึ่งเป็นช่วงเดียวกับกำหนดระยะเวลาการจ่ายดอกเบี้ยนั้น ทั้งนี้ การไม่จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ของธนาคาร

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าธนาคารทหารไทยจะปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนความสามารถในการทำกำไร และสภาพคล่องได้ในระยะปานกลาง การสนับสนุนจาก ING Bank คาดว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของระบบบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติงาน ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างรายได้ที่แน่นอนในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม การบรรลุผลสำเร็จตามแผนธุรกิจ 3 ปีภายใต้การบริหารของคณะผู้บริหารชุดใหม่ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ เดือนธันวาคม 2551 ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 ของไทยเมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อ 7% และเงินฝาก 7% ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร ณ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ได้แก่ กลุ่ม ING Bank และกระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 30.1% และ 26.1% ของหุ้นทั้งหมดตามลำดับ ผลประกอบการของธนาคารในปี 2551 ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2550 โดยธนาคารรายงานผลกำไร 424 ล้านบาทในปี 2551 จากที่ขาดทุนสูงถึง 43.67 พันล้านบาทในปี 2550 ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 16.3% ในปี 2551 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2550 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่งซึ่งอยู่ที่ 6.9% อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน รวมทั้งยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 0.9 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.8 เท่า แสดงให้เห็นถึงเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับขาดทุนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงในอนาคต ธนาคารมีแผนในการขายหนี้เสียจำนวนประมาณ 3 พันล้านบาทภายในครึ่งหลังของปี 2552 ซึ่งจะทำให้คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารดีขึ้น

ผู้บริหารในตำแหน่งที่สำคัญของธนาคารซึ่งได้แก่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความเสี่ยง (CRO) และประธานกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ (Head of Retail Banking) ได้รับการแต่งตั้งโดย ING Bank ส่วนกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ได้รับการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบร่วมกันของกระทรวงการคลัง และ ING Bank ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ได้รับแต่งตั้งในเดือนกรกฎาคม 2551 และคณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคารได้รับการแต่งตั้งครบทั้งคณะในเดือนมีนาคม 2552 โดยคณะผู้บริหารทั้งหมดเป็นที่รู้จักในวงการธนาคารและต่างมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารระดับอาวุโสจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มาก่อน ภารกิจสำคัญในปี 2552 คือการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยง การจัดโครงสร้างทรัพยากรบุคคลใหม่ รวมถึงการปฏิรูปสาขาและขยายช่องทางการให้บริการ ทั้งนี้ คณะผู้บริหารใหม่จะต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์และขยายฐานสินทรัพย์ที่ทำกำไรท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทริสเรทติ้งกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ