ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. น้ำตาลมิตรผล” ที่ “A+/Stable”

จันทร์ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๕ ๑๗:๓๔
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนได้ต่อไป แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงอย่างมาก แต่ก็คาดว่าความต้องการเอทานอลจะยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากรัฐบาลยังคงมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ระบบการแบ่งปันรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ ตลอดจนการกระจายตัวของแหล่งรายได้จะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้แก่ราคาน้ำตาลที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน หรือการลงทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนอ่อนแอลง ในขณะที่ปัจจัยเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีอยู่ไม่มากในภาวะที่ราคาน้ำตาลยังอยู่ในระดับต่ำ

บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจซึ่งถือหุ้นในบริษัทเต็ม 100% ผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในฤดูการผลิต 2556/2557 บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลจาก 4 ประเทศรวมทั้งสิ้น 4.08 ล้านตัน

บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งนี้ ในฤดูการผลิต 2556/2557 บริษัทผลิตน้ำตาลได้ 2.3 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.3% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.17 ล้านตันในปีการผลิต 2556/2557 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.7% ในประเทศจีนซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ส่วนโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาวผลิตน้ำตาลได้ 0.04 ล้านตัน และในประเทศออสเตรเลีย (โรงงาน MSF Sugar -- MSF) ผลิตได้ 0.56 ล้านตันในฤดูการผลิต 2556/2557 นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการพัฒนาโรงงานน้ำตาลในประเทศกัมพูชาด้วย แต่ได้ระงับการพัฒนาโครงการมา 2-3 ปีแล้ว ในเดือนตุลาคม 2557 บริษัทได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการดังกล่าวไป โดยคาดว่าจะมีการตัดจ่ายเงินลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรวมมูลค่า 200-300 ล้านบาท

ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรจากการดำเนินงานในสัดส่วนที่สูงที่สุดของบริษัท ในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวม 84,331 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วน 81% ของรายได้รวม และรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในไทยมีสัดส่วน 41% ในขณะที่รายได้จากประเทศจีนมีสัดส่วน 33% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังมีจำนวนไม่มาก

นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตวัสดุทดแทนไม้ และธุรกิจผลิตกระดาษ บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตเอทานอลและไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ณ เดือนกันยายน 2557 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทมีกำลังการผลิตที่ 960,000 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 442.8 เมกะวัตต์ด้วย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 15% ของรายได้รวมของบริษัท และบริษัทได้วางเป้าหมายว่าภายในปี 2563 บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวน 200 เมกะวัตต์นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากชานอ้อยจำนวน 100 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน

ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2557 เนื่องจากยังคงมีอุปทานน้ำตาลส่วนเกินทั่วโลกต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 4 ตามรายงานของ The United States Department of Agriculture หรือ USDA แจ้งว่าราคาขายน้ำตาลทรายดิบปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องโดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 16.34 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2557 คิดเป็นอัตราการลดลง 6.4% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยของปี 2556 แม้ว่าราคาน้ำตาลจะลดลง แต่รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ก็ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยรายได้เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 71,489 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณขายน้ำตาลจากการดำเนินงานในประเทศไทยและออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 25.2% ในขณะที่รายได้จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้ารวมกันเพิ่มขึ้น 31.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยเหล่านี้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนที่ลดลง 21.7% อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจน้ำตาลลดลงตามราคาน้ำตาลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนอ้อยที่สูงจากนโยบายการกำหนดราคาอ้อยของรัฐบาลจีนเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ด้วย อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงลดลงเป็น 15.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 จาก 17.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ทรงตัวอยู่ที่ 13,133 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 13,177 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลจากกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าที่เติบโตซึ่งช่วยบรรเทาการลดลงของกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจน้ำตาล เงินปันผลที่ได้รับเพิ่มขึ้นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ EBITDA ทรงตัว อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายยังคงอยู่ในระดับน่าพอใจแม้จะอยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรมน้ำตาลชะลอตัว โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงมาอยู่ในระดับ 7.0 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 8.8-9.2 เท่าในปี 2553 และ 2555 ซึ่งเป็นปีที่อุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่ในภาวะปกติ อัตราส่วนเงินทุนจาก

การดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังอยู่ในระดับเพียงพอที่ 20.5% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) อัตราส่วนการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 51.7% ณ เดือนกันยายน 2557 จากระดับ 48.7% ณ เดือนกันยายน 2556 เนื่องจากบริษัทออกหุ้นกู้รวมจำนวน 6,100 ล้านบาทในเดือนกันยายน 2557 บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 6,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2558-2559 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554-2557 ที่ผ่านมาที่บริษัทมีการซื้อสินทรัพย์และการลงทุนรวมจำนวน 10,000-20,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงชะลอตัวในช่วงอุตสาหกรรมน้ำตาลประสบภาวะตกต่ำตามวัฏจักร แต่คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้จากภาระการลงทุนระดับปานกลางในระยะ 2 ปีข้างหน้า

สำหรับฤดูการผลิต 2557/2558 คาดว่าผลผลิตอ้อยในประเทศไทยจะลดลงอยู่ที่ระดับ 95-100 ล้านตัน จาก 103.7 ล้านตันในปี 2556/2557 โดยผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยจะปรับตัวลดลงเช่นกันเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ราคาน้ำตาลจะยังคงอ่อนแอในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากยังมีปริมาณน้ำตาลคงเหลือจำนวนมากทั่วโลก USDA คาดการณ์ว่าในฤดูการผลิต 2557/2558 ทั่วโลกจะผลิตน้ำตาลรวม 172.5 ล้านตันซึ่งใกล้เคียงกับฤดูการผลิต 2556/2557 ที่ 175.0 ล้านตัน โดยคาดว่าผลผลิตน้ำตาลจะลดลงในประเทศบราซิล จีน และไทย ในขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลจะเติบโต 2.2% เป็น 171.0 ล้านตันจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนและอินเดีย ทั้งนี้ USDA คาดว่าปริมาณน้ำตาลคงเหลือจะลดลงเล็กน้อย แต่นับว่าเป็นการลดลงปีแรกหลังจากปริมาณน้ำตาลคงเหลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำตาลคงเหลือที่มีอยู่จำนวน 43.6 ล้านตันสำหรับฤดูการผลิต 2556/2557 ตามประมาณการของ USDA จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำตาลในอนาคตอันใกล้นี้

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)

อันดับเครดิตองค์กร: A+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MPSC155B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+

MPSC156A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+

MPSC15OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+

MPSC165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+

MPSC16OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+

MPSC16OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+

MPSC175A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+

MPSC185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+

MPSC18OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+

MPSC199A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+

MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC20OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+

MPSC233A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

MPSC249A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

MPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ