ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น” ที่ “A” จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทที่ระดับ “A” และเปลี่ยนแนวโน

พฤหัส ๐๗ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๒:๑๐
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A” อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” แนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนลงซึ่งเป็นผลจากความต้องการโรงงานให้เช่าที่ลดลงและการลดลงของกระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับการรองรับชำระหนี้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่อันดับเครดิต “A” ยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตได้พิจารณาถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและเศรษฐกิจโลกที่ต่ำกว่าคาดการณ์ซึ่งอาจส่งผลลบต่อการลงทุนและความต้องการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทที่อ่อนแอลงกว่าคาดและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้หากบริษัทสามารถรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 60% และมีความสามารถในการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทต้องใช้เวลาที่ยาวนานในการฟื้นฟูความแข็งแกร่งทางการเงิน

บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 ณ เดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 63 แห่งและมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 74 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่โลจิสติกส์หลักของประเทศ รวมเป็นพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 506,948 ตารางเมตร (ตร.ม.)

ณ เดือนมีนาคม 2558 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยังคงเป็น บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (43.5%) กลุ่มซิตี้เรียลตี้ (7%) และกลุ่มผู้บริหารของบริษัท (5.8%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากการใช้ทีมงานก่อสร้างของบริษัทเอง ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ากระจายตัวอยู่ในทำเลต่าง ๆ 18 แห่งและมีคลังสินค้าให้เช่าใน 32 ทำเล รายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่าบริษัทยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทยในปี 2557 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทและบริษัทในเครือมีส่วนแบ่งทางการตลาดในโรงงานให้เช่าลดลง โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่คิดจากพื้นที่โรงงานที่มีผู้เช่าลดลงจาก 66% ในปี 2553 เป็น 46% ณ เดือนธันวาคม 2557 สำหรับธุรกิจคลังสินค้าให้เช่านั้น บริษัทเป็น 1 ใน 2 ของผู้ให้บริการคลังสินค้าให้เช่ารายใหญ่ของไทย โดยพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทและบริษัทในเครือคิดเป็น 46% ของพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าทั้งประเทศ

ในช่วงระหว่างปี 2557 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2558 พื้นที่ให้เช่าของบริษัทที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นคลังสินค้า ในปี 2557 พื้นที่ให้เช่าของบริษัท (หากไม่นับรวมผลกระทบจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนหรือทรัสต์) เพิ่มขึ้น 280,156 ตร.ม. โดยประมาณ 89% เป็นพื้นที่คลังสินค้า พื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทเพิ่มขึ้น 248,666 ตร.ม. ในปี 2557 เทียบกับการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 135,000 ตร.ม. ในช่วงระหว่างปี 2554-2556 การเติบโตของพื้นที่คลังสินค้าของบริษัท เกิดจากความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคกลางบริเวณถนนบางนา-ตราด นอกจากนี้ บริษัทยังมีผู้เช่าที่เซ็นสัญญาล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2556 เป็นจำนวนมากด้วย พื้นที่โรงงานให้เช่าของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 31,490 ตร.ม. ในปี 2557 ทั้งนี้ ความต้องการโรงงานให้เช่าในเขตที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ยังคงไม่ฟื้นตัว โดยพื้นที่บริเวณนี้คิดเป็น 23% ของพื้นที่ว่างให้เช่าทั้งหมดของบริษัท ความต้องการจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของโรงงานให้เช่ายังคงลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นอกจากนี้ ความต้องการโรงงานให้เช่ายังลดลงเนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจยานยนต์ด้วย ในไตรมาสแรกของปี 2558 บริษัทมีพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าเพิ่มขึ้น 65,200 ตร.ม. ในขณะที่โรงงานให้เช่าเพิ่มขึ้นเพียง 3,350 ตร.ม.

ถึงแม้พื้นที่ให้เช่ารวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราการให้เช่าพื้นที่ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราการให้เช่าไม่รวมพื้นที่เช่าล่วงหน้า (Pre-leased Area) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 เท่ากับ 55% เทียบกับระดับ 73% ณ สิ้นปี 2555 อัตราการให้เช่าพื้นที่ที่ต่ำมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่บริษัทลงทุนสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติมในพื้นที่ใหม่ ๆ จำนวนมากและอัตราการเช่าโรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัว

รายได้ค่าเช่าของบริษัทในปี 2557 ลดลง 13% จาก 1,110 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 966 ล้านบาทในปี 2557 อันเป็นผลเนื่องมาจากการที่บริษัทขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากในช่วงปลายปี 2556 รวมทั้งจำนวนผู้เช่าใหม่ที่ย้ายเข้ามาในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ยังมีไม่มาก รายได้จากการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust -- REIT) หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัท โดยรายได้จากการขายสินทรัพย์เท่ากับ 4,460 ล้านบาทในปี 25557 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2555-2556

อัตรากำไรของบริษัทลดลงอย่างมาก ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจโรงงานให้เช่ายังคงแข็งแกร่ง แต่กำไรขั้นต้นของธุรกิจคลังสินค้าปรับตัวลดลงเนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและสัดส่วนโรงงานให้เช่าที่สร้างตามความต้องการของลูกค้า(Built-to-Suit) ที่เพิ่มมากขึ้น โดยโรงงานเหล่านี้มีสัญญาเช่าระยะยาวและมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าคลังสินค้าแบบสร้างสำเร็จ (Ready-built) เมื่อรวมกับสัดส่วนรายได้จากโรงงานให้เช่าที่ลดลงแล้วทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทลดลงจาก 39.3% ในปี 2556 เป็น 29.3% ในปี 2557 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอยู่ที่ระดับ 1,603 ล้านบาทในปี 2557 จาก 2,000 ล้านบาทในปี 2555-2556

บริษัทมีภาระหนี้เงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 15,679 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 เป็น 17,229 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการลงทุนจำนวนมากเพื่อเพิ่มโรงงานและคลังสินค้าในหลายทำเลทั่วประเทศ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากความสำเร็จในการเพิ่มทุน โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 60% ณ สิ้นปี 2557 จาก 64.3% ณ สิ้นปี 2556 อัตราส่วนกระแสเงินสดส่วนเกินเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัท ณ สิ้นปี 2557 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงเท่ากับ 2.9 เท่าในปี 2557 เทียบกับ 4.4-7 เท่าในช่วงปี 2552-2556 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอ่อนลงมาอยู่ที่ระดับ 9.3% ในปี 2557 เทียบกับ 10.1%-20.7% ในช่วงปี 2552-2556

ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากบริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2560 เพื่อพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าในหลายทำเล อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความยืดหยุ่นในการจัดหาเงินทุนโดยบริษัทสามารถระดมเงินลงทุนบางส่วนได้จากการขายสินทรัพย์เข้า REIT ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้และเพิ่มกระแสเงินสดให้แก่บริษัท ในปี 2558 บริษัทยังมีแผนจะขายสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาทเข้า REIT

บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON)

อันดับเครดิตองค์กร: A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TICON155A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A

TICON158A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A

TICON162A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A

TICON165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A

TICON165B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A

TICON169A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A

TICON171A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A

TICON171B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A

TICON177A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A

TICON177B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A

TICON178A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A

TICON181A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A

TICON185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A

TICON187A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 350 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A

TICON189A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A

TICON19OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 620 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A

TICON191A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A

TICON205A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A

TICON217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A

TICON229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2568 A

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ