สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จัดพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2553 ประกาศเกียรติคุณ 11 องค์กรที่มีการบริหารจัดการระดับมาตรฐานโลก

ศุกร์ ๒๕ มีนาคม ๒๐๑๑ ๑๖:๒๓
สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จัดพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award - TQA) ประจำปี 2553 อย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ เพื่อประกาศเกียรติคุณองค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการองค์กรอย่างบูรณาการตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ และเปี่ยมด้วยคุณภาพทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก โดยได้รับเกียรติจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

การพิจารณามอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2553 ได้ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 10 โดยมีองค์กรเข้าร่วมโครงการถึง 43 องค์กร ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งภาคการผลิต สาธารณสุข บริการ การศึกษา และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งผลการตรวจประเมินองค์กรที่สมัครขอรับรางวัล TQA ประจำปี 2553 มีองค์กรผ่านการพิจารณาได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ 1 องค์กร ได้แก่ สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ในขณะที่รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class - TQC) ซึ่งเป็นรางวัลรองลงมา มีองค์กรที่ผ่านการพิจารณา 10 องค์กร ได้แก่

- บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ธุรกิจแปรรูปเนื้อไก่ สระบุรี

- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอาหารแปรรูปเนื้อไก่ (นครราชสีมา)

- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (โรงงานผลิตอาหารสัตว์ปักธงชัย)

- บริษัท ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (โรงงานแปรรูปเนื้อไก่และโรงงานอาหารแปรรูปมีนบุรี 1)

- บริษัท ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (สาขาหนองจอก)

- บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา เชียงใหม่ จำกัด

- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

- บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

- บริษัท รีเทลลิงค์ (ไทยแลนด์) จำกัด

- บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ท ฟู้ด จำกัด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปฏิรูประบบโครงสร้างต่างๆ ของประเทศไปสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งในส่วนของเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลมีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน ที่ถือว่าภาคธุรกิจเอกชน คือผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่การพัฒนาและความก้าวหน้าในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความแข็งแกร่งและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย เป็นหัวใจสำคัญอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องอาศัยศักยภาพของทุกหน่วยธุรกิจในประเทศ ที่จะสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งการพัฒนาองค์กรตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติถือได้ว่าเป็นแนวทางสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาองค์กร ทั้งในเรื่องกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจโลก คุณภาพของสินค้า และบริการ ประสิทธิภาพของบุคลากร และการใช้ทรัพยากรต่างๆ หากได้ขยายไปโดยทั่วถึงทุกภาคส่วนแล้ว ย่อมเกิดพลังแห่งการพัฒนา และผลักดันให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจไทยนั้นเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2545 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการองค์กรของไทย ให้มีวิธีปฏิบัติและผลการดำเนินการที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยองค์กรนำหลักเกณฑ์เป็นกรอบไปเปรียบเทียบกับระบบการบริหารจัดการของตน ทำให้ทราบถึงสภาพที่แท้จริงว่าระบบบริหารจัดการขององค์กรยังขาดตกบกพร่องในเรื่องใด เมื่อองค์กรปฏิบัติตามแผนจนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ มีความพร้อม ก็สามารถสมัครขอรับการตรวจประเมินได้ และไม่ว่าองค์กรจะผ่านเกณฑ์รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม องค์กรจะได้รับรายงานป้อนกลับซึ่งระบุจุดแข็ง และจุดที่ควรปรับปรุง ซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่อการนำไปวางแผนปรับปรุงองค์กรให้สมบูรณ์มากขึ้นต่อไป นั่นถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญไม่แพ้ความสำเร็จสำหรับองค์กรที่ได้รับรางวัลในวันนี้

นายสมภพ อมาตยกุล ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างมากที่ปี 2553 มีองค์กรที่เข้าขอรับการประเมินเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนทั้งหลายที่ให้ความสำคัญ ทำให้รางวัลนี้เป็นที่รู้จัก อันดับต่อมา ขอขอบคุณผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ผู้เป็นกำลังหลักในการผลักดันให้องค์กรเข้าสู่กระบวนการประเมินตามมาตรฐานของรางวัล และขอแสดงความยินดีและชื่นชมต่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในความมานะพยายามปรับปรุงระบบการบริหารองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอรับการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติในเวลาหลายปีที่ผ่านมา และท้ายที่สุด ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณหน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ที่ได้สละเวลา แรงกาย แรงใจ ร่วมกันตรวจประเมินองค์กรอย่างไม่ย่อท้อ

ความเป็นมาของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award - TQA) เริ่มต้นตั้งแต่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2539 เพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งรางวัลคุณภาพแห่งชาติขึ้นในประเทศไทย และด้วยตระหนักถึงความสำคัญของรางวัลนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงได้บรรจุรางวัลคุณภาพแห่งชาติไว้ในแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเผยแพร่ สนับสนุน และผลักดันให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาคการผลิตและการบริการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ องค์กรที่มีวิธีปฏิบัติและผลการดำเนินการในระดับมาตรฐานโลกจะได้รับการประกาศเกียรติคุณด้วยรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และองค์กรที่ได้รับรางวัลจะนำเสนอวิธีปฏิบัติที่นำองค์กรของตนไปสู่ความสำเร็จ เพื่อเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์ เพื่อให้ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อมีการขยายการดำเนินการไปอย่างกว้างขวาง ย่อมจะส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าโลกได้

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลระดับโลก (World Class) เนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านเทคนิค และกระบวนการการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์

วิสัยทัศน์

“รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นรางวัลอันทรงเกียรติซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กรที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก”

วัตถุประสงค์

1. สนับสนุนการนำแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้ในการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน

2. ประกาศเกียรติคุณให้กับองค์กรที่ประสบผลสำเร็จในระดับมาตรฐานโลก

3. กระตุ้นให้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ

4. แสดงให้นานาชาติเห็นถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานความเป็นเลิศในการบริหารจัดการ

ประโยชน์ต่อองค์กร

องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกประเภท ทุกขนาด ที่นำเกณฑ์เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ ซึ่งเป็นกรอบการประเมินคุณภาพระดับมาตรฐานโลกไปเปรียบเทียบกับระบบการบริหารจัดการของตน จะได้รับประโยชน์ในทุกขั้นตอน เริ่มจากการตรวจประเมินตนเอง ผู้บริหารจะทราบถึงสภาพที่แท้จริงว่าระบบการบริหารจัดการของตนยังขาดตกบกพร่องในเรื่องใด จึงสามารถกำหนดวิธีการและเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดทำแผนปฏิบัติการ และเมื่อองค์กรปฏิบัติตามแผนจนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ มีความพร้อม และตัดสินใจสมัครรับรางวัล องค์กรจะได้รับการตรวจประเมินด้วยกระบวนการที่มีประสิทธิผล โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้ตรวจประเมินโดยเฉพาะ และไม่ว่าองค์กรจะผ่านเกณฑ์รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม องค์กรจะได้รับรายงานป้อนกลับซึ่งระบุจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุง ซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่อการนำไปวางแผนปรับปรุงองค์กรให้สมบูรณ์มากขึ้นต่อไป

องค์กรที่ได้รับรางวัลจะเป็นที่ยอมรับจากองค์กรต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และมีสิทธิ์ใช้ตราสัญลักษณ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งสื่อถึงความเป็นเลิศในระบบการบริหารจัดการในการโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กร รวมทั้งมีโอกาสส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการนำเสนอวิธีปฏิบัติที่นำไปสู่ความสำเร็จและเปิดโอกาสให้มีการเข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์ เพื่อให้ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน

ประเภทและจำนวนรางวัล

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ไม่แบ่งประเภทและไม่จำกัดจำนวนรางวัล องค์กรที่มีคะแนนผลการตรวจประเมินสูงกว่า 650 คะแนน จะได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ส่วนองค์กรที่มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว แต่สูงกว่า 350 คะแนน จะได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC)

ความโปร่งใสในการคัดเลือกผู้ตรวจประเมิน

ในการตรวจประเมินจะเน้นความโปร่งใสและมีมาตรฐาน โดยผู้ตรวจประเมินมาจากผู้บริหารองค์กรที่ต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด และได้รับการฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญตามมาตรฐานรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (MBNQA) ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เป็นผู้ตรวจประเมิน และหลังจากการทำหน้าที่ผู้ตรวจประเมินจะต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์ ยุติธรรม และรับผิดชอบต่อสาธารณะ เช่น ไม่ทำตัวขัดแย้งกับวัตถุประสงค์หรือแสวงหาผลประโยชน์จากรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ ซึ่งมีผลต่อกระบวนการพิจารณาให้รางวัลไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต ไม่รับผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์พิเศษใดๆ จากการปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจประเมิน ดังนั้นจึงต้องไม่ตรวจประเมินองค์กรที่ว่าจ้างตนหรือองค์กรในเครือ รวมทั้งองค์กรที่ตนให้บริการปรึกษาแนะนำอยู่ หรือที่กำลังจะให้บริการปรึกษาแนะนำ ไม่ตรวจประเมินคู่แข่ง ลูกค้า คู่ค้าหลักขององค์กรที่ว่าจ้างตนหรือองค์กรในเครือ หรือองค์กรที่มีผลประโยชน์ทางด้านการเงิน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการปรึกษา แนะนำ เป็นต้น

เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ แบ่งเป็น 7 หมวด ได้แก่

หมวด 1 การนำองค์กร

หมวด 2 การวางแผนเชิงกลยุทธ์

หมวด 3 การมุ่งเน้นลูกค้า

หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้

หมวด 5 การมุ่งเน้นบุคลากร

หมวด 6 การจัดการกระบวนการ

หมวด 7 ผลลัพธ์

การขยายผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ได้ถูกนำไปใช้เป็นกรอบการพัฒนารางวัลคุณภาพอื่นๆ ในภาครัฐและเอกชนอย่างแพร่หลาย เช่น มาตรฐานโรงพยาบาลและการบริการสุขภาพ (Hospital Accreditation หรือ HA) การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award หรือ PMQA) เกณฑ์การประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Performance Appraisal หรือ SEPA) หนังสือเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ได้ถูกพิมพ์และแจกจ่ายมากกว่า 70,000 เล่ม มีองค์กรที่สมัครขอรับรางวัลมากกว่า 100 องค์กร และผู้สนใจที่เข้ารับการฝึกอบรมเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติกว่า 100,000 คน มีองค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) 3 องค์กรซึ่งเป็นองค์กรด้านการผลิตทั้งหมด และมีองค์กรที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC) 22 องค์กร ประกอบด้วย องค์กรด้านการผลิต 15 องค์กร (ในที่นี้เป็นองค์กร SMEs 1 องค์กร) องค์กรด้านการบริการ 3 องค์กร องค์กรด้านการดูแลสุขภาพ 3 องค์กร และองค์กรด้านการศึกษา 1 องค์กร

บริษัทที่ได้รับรางวัล TQA และ TQC

ปี 2545 บริษัท ไทยอคริลิค ไฟเบอร์ จำกัด ได้รับรางวัล TQA

บริษัท ไทยคาร์บอนแบล็ค จำกัด (มหาชน) / บริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด / บริษัท ดาน่า สไปเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด / บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด / ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท สยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ได้รับรางวัล TQC

ปี 2546 บริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ได้รับรางวัล TQA

บริษัท ไทยคาร์บอนแบล็ค จำกัด (มหาชน) / บริษัท สยาม มิตซุย พีทีเอ จำกัด / ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / บริษัท สยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด และ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ได้รับรางวัล TQC

ปี 2547 ไม่มีองค์กรใดได้รับรางวัล TQA

บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) / บริษัท ดาน่า สไปเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด / บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) / บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด / โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สแปนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับรางวัล TQC

ปี 2548 ไม่มีองค์กรใดได้รับรางวัล TQA

บริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด (กิจการอาหารสำเร็จรูปแช่เยือกแข็ง) / บริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด (กิจการเบเกอรี่) / บริษัท ชัยบูรณ์บราเดอร์ส จำกัด และ โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล TQC

ปี 2549 โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล TQA

บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ได้รับรางวัล TQC

ปี 2550 ไม่มีองค์กรใดได้รับรางวัล TQA

สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้รับรางวัล TQC

ปี 2551 ไม่มีองค์กรใดได้รับรางวัล TQA

สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) / บริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด(มหาชน) / โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ตะพานหิน ได้รับรางวัล TQC

ปี 2552 ไม่มีองค์กรใดได้รับรางวัล TQA

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) / สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) / บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (โรงงานผลิตอาหารสัตว์ปักธงชัย) ได้รับรางวัล TQC

ปี 2553 สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล TQA

บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ธุรกิจแปรรูปเนื้อไก่ สระบุรี / บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอาหารแปรรูปเนื้อไก่ (นครราชสีมา) / บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (โรงงานผลิตอาหารสัตว์ปักธงชัย) / บริษัท ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (โรงงานแปรรูปเนื้อไก่และโรงงานอาหารแปรรูปมีนบุรี 1) / บริษัท ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (สาขาหนองจอก) / บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา เชียงใหม่ จำกัด / บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) / บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) / บริษัท รีเทลลิงค์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ท ฟู้ด จำกัด ได้รับรางวัล TQC

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ

ส่วนประชาสัมพันธ์ แผนกประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

โทร. 0-2619-5500 ต่อ 404, 405 (รุ่งอรุณ, ชื่นขวัญ)

โทรสาร 0-2619-8096, 0-2619-8070

e-mail:[email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา