กระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่ภาคใต้ เยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการ OPOAI เตรียมรับมือการแข่งขันอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทยสู่ AEC

จันทร์ ๓๐ กันยายน ๒๐๑๓ ๐๙:๒๐
กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ ในพื้นที่ภาคใต้ กลุ่มธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล บริษัท ห้องเย็น โชติวัฒน์ หาดใหญ่ และบริษัท วี.ไอ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในจังหวัดระนอง และเครื่องแกงคุณลำดวน ในจังหวัดชุมพร ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI ชี้ในอนาคต จังหวัดระนองและชุมพร จะเป็นประตูการค้าสู่เมียนมาร์ มีการขยายตัวอย่างมากทั้งอุตสาหกรรมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว โครงการ OPOAI จึงเข้ามาพัฒนาปรับปรุงของสถานประกอบการเพื่อพร้อมก้าวเข้าสู่การแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน (AEC) ปี 2558

นายปณิธาน จินดาภู ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และจัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และจนถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 750 แห่ง สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ มากกว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในการ พัฒนา เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ในปีนี้จึงมีสถานประกอบการติดต่อขอเข้าร่วมโครงการอย่างมากมาย เนื่องจากมองเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมยังยึดมั่นที่จะดำเนินโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่องในทุกปีและมีการปรับปรุงแผนงานมาโดยตลอด ดังนั้น จึงได้นำคณะผู้บริหาร รวมถึงสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมและติดตามความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าว โดยเลือกจังหวัดระนองและชุมพร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่เชื่อมโยงเส้นทางการค้า ระหว่างไทย พม่า เตรียมเข้าสู่ AEC อย่างเต็มตัวซึ่งจะมีการขยายตัวอย่างมากทั้งอุตสาหกรรมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว โครงการ OPOAI จึงเข้ามาพัฒนาปรับปรุงของสถานประกอบการเพื่อพร้อมก้าวเข้าสู่การแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน (AEC) ปี 2558

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ มีสถานประกอบการที่มีผลสัมฤทธิ์ดีเด่นจากการเข้าร่วมโครงการฯ ในการพัฒนา 6 แผนงานหลัก ประกอบด้วย 1. การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. การปรับปรุงคุณภาพและการพัฒนางาน 4. การลดต้นทุนพลังงาน 5. การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และ 6. กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด โดยสามารถสร้างเสริมศักยภาพของสถานประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้เข้มแข็งทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อพร้อมสู้กับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ อีกทั้งยังสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรของประเทศ ให้สามารถรองรับ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558

ด้านนายยรรยง น้ำผุด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด (มหาชน) สาขาระนอง กล่าวว่า บริษัท ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล กุ้งสดแช่แข็ง มี ทุนจดทะเบียน 75 ล้านบาท โดยมีบริษัทแม่ ตั้งอยู่ที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และมีสาขาอีก 1 แห่ง คือที่จังหวัดระนอง โดยส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น ปัจจุบันมีพนักงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 400 คน ประกอบธุรกิจอาหารแช่แข็งเพื่อการส่งออก (กุ้งสด) เข้าร่วมโครงการโอปอย ในปี 2556 โดยเลือกพัฒนา แผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน เนื่องจากประเมินเบื้องต้น พบว่า องค์กรมีปัญหาด้านการฝึกอบรม และให้ความรู้ ประสบการณ์ด้านการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน มีปัญหาด้านสภาพแวดล้อมของการทำงานไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต จึงส่งผลให้ส่วนอื่น ๆ มีประสิทธิภาพลดลง จากปัญหาดังกล่าวทำให้บริษัทฯ ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต และปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต

“หลังจากที่กำหนดปัญหาแล้ว ได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันของการทำกิจกรรม โดยจะทำงานร่วมกับทีมที่ปรึกษาของโครงการ OPOAI พบว่าจำนวนการเกิดปัญหาคุณภาพลดลงจาก 3.995% เหลือ 1.18% เท่านั้น ทางโรงงานได้รับประโยชน์หลายอย่างมากที่เห็นได้ชัดคือเรื่องประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น มีการจัดระบบ ระดมสมอง เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ใน 2 เรื่องคือเรื่องการละลายพฤติกรรมในการทำงาน มีการบูรณาการทำงานร่วมกันในแต่ละแผนก และเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต นอกจากนี้ยังได้รับผลทางอ้อม คือพนักงานมีการท้าประลองเรื่องแนวคิด จนเกิดผลเป็นที่ยอมรับ นำไปสู่การถ่ายทอดข้อมูลต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายยรรยงกล่าว

นายชาติพนธ์ วรัชต์ญารมย์ กรรมการผู้จัดการ ของ บริษัท วี.ไอ. อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า บริษัทประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล ปลาสดแช่แข็ง ทุนจนทะเบียน 35 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี 2533 โดยส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก ปัจจุบันมีพนักงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน เข้าร่วมโครงการโดยเลือก แผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากทีมที่ปรึกษาของโครงการฯ เข้าไปศึกษาข้อมูลของทางบริษัทฯ พบว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน คือ ระบบการฝึกอบรม ควรมีการกำหนดหัวข้อในด้านการเพิ่มผลผลิต เครื่องมือเพื่อใช้ในการเพิ่มผลผลิต การปลูกจิตสำนึกในการทำงาน การเพิ่มความตระหนักถึงคุณภาพ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย รวมถึงระบบการบริหาร ควรทำการทบทวน และ ดำเนินการตามระบบคุณภาพทั้ง GMP และ HACCP ที่ได้รับการรับรองไว้

“ทีมที่ปรึกษาโครงการ ร่วมกับตัวแทนของสถานประกอบการ ได้ทำการระดมความคิด และใช้หลักการผลิตโดยใช้แนวคิดในการปรับปรุงการทำงานเพื่อขจัดความสูญเปล่า และลด ระยะเวลาการการผลิตลงการดำเนินแผนงานการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ของ บริษัท วี.ไอ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในครั้งนี้ สำเร็จเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และ ยังสามารถขยายผลไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น แสดงให้เห็นได้ว่า ทางองค์กรมีความรู้และประสบการณ์สามารถนำไปต่อยอดได้อย่างยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากมีสายการผลิตตัวอย่างเพิ่มขึ้นมาอีก 1 สายการผลิต รวมเป็น 2 สายการผลิต จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้เพียง 1 สายการผลิตเท่านั้น” นายชาติพนธ์กล่าว

คุณสวาท ชัยมงคล กรรมการผู้จัดการ ของ โรงงานเครื่องแกงคุณลำดวน กล่าวว่า เริ่มดำเนินกิจการในปี 2539 โดยมีทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท มีการถือหุ้นโดยคนไทยร้อยละ 100 มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ เครื่องแกงชนิดต่าง ๆ มีกำลังการผลิต 300,000 กิโลกรัมต่อปี โดยส่งไปจำหน่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โรงงานเครื่องแกงคุณลำดวน เข้าร่วมโครงการฯ โดยพัฒนาใน 2 แผนงานคือ แผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และแผนงานที่ 5 ด้านการยกระดับมาตรฐาน / ระบบมาตรฐานสากล จากการที่ทางทีมที่ปรึกษาของโครงการฯ ได้เข้าไปศึกษาข้อมูลเชิงลึก ด้านการผลิต พบว่ามีเส้นทางการผลิตที่ซ้ำซ้อน ส่งผลให้เกิดการย้อนไป-มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต (Motion Waste) ที่เป็นความ สูญเปล่าที่ไม่เกิดคุณค่า ซึ่งเกิดจากการวางผังโรงงานที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการจัดเก็บวัตถุดิบที่ไม่ดี ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายมากเกินไป จากปัญหาที่พบ ทางทีมที่ปรึกษาร่วมกับตัวแทนจากสถานประกอบการร่วมกันคิดวิเคราะห์ ดังนั้นได้ทำการปรับผังกระบวนการเคลื่อนที่โดยทำการลดระยะทางในการผลิตโดยการลดระยะทางในการขนย้ายวัตถุดิบ และสร้างพื้นที่สำหรับการผลิต และแยกส่วนพื้นที่สำหรับเตรียมการผลิตออกมาเพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนของวัตถุดิบระหว่างการผลิต และทำการจัดกลุ่มของพื้นที่เตรียมการผลิตโดยนำพื้นที่หั้นเครื่องเทศ (เครื่องหั่น) แยกออกมาจากส่วนของการผลิต และจำกัดบริเวณของการล้างวัตถุดิบ

จากการปรับปรุงด้วยแผนภาพการเคลื่อนที่ของวัสดุ (Flow Diagram) โดยทำการจัดผังโรงงานใหม่โดยทำการแยกส่วนของพื้นที่ผลิตและพื้นที่จัดเตรียมออกจากกันอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการปนเปื้อนตามหลักของ GMP สามารถนำสรุปผลการดำเนินงานได้ดังนี้

1. ระยะการเดินทางของวัตถุดิบลดลงจาก 26 เมตรลดลงเหลือ 16 เมตร จากการจัดเตรียมชั้นวางระหว่างพื้นที่เตรียมกับพื้นที่ทำการผลิต โดยคิดเป็นร้อยละ 38 ของระยะทางที่ลดลงโดยวิธีการลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น (Eliminate) ในการเคลื่อนที่ไปหยิบวัตถุดิบได้

2. สามารถลดระยะเวลาในการนำวัตถุดิบไปจัดเก็บจากเดิม 25 วินาที ลดลงเหลือ 10 วินาทีหรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของระยะเวลาที่ลดลงในการนำวัตถุดิบไปจัดเก็บ โดยวิธีการรวมงานไว้ด้วยกัน (Combine)

3. ในด้านของกระบวนการผลิตจากการจัดผังการทำงานใหม่สามารถแยกส่วนของขั้นตอนการเตรียมออกจากขั้นตอนการผลิตอย่างชัดเจนเพื่อลดการปนเปื้อนของวัตถุดิบ

“หลังจากเข้าร่วมโครงการ OPOAI แล้ว ทำให้โรงงานของเรามีกระบวนการผลิตที่รวดเร็วขึ้น ทำให้ลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างดี และยิ่งเรื่องของการเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ GMP ทางเราได้มีความพยายามในการเตรียมความพร้อมมานานแล้ว เมื่อมีทีมที่ปรึกษาเข้ามาช่วยเราคิด วิเคราะห์ การวางแผน วางระบบการทำงานต่าง ๆ มีการจัดฝีกอบรมให้ความรู้กับพนักงานของเรา ซึ่งในขณะนี้ทางโรงงานอยู่ในการระหว่างการเริ่มปฏิบัติจริง เมื่อระบบแข็งแรงแล้วก็จะทำให้เราสามารถยื่นขอ GMP ได้ง่ายยิ่งขึ้น ต้องขอขอบคุณโครงการ OPOAI ที่เข้ามาช่วยให้โรงงานเล็ก ๆ ของเราแข่งขันกับผู้อื่นได้อย่างเต็มความภาคภูมิ และไม่น้อยหน้าใคร” นายสวาทกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา