e-Payment ลั่นดันเศรษฐกิจดิจิตอล

พุธ ๐๖ กรกฎาคม ๒๐๑๖ ๑๐:๔๑
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics แนะจับตา e-Payment ดึงดูดผู้บริโภคและภาคธุรกิจใช้งานตามเทรนด์ดิจิตอล ดัน GDP ขยายตัว หวังรัฐและผู้ให้บริการสร้างความเชื่อมั่นว่าทำธุรกรรมได้ปลอดภัย

ปัจจุบัน เทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบันได้ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่ม Generation Y ซึ่งมีพฤติกรรมที่ชอบความสะดวกสบาย ความรวดเร็วและมีความเป็นตัวเองสูง ภาคธุรกิจจำเป็นที่จะต้องปรับตัวรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยตอบสนองความต้องการด้านผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้า การนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจทั้งในด้านการจัดการต้นทุนหรือการคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อนำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเชิงกายภาพไปเป็นรูปแบบดิจิตอล เช่น การเรียกใช้บริการ Taxi ที่ต้องเรียกตรงถนนเปลี่ยนเป็นเรียกผ่าน Application ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ส่งผลธุรกิจที่ยังไม่ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอลเป็นอย่างมาก เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา Blockbuster ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเช่าวิดีโอต้องปิดกิจการลงเพราะลูกค้าหันไปใช้บริการ Netflix ซึ่งเป็นผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งออนไลน์ ซึ่งจากรายงานของ Citi Global Perspectives and Solutions พบว่า ส่วนแบ่งตลาดของกลุ่มบริษัทที่ไม่ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอลจะค่อยๆลดลงปีละ 1.6% จนถึงปีที่ 4 และหลังจากนั้นจนถึงปีที่ 10 ส่วนแบ่งตลาดจะหายไปโดยเฉลี่ยถึงปีละ 6% เลยทีเดียว ช่องทางดิจิตอลที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยคือการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซ ทั้งในการจองโรงแรมหรือที่พัก การซื้อสินค้าทั้งผ่าน Website หรือ Social Network ซึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่า 2 ล้านล้านบาทขยายตัวเฉลี่ยถึงปีละ 65% ซึ่งจุดแข็งที่ผู้บริโภคเลือกใช้ช่องทางนี้เพราะว่าความสะดวกสบายในการชำระเงินและโอนเงิน ส่งผลให้การชำระเงินและโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตขยายตัวเฉลี่ยปีละ 36% คิดเป็นมูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท

คำถามที่ตามมาคือทำอย่างไรที่ธุรกิจธรรมดาที่ไม่ใช่อีคอมเมิร์ซถึงจะปรับตัวเข้ากับยุคดิจิตอลได้? รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวนี้ จึงได้ร่วมพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment ขึ้นเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่ชอบความสะดวกสบายในการธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือแทนที่จะต้องถือเงินสด ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจทั้งหมดได้ประโยชน์การการชำระเงินที่ง่ายขึ้น

ในแง่ของผู้บริโภค e-Payment ตอบสนองความต้องการในด้านความสะดวก การซื้อสินค้าไม่จำเป็นต้องพกเงินสด สามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรือเลขบัตรประชาชนในการโอนเงินเพื่อชำระสินค้าได้ สามารถตัดสินใจในการซื้อและชำระเงินได้รวดเร็ว นอกจากนั้นแล้วการที่มีธุรกรรมผ่านธนาคารทำให้มีการเข้าถึงทางการเงินเพิ่มขึ้นนำมาซึ่งโอกาสในการเข้าถึงแหล่งการเงินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลถึงทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดการบริโภคโดยรวมของทั้งประเทศสูงขึ้น

ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวตามผู้บริโภคโดยรับชำระเงินผ่านช่องทาง e-Payment ซึ่งการที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อและชำระเงินได้เร็วนำมาซึ่งวงจรธุรกิจที่หมุนเร็วขึ้น ทำให้ต้นทุนการสต๊อกสินค้าลดลงและยังส่งผลไปยังราคาที่สามารถปรับลดลงได้ ซึ่งท้ายที่สุดผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากราคาที่ถูกลงหรือบริการที่ดีขึ้น นอกจากนั้นการใช้ e-Payment ผ่านระบบธนาคารทำให้ธนาคารสามารถตรวจสอบการชำระเงินย้อนหลังได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องและมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น นำมาซึ่งโอกาสในการขอสินเชื่อเพื่อนำมาขยายกิจการ สุดท้ายจะทำให้การลงทุนโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้น

จากผลการศึกษาของ Moody's Analytics ในเรื่อง e-Payment ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าหากประเทศไทยมีการใช้สัดส่วน e-Payment เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.02% ซึ่งเมื่อรวมกับที่ศูนย์วิเคราะห์ฯคาดว่าสัดส่วนการใช้ e-Payment ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 50% ของการชำระเงินโดยรวมจะเพิ่มขึ้นปีละ 5% ดังนั้น การใช้ e-Payment จะผลักดันให้ GDP สูงขึ้นเป็นมูลค่า 13,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 0.1%

ทั้งนี้การที่จะให้ e-Payment เป็นที่ยอมรับในวงกว้างจำเป็นที่รัฐและผู้ให้บริการรับชำระเงินจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจว่าระบบการชำระเงินแบบเสมือนจริงนี้มีความปลอดภัยในการใช้งานมากกว่าการใช้เงินสด ทั้งในแง่ระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น ป้องกันการ Hack หรือ ปลอมแปลงตัวตนของผู้ทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้น จะนำมาซึ่งจำนวนธุรกรรมที่สูงขึ้น ท้ายที่สุด การใช้ e-Payment ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจะดันให้เศรษฐกิจขยายตัวตามไปในยุคดิจิตอลนี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา