สนช.-กรมอุทยานฯ -กลุ่ม ปตท.—TBIA- ร่วมรักษ์เกาะเสม็ด รณรงค์ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพคัดแยกขยะอินทรีย์ เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผลักดันเสม็ดเข้าสู่ “โครงการเกาะสีเขียว”

อังคาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๐๑๒ ๑๐:๒๒
จากปัญหาขยะบนอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดที่มีมากถึง 6 ตันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และเป็นภาระในการขนส่งขยะจากเกาะเพื่อมากำจัดบนฝั่ง ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด องค์การบริหารส่วนตำบลเพ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการคัดแยกขยะอินทรีย์บรรจุลงในถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพและนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถใช้บำรุงไม้ผลและไม้ดอกบนเกาะ ซึ่งช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวของเกาะเสม็ดได้กว่า 100 ตันต่อเดือน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน คิดเป็นปริมาณคาร์บอนถึง 1,600 ตันตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ

ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ได้กล่าวว่า “รัฐบาลได้กำหนดนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ให้เป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ (New Wave Industry) ของประเทศไทย และก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 เห็นชอบกรอบวงเงินสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานนำร่องผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ และกรอบแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งการดำเนินโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ลดปริมาณขยะพลาสติกบนเกาะเสม็ด พร้อมทั้งคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์สอดคล้องกับนโยบายของประเทศในทวีปยุโรปที่ผลักดันให้เกิดการนำพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพมาใช้ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่เหลือตกค้างในสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศฝรั่งเศสเริ่มใช้กฎหมายบังคับใช้ถุงพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพตั้งแต่ปี 2553 การดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมันสำปะหลังหรืออ้อย สร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุดถึง 6 เท่า ส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตพลาสติกชีวภาพ(Bio-plastics hub)ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือของโลกต่อไป”

นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การดำเนินงานโครงการนำร่องนี้ เป็นมิติใหม่ของความร่วมมือกันอย่างดียิ่งระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการนำนวัตกรรมทางด้านวัสดุ นั่นคือ “พลาสติกชีวภาพ” มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะอินทรีย์ที่มีระบบการคัดแยกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และมีปริมาณขยะประมาณ 6 ตันต่อวัน สภาพพื้นที่เป็นเกาะที่มีทะเลล้อมรอบทำให้มีพื้นที่จัดการขยะที่จำกัด จึงเกิดการจัดการขยะที่ไม่ถูกหลัก เช่น การเผาขยะในบริเวณเปิด เป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมในวงกว้าง และทำให้สถานที่ท่องเที่ยวเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยินดีที่จะร่วมผลักดันและสนับสนุนแนวทางในการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเป็นกรณีศึกษาที่สร้างความเข้าใจและข้อมูลที่แสดงผลได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการจัดการขยะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไปในอนาคตเพื่อผลักดันให้เกิดเป็น “ชุมชนเกาะสีเขียวที่ยั่งยืน(Green Island)”ต่อไป”

ดร. วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สนช.กล่าวว่า “สนช. ได้ริเริ่มและประสานงานให้เกิดการใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในะระดับนำร่อง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการนำถุงขยะพลาสติกชีวภาพมาใช้จัดการคัดแยกขยะอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศอย่างหมู่เกาะเสม็ด เพื่อจัดการขยะที่ดีและเกิดการเพิ่มมูลค่าได้”

“โครงการนำร่องในวันนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยในระยะแรก (พฤษภาคม —กันยายน2554)มี70 สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถคัดแยกขยะอินทรีย์ด้วยถุงพลาสติกชีวภาพได้วันละ 3—5ตันแต่ถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ประมาณ 1 ตันต่อวัน เนื่องจากปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ 1) การแยกขยะอินทรีย์ต้นทางที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสมบรูณ์ และ 2) การแยกการจัดเก็บหลังจากจัดเก็บจากสถานประกอบการยังไม่เป็นระบบ”

ดร. วันทนีย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า“การดำเนินโครงการในระยะที่ 2จะเน้นการรณรงค์ทั้งการคัดแยกขยะอินทรีย์ต้นทางและการแยกการจัดเก็บเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ซึ่งจะได้รวบรวมและสรุปผลการดำเนินโครงการที่เกิดขึ้น สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการผลักดันให้เกิดนโยบายระดับประเทศในการสนับสนุนการจัดการขยะชุมชนที่ดีสะดวกและถูกสุขอนามัยเหมาะสมกับสถานที่ท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติ ทั้งในด้านของค่าบริหารจัดการขยะและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการจัดการขยะชุมชนโดยการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพในการคัดแยกขยะ บนพื้นที่ท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความตระหนักของสังคมในการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพในการจัดการขยะอินทรีย์ของประเทศไทย”

นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยกล่าวว่า “สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนในรูปแบบทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรมจากสนช. ในการผลิตถุงขยะพลาสติกชีวภาพและการรณรงค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกับอสม.ให้มีการคัดแยกขยะต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพในการคัดแยกขยะอินทรีย์ และนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์โดยหวังว่ารูปแบบของโครงการนำร่องนี้จะสามารถนำไปสู่การขยายผลให้เกิดนโยบายระดับประเทศด้านการจัดการขยะอินทรีย์ที่มีระบบการคัดแยกที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ถุงพลาสติกชีวภาพเป็นเครื่องมือ ซึ่งทำให้การจัดเก็บและการขนส่งมีความสะดวกและถูกสุขอนามัย อีกทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดแยกถุงพลาสติกชีวภาพออกในขั้นตอนการแปรรูปให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งนอกจากจะสามารถลดปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดจากการเน่าสลายตัวของขยะอินทรีย์ในบ่อฝังกลบขยะระบบเปิดแล้ว ยังก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับการปลูกพืชได้ต่อไป”

นายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยปณิธานในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลใส่ใจในชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ปตท. จึงได้เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างโรงหมักปุ๋ยอินทรีย์จากขยะอินทรีย์ต้นแบบ ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยใช้กระบวนการผลิตกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งมีการควบคุมสภาวะอุณหภูมิและความชื้นของขยะอินทรีย์โดยไม่ต้องทำการพลิกกอง เป็นเงินรวม 4 ล้านบาท พร้อมกับบริษัท มิตซูบิชิ

เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด สนับสนุนถุงพลาสติกชีวภาพชนิด PBS เพื่อเริ่มต้นโครงการฯ ในปี 2554 และเพื่อให้โครงการฯ สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปตท. จึงได้สนับสนุนงบประมาณอีกจำนวน 1 ล้านบาท ให้กับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยเพื่อใช้ในการผลิตถุงพลาสติกชีวภาพจำนวน 60,000 ใบ เพื่อใช้ในการดำเนินการแยกขยะในปี 2555 นี้”

นายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของพลาสติกชีวภาพ ปตท. จึงได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด (PTT MCC Biochem) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงงานและผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS ซึ่งจะเป็นโรงงานพลาสติกชีวภาพแห่งแรกของโลกที่ผลิตภัณฑ์จากใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบโดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างในพื้นที่ของกลุ่มปตท. ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ที่จะพัฒนาให้เป็น Eco Industrial Area ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกลุ่ม ปตท. ในการสร้าง Low Carbon Society เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมกันไปทั้งธุรกิจ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง Green Growth Roadmap”

ติดต่อ:

พลอยไพลิน ตองอ่อน โทรศัพท์ 02-631-2290-5 ต่อ 310

อีเมล์ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง