สมัชชาสุขภาพแฉเหตุแรงงานตายกว่า 700 ต่อปี เข้าไม่ถึงบริการอาชีวอนามัย

จันทร์ ๐๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๒ ๑๘:๒๐
นักวิชาการเผยข้อมูลแรงงานเสียชีวิตสะสมมากถึง 781 รายต่อปี เสนอกระทรวงแรงงานผนึกกระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมอาชีวอนามัยให้แรงงาน ด้านสมาชิกสมัชชาสุขภาพเสนอจัดทำทะเบียนผู้เจ็บป่วยจากการทำงานเผยแพร่ให้สาธารณชนรับรู้เพื่อเป็นบทเรียน อยุธยาแฉโรงงานอุตสาหกรรมจ้างหมอปลอมรักษาแรงงาน

ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ได้จัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 เป็นวันที่สอง โดยวันนี้ได้พิจารณาร่างมติเรื่องการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพด้านแรงงานเข้าร่วมพิจารณาร่างมติอย่างคับคั่ง

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 1 นำพิจารณาเรื่องการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ กล่าวว่า จากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2503 ถึงปัจจุบัน เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมและบริการ โดยมีลูกจ้างในระบบประกันสังคมกว่า 8 ล้านคน โดยระหว่างปี 2545 — 2553 มีลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต หรือสูญหายจากการทำงานสะสมนับล้าน หรือเฉลี่ยปีละ 25 คนต่อหนึ่งพันคน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 781 คน

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาความไม่ปลอดภัยของผู้ที่รับงานกลับไปทำที่บ้าน โดยในปี 2550 มีผู้รับงานกลับไปทำที่บ้านจำนวนกว่า 400,000 คน ซึ่งร้อยละ 28.5 ประสบปัญหาความไม่ปลอดภัยที่เกี่ยวกับอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ทั้งปัญหาด้านสายตา ฝุ่นละออง ท่าทางในการทำงาน การใช้เครื่องมือ และการสัมผัสสารเคมี ซึ่งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินค่าความเสียหายดังกล่าว ประมาณร้อยละ 4 ของรายได้ประชาชาติ ขณะที่ผลของความสูญเสียเชิงคุณภาพชีวิตไม่อาจประเมินหรือทดแทนได้

ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้กำหนดให้นโยบายว่าด้วยแรงงานและความปลอดภัย รวมทั้งสุขภาพอนามัยที่ดี เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2550 และการเข้าถึงการบริหารอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายฉบับ

“คนส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการเข้าถึงการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริการด้านการประเมินการสัมผัสทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมในการทำงาน การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และอาชีวเวชศาสตร์ที่ยังไม่เพียงพอ” ประธานอนุกรรมการฯ กล่าว

ทั้งนี้ จึงได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอที่เป็นร่างมติเรื่องการเข้าถึงบริหารอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจบางส่วน เช่น ขอให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการเร่งรัดให้ดำเนินงานตามมาตรา 3 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.ศ.2554 ที่ให้ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จัดให้มีมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในหน่วยงานของตนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานตามพ.ร.บ.นี้

พร้อมกันนี้ยังเสนอร่างมติให้กระทรวงแรงงานร่วมกับเครือข่ายแรงงาน องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการศึกษาที่ผลิตและอบรมบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ร่วมกันพัฒนารูปแบบการทำงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้เสนอให้เพิ่มเติมเรื่องการจัดทำทำเนียบผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในการทำงานของทุกๆ อาชีพ และเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันศึกษา รวมทั้งยังเสนอให้สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจะต้องมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ประจำในแต่ละแห่งด้วย

นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านแรงงานจากจังหวัดอยุธยายังได้เสนอเพิ่มเติมให้มีการปรับแก้ไข พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่ระบุให้มีการจัดสวัสดิการในการตรวจรักษาพยาบาลให้กับพี่น้องแรงงาน ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดอยุทธยาได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ หากแต่เลี่ยงโดยใช้แพทย์และพยาบาลปลอมมาตรวจรักษาแรงงาน ซึ่งควรแก้ไขโดยระบุให้ชัดเจนว่าต้องเป็นแพทย์และพยาบาลจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๙ PROS จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2567 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวอนุมัติทุกวาระ
๐๙:๔๙ ซีพี - ซีพีเอฟ สนับสนุนโครงการ สานใจไทย สู่ใจใต้ รุ่นที่ 42 ส่งเสริมเยาวชนรุ่นใหม่ ตอบแทนคุณแผ่นดิน
๐๙:๑๓ นักวิชาการ TEI แนะมุมมองการสร้าง Urban Climate Resilience ต้องเร่งปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
๐๙:๓๙ TEI เปิดวงเสวนา บทเรียนและทางออกการจัดการกากแคดเมียม ? พร้อมเร่งแก้ปัญหา โจทย์ใหญ่กากแคดเมียม จัดการอย่างไรให้ปลอดภัยและถูกต้อง
๐๙:๒๔ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาสในโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี ณ
๐๙:๑๑ เขตปทุมวันกำชับเจ้าของพื้นที่ตั้งวางสิ่งของ-อุปกรณ์การค้าริมกำแพงส่วนบุคคลให้เรียบร้อย
๐๙:๓๔ ม.หอการค้าไทย ปฐมนิเทศสำหรับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านนวัตกรรมการบริการ รุ่นที่ 5 (Top Executive Program for Creative Amazing Thai Services :
๐๙:๐๒ เฮงลิสซิ่ง รับรางวัล หน่วยงานส่งเสริมสุขภาพการเงินพนักงาน ระดับดีเด่น โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
๐๙:๔๕ มูลนิธิเฮอริเทจ (ประเทศไทย) ส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดสมุทรสาคร
๐๙:๔๔ พาราไดซ์ พาร์ค ต้อนรับ The Little Gym เปิดสาขาที่ 3