เตรียมตัวดูฝนดาวตกลีโอนิดส์ 17-18 พ.ย.ศกนี้

ศุกร์ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๐๐๙ ๑๑:๓๗
นักดาราศาสตร์ประมาณการโอกาสเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์ในไทยสูงสุดช่วงเวลาประมาณ 04.43 น.ของเช้าวันที่ 18 พ.ย.อัตราความชุกที่ 100-500 ดวงต่อชั่วโมง! เยาวชนและผู้สนใจสามารถร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานเครือข่ายด้านดาราศาสตร์ได้ฟรี!

ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่ดูสวยงาม น่าสนใจ น่าตื่นเต้น และสามารถดูได้ง่ายด้วยตาเปล่า อีกทั้งยังเป็นการศึกษาเรียนรู้และเข้าใจเรื่องของธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

สาเหตุของการเกิดฝนดาวตก เกิดจากดาวหางซึ่งเป็นก้อนน้ำแข็งที่ประกอบด้วยฝุ่นหินเกาะกลุ่มกันจำนวนมาก เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ก้อนน้ำแข็งจะเกิดการระเหิด ทิ้งแนวฝุ่นหินเป็นสายธารยาว เมื่อโลกโคจรเข้าไปตัดกับสายธารดังกล่าวนี้ เศษฝุ่นหินก็จะเคลื่อนตัววิ่งเข้ามาในบรรยากาศของโลกด้วยความเร็วสูง และเกิดการเสียดสีจนลุกไหม้ปรากฏเป็นขีดแสงสว่างให้เราเห็น ที่เราเรียกว่า “ฝนดาวตก” นั่นเอง

กรณีของฝนดาวตกลีโอนิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโตนี้ เกิดจากการที่โลกโคจรผ่านเข้าไปในซากสายธารฝุ่นหินของดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัดเทิล ที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งโดยปกติ คาบการโคจรของดาวหางดวงนี้คือ 33.2 ปี ซึ่งในปีที่ครบรอบคาบการโคจรของดาวหาง ก็จะเป็นการมาเติมเศษฝุ่นหินให้มากยิ่งขึ้น และเมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปในใจกลางสายธารของมัน ในปีนั้นโอกาสจะเกิดฝนดาวตกก็จะมีมากกว่าปีปกติ เราจึงเรียกว่าปรากฏการณ์ “พายุฝนดาวตก” ซึ่งจากบันทึกในอดีต ดังตัวอย่างในปี ค.ศ. 1966 ที่ฮาวาย ได้เกิดพายุฝนดาวตกที่มีอัตราการตกมากถึง 5-6 หมื่นดวงต่อชั่วโมง สำหรับชื่อของฝนดาวตกลีโอนิดส์ ก็มาจากการอ้างอิงกับแหล่งการเกิด คือ กลุ่มดาวสิงโต นั่นเอง คือแม้เราจะเห็นฝนดาวตกในทิศทางต่างๆ กัน แต่เมื่อเราลองลากเส้นย้อนกลับไปยังแหล่งการเกิดแล้ว ฝนดาวตกทุกดวงจะมาจากกลุ่มดาวสิงโต

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า “สำหรับในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ แม้จะไม่ใช่รอบปีของการเกิดพายุฝนดาวตกลีโอนิดส์ แต่เราก็จะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกในอัตราความชุกมากกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากการคำนวณของนักดาศาสตร์หลายสำนัก พบว่า โลกจะโคจรตัดผ่านเศษซากสายธารฝุ่นหินของดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัดเทิล ถึงสองสายธารด้วยกัน ที่ทิ้งร่องรอยไว้ในปี ค.ศ. 1466 และ 1533 โดยอัตราการตกราว 100-500 ดวงต่อชั่วโมง (อ้างอิงที่เมื่อกลุ่มดาวสิงโตมาอยู่ที่จุดกลางฟ้าเหนือศีรษะ) แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเห็นฝนดาวตกตลอดทั้งชั่วโมง และจำนวนฝนดาวตกที่เห็นก็ไม่ได้เห็นมากถึง 500 ดวง ตัวอย่างเช่น อัตราการตกที่ 400 ดวงต่อชั่วโมง เราเห็นแค่ช่วงเวลา 15 นาที นั่นคือ ในช่วงชั่วโมงนั้น เราจะเห็นดาวตกประมาณ 100 ดวง ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว”

สำหรับช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกสูงสุดในครั้งนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา กล่าวว่า “ตั้งแต่ตีหนึ่งเป็นต้นไป แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ดาวตกลูกสวยๆ มักจะมาตอนประมาณห้าทุ่ม เป็นเวลาที่กลุ่มดาวสิงโตเพิ่งขึ้นจากขอบฟ้า คือจะเห็นเป็นไฟร์บอลล์ (ดาวตกดวงใหญ่) วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าทิ้งร่องรอยให้เห็นเป็นลำสว่างทางยาวคล้ายรางรถไฟ ซึ่งความเร็วยังไม่สูงมาก ทำให้เราเห็นได้ง่าย สำหรับช่วงพีคสูงสุดของการตก นักดาศาสตร์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า คือเป็นเวลาประมาณ 04.43 น. ตามเวลาในบ้านเราของเช้าวันที่ 18 พ.ย.อัตราความชุกที่ 100-500 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งช่วงนั้นจะป็นเวลาที่ดาวสิงโตจะอยู่บริเวณกลางฟ้าพอดี นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การชมมากกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของโอกาส เพราะถึงเวลาจริง เราอาจจะเห็นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้”

สำหรับประโยชน์ของการชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับคนทั่วไปก็คงจะได้รับความตื่นเต้น ความสวยงาม และเป็นแรงบันดาลใจให้ไปศึกษาเรื่องปรากฏการณ์ฝนดาวตกหรือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่นๆ ต่อไป ส่วนนักวิจัยนั้น ก็จะศึกษาฝุ่นละอองรอบๆ ดวงอาทิตย์ ศึกษาวัตถุที่อยู่รอบๆโลกว่ามีอะไรบ้าง”

สถานที่จัดกิจกรรมชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์

ผู้ที่สนใจชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ในคืนวันที่ 17 พ.ย.ถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย.สามารถเข้าร่วมกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ ได้ ตามรายชื่อข้างล่างนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ภาคกลาง

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต คลองหก จ.ปทุมธานี มีการเปิดแสดงท้องฟ้าจำลองรอบพิเศษ เรื่อง “ฝนดาวตก” และชมภาพยนตร์ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ เรื่อง “องค์ประกอบชีวิต” (ภาพยนตร์ที่ฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาคตะวันออก

โรงเรียนชลราษฎรอำรุง อ.เมือง จ.ชลบุรี

โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ช่วงหัวค่ำตั้งกล้องดูดาวพฤหัสบดี

อ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ วนอุทยานเขาอีโต้ ตำบลบ้านพระ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี

ภาคเหนือ

มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

สนามหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดโดย ศูนย์ศึกษาดาราศาสตร์อุตรดิตถ์ ร่วมกับหอดูดาวอารียะและกลุ่มผู้ศึกษาฝนดาวตกในประเทศไทย

ทุ่งนาม่อนลับแล ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ จัดโดย กลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นเครือข่ายดาราศาสตร์ไทย และชุมชนฝายหลวงลับแล

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ภาคใต้

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ