กกพ. เป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานอย่างโปร่งใส เพื่อความมั่นคงของกิจการพลังงานไทย

พฤหัส ๒๘ เมษายน ๒๐๑๑ ๐๙:๐๐
“กกพ. เป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานอย่างโปร่งใสเพื่อความมั่นคงของกิจการพลังงานไทย สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนมีความเชื่อถือได้ โดยมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”

ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ จนถึงวันนี้ นับเป็นระยะเวลาประมาณ๓ ปี ๓ เดือน กกพ. ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการกำกับกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ซึ่งสรุปผลงานที่สำคัญเป็น ๕ ด้าน ดังนี้

๑. ด้านมาตรฐานกิจการพลังงาน กกพ. ได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อให้การกำกับกิจการพลังงานผ่านใบอนุญาตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สรุปได้ดังนี้

- พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน กกพ. ได้พิจารณาออกใบอนุญาตไปแล้วทั้งสิน ๑,๓๔๕ ราย ประกอบด้วย ใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ๓๕๑ ราย ใบอนุญาตประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ ๙ ราย ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า ๑๙๖ ราย และใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม ๗๘๙ ราย

- จัดทำการร่างหลักเกณฑ์ปฏิบัติในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Code of practice — COP) สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า ๑๐ เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยให้ลดปัญหาการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำร่างระเบียบ กกพ. เพื่อรองรับการพิจารณาการอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐

- กำกับดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง เชื่อถือได้ และปลอดภัย โดยการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินมาตรฐานคุณภาพบริการ มาตรฐานทางวิศวกรรม และความปลอดภัยในกิจการพลังงานของผู้ประกอบกิจการพลังงานอย่างใกล้ชิด และติดตั้งระบบการรายงานผลการตรวจวัดระดับการปล่อยมลพิษแบบออนไลน์ (Continuous Emission Monitoring System : CEMS)

๒) ด้านประสิทธิภาพกิจการพลังงาน กกพ. ได้ดำเนินการ ดังนี้

- การกำกับดูแลอัตราค่าบริการให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นธรรม และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การกำกับดูแลค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ซึ่งจะพิจารณาปรับทุก ๔ เดือน โดยล่าสุด กกพ. ได้มีมติได้เห็นชอบค่า Ft ขายปลีกที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม - เมษายน ๒๕๕๔ เท่ากับ ๘๖.๘๘ สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

และการปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าบริการสำหรับการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการยังคงเท่ากับ ๒๑.๗๗ บาท/ล้านบีทียู และศึกษาการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมเพื่อใช้กำหนดโครงสร้าง ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยสำหรับปี ๒๕๕๔-๒๕๕๘ นอกจากนั้นแล้ว กกพ. ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ(LNG Receiving Terminal Tariff) โดยได้นำความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว

- การส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในระบบพลังงานของประเทศ โดย กกพ. ได้เสนอความเห็น ต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า แผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้า แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงาน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ กกพ. ยังได้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยได้จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และยกร่างประกาศการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้การไฟฟ้าออกประกาศการรับซื้อต่อไป

๓) ด้านการบริหารจัดการและการแข่งขันในกิจการพลังงาน ได้ให้ความสำคัญวางระบบโครงข่ายพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดและการกำกับจัดหาพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมา กกพ. ได้ดำเนินการ ดังนี้

- พิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเขตระบบโครงข่ายพลังงานใหม่ โดยที่ดินทุกประเภทที่ถูกระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้จ่ายในอัตราร้อยละ ๙๐ ของราคาที่กำหนด ส่วนที่ตั้งเสาให้จ่ายในอัตราร้อยละ ๑๐๐ ของราคาที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับค่าใช้ประโยชน์หรือค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้น และได้มีการพิจารณาอุทธรณ์ค่าใช้ประโยชน์หรือค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเขตระบบโครงข่ายพลังงานเรียบร้อยแล้ว จำนวน ๒๙๔ ราย

- เสริมสร้างระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงและเชื่อถือได้ โดยได้กำกับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อให้การจัดหาไฟฟ้าเป็นไปตามแผน PDP ๒๐๑๐ รวมทั้งได้ศึกษา

แนวทางการกำกับดูแลระบบโครงข่ายพลังงานและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (Network and System Operation Regulation) เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่ โดยคำนึงถึงความมั่นคงความปลอดภัยและคุณภาพของระบบพลังงาน ไม่ทำให้ผู้ใช้พลังงานและส่วนรวมเสียประโยชน์

๔) ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้พลังงาน กกพ. ได้ดำเนินการ ดังนี้

- กกพ. ได้จัดตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) จำนวน ๑๓ คณะ ตามเขตพื้นที่ผู้ใช้พลังงาน โดยสรรหาจากผู้แทนผู้ใช้พลังงานทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานซึ่ง คพข. ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ ทั้งนี้ กกพ. ได้จัดตั้ง สกพ. ประจำเขต ๑๓ เขต เพื่อทำหน้าที่ เป็น สกพ. ในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

- การจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า กกพ. ได้ดำเนินการออกระเบียบ ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการนำส่งเงินเข้ากองทุนและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้มั่นใจว่ามาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบัน กกพ. อยู่ระหว่างเตรียมการประกาศการสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและจะสามารถจัดสรรเงินให้คณะกรรมการฯ เพื่อบริหารจัดการได้ประมาณเดือนกันยายน ๒๕๕๔

- การส่งเสริมให้ประชาชนผู้ใช้พลังงานเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน โดยได้จัดทำคู่มือการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อสร้างมาตรฐานในการเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงยิ่งขึ้น และยังได้สร้างความรู้และความเข้าใจการกำกับกิจการพลังงานและส่งเสริมให้ผู้ใช้พลังงานใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

๕) ด้านการพัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพ โดยอาศัยระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการดำเนินงาน ป้องกันข้อผิดพลาด ลดค่าใช้จ่าย และมีระบบรองรับภาวะฉุกเฉิน สรุปการดำเนินงาน โดยได้พัฒนาองค์กรตามเกณฑ์คุณภาพบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) และการบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge management) รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลในการดำเนินงานของ สกพ. ในระบบงานขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน Online และการบริหารทรัพยากรองค์กรด้วยระบบ Enterprise Resource Planning และยังได้สร้างความร่วมมือด้านวิชาการและการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน เช่น ความร่วมมือทางวิชาการกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความร่วมมือกับ National Association of Regulatory Utility Commissioners (NARUC) และการริเริ่มให้มีเวทีความร่วมมือของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงานระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียในการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ Regulator Forum ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับกิจการพลังงานของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำสื่อการเรียนการสอนด้านพลังงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับพนักงานและบุคคลภายนอกทั่วไปสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยปัจจุบันนี้ได้ให้บริการแล้ว ๑๐ หลักสูตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ