เช็คความพร้อมตรวจก่อนแต่งให้มั่นใจไร้กังวล

อังคาร ๒๔ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๐:๐๘
โดย แพทย์หญิง นิศานาถ บุญอิ้งสูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า

การแต่งงานเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่อย่างเป็นทางการตามประเพณี และบอกให้รู้ว่าคู่รักจะต้องรับผิดชอบชีวิตของกันและกันให้ดีและมีความสุขมากที่สุด การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวิธีการที่จะทำให้คู่รักมีความสุข ตรวจหัวใจของตนเองให้แน่ชัด ตรวจทานอุปนิสัยทั้ง ด้านดีและไม่ดี ตรวจความพร้อมทางอารมณ์ และจำต้องตรวจสุขภาพร่างกายด้วย

แพทย์หญิง นิศานาถ บุญอิ้ง สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานมีความสำคัญอย่างมากสำหรับคู่รักที่วางแผนสร้างครอบครัวและอยากมีลูก เพราะจะทำให้ได้รู้เท่าทันว่าฝ่ายใดมีโรคที่จะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่เจ้าตัวเล็กที่จะเกิดมาในอนาคต หรือฝ่ายใดมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจจะยังไม่ปรากฏอาการให้เห็น อย่าคิดว่าเป็นการไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะการตรวจทั้งหมดนี้ก็เพื่อคนที่คุณรักและตัวคุณเอง เพราะถ้าหากพบความผิดปกติจะได้หาทางรักษา และป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ประกอบไปด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยแพทย์และการตรวจเลือด การซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อหาว่าผู้เข้ารับการตรวจมีปัญหาสุขภาพ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคใดๆ อยู่บ้าง และแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อหาความผิดปกติของร่างกาย ถ้าพบความผิดปกติ จะได้เลือกการตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสมต่อไป แต่ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายมีประวัติสุขภาพและการตรวจร่างกายทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรได้รับการตรวจเลือด ดังนี้ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC) เป็นการตรวจวัดเซลล์ต่างๆ ในเลือดประกอบไปด้วย เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ตรวจหมู่โลหิตทั้งในระบบเอ บี โอ(ABO system) และระบบอาร์เอช(Rh system) ที่สำคัญคือหมู่โลหิตระบบ อาร์เอช(Rh system) โดยทั่วไปคนไทยจะเป็นอาร์เอชบวก(Rh positive) แต่บางคนก็อาจพบได้ว่ามีชนิดอาร์เอชลบ(Rh negative) ซึ่งถ้าฝ่ายว่าที่คุณแม่มีเลือดเป็นอาร์เอชลบ(Rh negative) เมื่อตั้งครรภ์อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกหรือมีปัญหาต่อทารกในครรภ์ได้ ถ้าทราบก่อนก็จะทำให้สามารถวางแผนการดูแลรักษาขณะตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาต่อทารกในครรภ์และลูกคนถัดไป ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ตรวจหาเชื้อเอชไอวี (Anti HIV) เป็นการตรวจหาว่ามีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อ ไวรัสเอชไอวีเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าเลือดผู้ป่วยมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น เรียกว่าเลือดบวกต่อการตรวจภูมิต้านทานต่อไวรัสเอชไอวี แสดงว่าผู้ป่วยได้รับการติดเชื้อมาแล้ว ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส การตรวจ VDRL เป็นการตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิสในร่างกาย แต่การตรวจนี้ไม่ได้ยืนยันการติดโรคซิฟิลิส เพราะ VDRL มีผลบวกนั้นมีผลมากจากภาวะต่างๆของ ร่างกายได้หลายอย่าง ถ้าตรวจ VDRL ได้บวก แพทย์ต้องตรวจยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิสอีกครั้ง ด้วยการตรวจ FTA-ABS หรือ TPHA หากพบว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีการติดเชื้อ จะได้รับการรักษาก่อนแต่งงานแล้วก็สามารถหายขาดได้และไม่มีการติดต่อไปยังอีกฝ่าย ซึ่งโดยส่วนมากมักวินิจฉัยได้จากการตรวจเลือดมากกว่าอาการที่ปรากฏ ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B profile) เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและภูมิคุ้มกัน หากพบว่ามีเชื้อแสดงว่าเป็นพาหะนำโรค ซึ่งสามารถติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์และเลือด ถ้าฝ่ายหญิงที่มีเชื้อไวรัสตัวนี้ จะมีโอกาสถ่ายทอดไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ ถ้าทารกไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเมื่อแรกคลอดก็อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังได้ ถ้าตรวจพบว่ายังไม่มีการติดเชื้อแต่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันตามความเหมาะสมต่อไป ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (Rubella IgG) ในฝ่ายหญิงซึ่งโดยทั่วไปจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน ตั้งแต่ในวัยเด็กแล้ว แต่ถ้าตรวจพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดไว้อย่างน้อยหนึ่งถึงสามเดือน เพราะหากว่ามีการติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมันขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ มีโอกาส ที่ทารกจะแท้ง หรือเกิดความพิการ เช่น สมองเล็ก หูหนวก ตาบอด ลิ้นหัวใจรั่ว ตัวเล็กหรืออาจรุนแรงถึง ขั้นตายก่อนคลอด ตรวจหาความผิดปกติของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง(Hemoglobin Typing) ว่ามีความผิดปกติของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือไม่ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

การที่ต้องตรวจหาโรคนี้เนื่องจากสถิติพบว่ามีคู่แต่งงานที่ทั้ง 2 ฝ่าย มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีอาการผิดปกติใดๆมาก่อน จึงทำให้ไม่ทราบว่าตนเองทั้งคู่นั้น ต่างก็เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย แต่เมื่อมีลูก กลับพบว่าลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ซึ่งอาจจะส่งผลตั้งแต่ตั้งครรภ์ เช่น แท้ง เสียชีวิตก่อนคลอด ทารกบวมน้ำ หรือบางชนิดหากมีชีวิตรอดก็ต้องได้รับการถ่ายเลือดตลอดชีวิต มีการเจริญเติบโตช้า ติดเชื้อง่าย มีชีวิต ไม่ยืนยาว ซึ่งถ้าตรวจพบก่อนว่าคู่แต่งงานใดที่เป็นคู่ที่เสี่ยงจะมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง สูตินรีแพทย์จะได้ทำการให้คำปรึกษาและวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม

การตรวจก่อนแต่งงานนี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการวางแผนสร้างครอบครัว และสร้างความมั่นใจให้กับคู่สามีภรรยาที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน ด้วยสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพจิตใจที่เบิกบาน พร้อมที่จะสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา