กทม.เอาจริงเก็บป้ายผิดกฎหมายทั่วกรุง

พุธ ๐๒ ธันวาคม ๒๐๐๙ ๑๔:๐๒
เดินหน้าจัดระเบียบเมืองหลวง รื้อป้ายฝ่าฝืนติดตั้งในที่สาธารณะพร้อมเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิด ขณะที่ภาคเอกชนพร้อมหนุนงบจัดเก็บป้ายเถื่อนป้ายละ 1 บาทเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน ส่วนป้ายติดตั้งบนที่ดินของเอกชนเร่งจัดเก็บภาษีป้ายให้ถูกต้อง นำเงินพัฒนากรุงเทพฯ

ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจการจัดระเบียบ ป้ายโฆษณาผิดกฎหมายในที่สาธารณะ บริเวณซอยลาดพร้าว 71 ถ.นาคนิวาส ถ.เกษตร-นวมินทร์ และถ.ประดิษฐ์มนูธรรม ในพื้นที่เขตวังทองหลาง ลาดพร้าว บางกะปิ และบึงกุ่ม ตามมาตรการตรวจสอบ กวดขัน และจัดเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย พร้อมทั้งดำเนินคดีกับผู้ติดตั้ง ผู้ที่ลงโฆษณา หรือเจ้าของป้าย ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งกทม.ได้ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของป้าย และประชาชนในพื้นที่เขตรับทราบ พร้อมทั้งดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนตั้งแต่ 13 ต.ค.52 เป็นต้นมา

รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ภายหลังจากกทม.มีมาตรการจัดเก็บป้ายผิดกฎหมายรุกล้ำที่สาธารณะ พบว่าเจ้าของป้าย ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการเคลื่อนย้ายป้ายจากที่สาธารณะไปติดตั้งในที่ดินของเอกชนหรือหน่วยงานราชการแล้ว ซึ่งสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับกรุงเทพฯ มากขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงมีผู้ฝ่าฝืนแอบติดตั้งป้ายและใบปลิวผิดกฎหมาย โดยจากรายงานการจัดเก็บป้ายผิดกฎหมายในที่สาธารณะ ระหว่างเดือน ก.ย.-พ.ย.52 และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนตั้งแต่เดือน ต.ค.- พ.ย.52 ของ 4 พื้นที่เขต พบว่า เขตวังทองหลาง จัดเก็บป้ายทั้งสิ้น 4,253 ป้าย เปรียบเทียบปรับ 10 รายเป็นเงิน 18,700 บาท เขตลาดพร้าว จัดเก็บป้าย 17,228 ป้าย เปรียบเทียบปรับ 15 ราย เป็นเงิน 12,500 บาท เขตบางกะปิ จัดเก็บป้าย 1,955 ป้าย เปรียบเทียบปรับ 15 ราย เป็นเงิน 19,400 บาท และเขตบึงกุ่ม จัดเก็บป้าย 5,725 ป้าย เปรียบเทียบปรับ 8 รายเป็นเงิน 13,500 บาท ซึ่งจากนี้ไป กทม.จะดำเนินการทางกฎหมายและเปรียบเทียบปรับผู้ติดตั้งและเจ้าของป้ายอย่างจริงจัง พร้อมทั้งเปรียบเทียบปรับเป็นวงเงินเต็มอัตรา นอกจากนี้ มีภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท อินเด็กซ์ และบริษัทในเครือบีทีเอส ได้ให้การสนับสนุนเงินรางวัลสำหรับการจัดเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมายในที่สาธารณะ ป้ายละ 1 บาทแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งขณะนี้รวมมียอดเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนเป็นเงิน 300,000 บาท โดยกทม.ตั้งเป้าที่จะขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเป็นเงิน 1 ล้านบาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต่อไป

ดร.ธีระชน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการต่อไปที่ กทม.จะดำเนินการ คือ การจัดเก็บภาษีป้าย ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย ซึ่งเจ้าของป้ายโฆษณาที่ไปเช่าที่ดินเพื่อติดป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ในที่ดินของเอกชน หรือหน่วยงานราชการ ต้องมีหน้าที่ ชำระภาษีป้ายตามกฎหมาย หากเป็นป้ายใหม่จะต้องยื่นแบบขอติดตั้งภายใน 15 วันนับแต่วันติดตั้ง ณ สำนักงานเขตพื้นที่ให้ถูกต้อง ส่วนป้ายที่เป็นผู้ขออนุญาตรายเก่าให้ยื่นแบบการเสียภาษีแล้ว จะต้องชำระภาษีตามกำหนด ในช่วงเดือน ม.ค.- มี.ค.ของทุกปี ซึ่งหากฝ่าฝืนไม่ชำระภาษีป้ายจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับเต็มอัตราเป็นเงิน 50,000 บาท เพื่อเป็นรายได้ในการพัฒนากรุงเทพมหานครต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา