มธ. เผยความสำเร็จด้านการวิจัยจาก 3 นโยบาย เพิ่มทุนวิจัย สร้างเครือข่าย และสร้างระบบสนับสนุนนักวิจัยครบวงจร

พฤหัส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๔ ๑๐:๕๐
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศความสำเร็จด้านงานวิจัยที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพจากการใช้กลยุทธ์พัฒนางานวิจัยสู่สากล เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยวิจัย ชั้นนำของประเทศ เน้นสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

ศ.ดร.ประมวญ เทพชัยศรี รักษาราชการตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำของเอเชียที่ได้มาตรฐานสากลในการผลิตบัณฑิต การสร้างองค์ความรู้และการแก้ปัญหาของประเทศ โดยยึดมั่นคุณธรรมและประโยชน์ของประชาชน สำหรับด้านวิจัย มธ. มีเป้าหมายของการบริหารจัดการด้านวิจัยในปี 2557-2559 ในการจัดอันดับระดับประเทศไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 3

“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มธ. ได้เร่งพัฒนาผลงานวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพตามมาตรฐานสากล สร้างองค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาของสังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่สาธารณะและเชิงพาณิชย์ ภายใต้นโยบายหลัก คือ การบริหารจัดการให้มีปัจจัยสนับสนุนการวิจัยที่เพียงพอและรอบด้าน โดยเน้นกลยุทธ์หลัก 3 ประการเพื่อให้เกิด การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด คือ การเพิ่มทุนวิจัยและเสริมสร้างศักยภาพของการวิจัย การจัดตั้งเครือข่ายนักวิจัย และ การให้ทุนสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการพร้อมเชิดชูและให้รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นและรางวัลสิ่งประดิษฐ์”

ศ.ดร.ประมวญ กล่าวว่า กลยุทธ์หลัก 3 ประการดังกล่าวส่งผลให้ มธ.มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวทีระดับโลกกว่า 10 รางวัลต่อปี รางวัลระดับประเทศกว่า 100 รางวัลต่อปี และมีผลงานที่ได้รับการยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นกว่า 100% โดยในปี 2556 มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับชาติ 338 ผลงาน และระดับนานาชาติถึง 518 ผลงาน

ทั้งนี้ กลยุทธ์ด้านการเพิ่มทุนวิจัยและเสริมสร้างศักยภาพของการวิจัยให้มากขึ้นนั้น มธ.จัดให้มีทุนวิจัยในหัวข้อที่หลากหลายสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยระดับกลาง และนักวิจัยอาวุโส ทุนวิจัยตามประเด็นหลักในลักษณะบูรณาการวิชาการภายในสาขาและระหว่างสาขาหรือสหวิทยาการ ซึ่งให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ตลอดจนทุนวิจัยระดับหลังปริญญาเอก รวมทั้งทุนปริญญาเอกสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษากว่า 500 ทุนในแต่ละปี นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการอบรมเสริมสร้างศักยภาพการวิจัยให้นักวิจัยรุ่นใหม่ การอบรมจริยธรรมด้านการวิจัย ส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์รับทุนวิจัยหรือทุนร่วมวิจัยจากแหล่งทุนวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น

กลยุทธ์ด้านการจัดตั้งเครือข่ายนักวิจัย โดยเน้นศักยภาพและการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ (Center of Excellence) คลัสเตอร์การวิจัย กลุ่มนักวิจัยคุณภาพสูงภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ทั้งนี้ จะให้มีระบบ กลไก ในการใช้ทรัพยากรร่วมกันสำหรับอุปกรณ์เฉพาะทางที่มีราคาสูง โดยเฉพาะการวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ จัดตั้งศูนย์สัตว์ทดลองมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยที่นับว่าทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท และก่อตั้งศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายาแห่งประเทศไทย มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการและการจัดพิมพ์วารสารวิชาการที่มีคุณภาพในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ผลงานวิชาการของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยของทุกสถาบันทั้งในประเทศและภูมิภาค

กลยุทธ์ด้านการให้ทุนสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการสูงสุดฉบับละ 50,000 บาท เชิดชูและให้รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น รวมทั้งรางวัลสิ่งประดิษฐ์ โดยในแต่ละปีจะมีการให้ทุนสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์มากกว่า 700 ทุน พร้อมเชิดชูและให้รางวัลผู้มีผลงานวิจัยดีเด่นและสิ่งประดิษฐ์ทั้งระดับคณะและมหาวิทยาลัย ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยขนาดใหญ่ ผู้ที่มีผลงานจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร และรางวัลประกาศเกียรติคุณจากองค์กรภายนอก เป็นต้น

“ตั้งแต่ ปี 2557 เป็นต้นไป มธ. มีนโยบายที่จะเพิ่มกลยุทธ์ด้านการผลักดันผลงานวิจัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมมากยิ่งขึ้น โดยการนำผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ออกเผยแพร่สู่ภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเชิงสาธารณะ นโยบาย พาณิชย์ สุนทรียภาพ หรือประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคม เช่น กลุ่มวิจัยทางการแพทย์ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์วิจัยทางการแพทย์ธรรมศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรักษาผู้ป่วยด้านทันตกรรม การปรับปรุงการเข้าถึงอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบุคคลกลุ่มพิเศษ อาทิ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี และผู้ป่วยในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ การจัดหาเครื่องมือแพทย์และครุภัณฑ์เพื่อการศึกษาและบริการ และกลุ่มวิจัยทางการเกษตร ได้แก่ การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวและแป้ง ศูนย์นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าและมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์เกษตร ศูนย์นวัตกรรมและปฏิบัติการด้านยา และศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาค้นคว้าและเชื่อมโยงเครือข่าย ศูนย์การเรียนรู้ด้านภูมิภาคอาเซียนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเร็วๆ นี้” ศ.ดร.ประมวญ กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ