องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ผนึกพลังทุกภาคส่วน หาแนวทางจัดทำแผนแม่บทการต่อต้านคอร์รัปชัน ในงานเสวนา “ปฏิรูปการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน...อย่างเห็นผลและยั่งยืน” พร้อมผลักดันให้ใช้ได้จริงเกิดเป็นผล

อังคาร ๐๑ เมษายน ๒๐๑๔ ๑๗:๒๒
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคม จัดงานเสวนา “ปฏิรูปการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน...อย่างเห็นผลและยั่งยืน” พร้อมระดมความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ทุกมิติ รอบด้าน เพื่อกำหนด 5 มาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันที่สมบูรณ์แบบ และนำผลไปสู่แผนแม่บทการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ เสนอเป็นศูนย์กลางในการผลักดันให้เกิดปฎิบัติเป็นรูปธรรมอย่างเข็มแข็ง

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การจัดเวทีเสวนา “ปฏิรูปการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน...อย่างเห็นผลและยั่งยืน” ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่เสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมในการจัดทำแผนแม่บทการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนทั้งหมด 5 แนวทาง ได้แก่ การปฏิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, การปฏิรูปด้านการสร้างมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและสังคม, การปฏิรูปด้านการรณรงค์คุณธรรม จริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชัน, การปฏิรูปด้านมาตรการเรื่องความโปร่งใส และการปฏิรูปด้านการสร้างความเข้มแข็งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ ทั้งนี้แนวทางการปฎิรูปดังกล่าว องค์กรฯ จะเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อน และนำพาการปฎิรูปให้เกิดขึ้นจริง และปฎิบัติให้เป็นผลอย่างยั่งยืน”

มิสเอลโลดี้ เบธ ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค Regional Anti-Corruption Advisor for Asia Pacific (UNDP) กล่าวในหัวข้อ: แนวทางต่อต้านคอร์รัปชันสากล ว่า UNDP ได้มีบทบาทหน้าที่การให้ความสนับสนุนเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย โดยการจัดตั้งเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับเยาวชน “Thai Youth Anti-Corruption Network” เพื่อปลูกฝังทัศนคติในการต่อต้านคอร์รัปชันตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งนี้หน่วยงานของ UNDP ให้ความสำคัญของการจัดทำแนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริตในขบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวในหัวข้อ: การรณรงค์ด้านคุณธรรมและจริยธรรม ให้ข้อเสนอว่าควรมีการรวมพลัง รวมเครือข่าย ที่ทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชันให้เป็นหนึ่งเดียว ในขณะเดียวกันกำลังสร้างหลักสูตรพัฒนาผู้นำเยาวชนเพื่อทำหน้าที่ปลูกจิตสำนึก ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย รวมทั้งจะขอความร่วมมือจากหอการค้าไทย สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ในการพิจารณารับพนักงาน โดยให้พิจารณานักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมปลูกจิตสำนึกด้านต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคุณสมบัติก่อนรับเข้าทำงาน

ดร. กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย ผู้อำนวยการศูนย์สาธารณประโยชน์ และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวข้อ: ความสำคัญและแนวคิดในการสร้างความโปร่งใส กล่าวว่า ความโปร่งใสจะเป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยง และลดโอกาสการทุจริตคอร์รัปชัน และหลักสำคัญคือ ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ อาทิ การดำเนินงานนโยบายของรัฐบาล การจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลด้านงบประมาณ และขบวนการจัดทำงบประมาณ รวมถึงข้อมูลการใช้ดุลยพินิจในงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมกำกับดูแล และอนุมัติโครงการต่างๆ เป็นต้น

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หัวข้อ: การสร้างความแข็งแกร่งให้กับหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ กล่าวว่า ในเวลาที่ผ่านมาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีหน่วยงานราชการใด เข้ามาทำงานกิจกรรมด้านต่อต้านคอร์รัปชัน ปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานด้านต่อต้านคอร์รัปชัน มี 3 ประการ คือ 1) ขาดข้อมูลข่าวสาร 2) หน่วยงานรัฐไม่มีขบวนการ หรือขั้นตอนการทำงานที่โปร่งใส และไม่มีระบบประเมินผลงานที่เชื่อมโยงกับการต่อต้านการทุจริต 3) ไม่มีมาตรการคุ้มครองอันตรายให้กับหน่วยงานและบุคคลที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชัน

นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท หัวข้อ: แนวคิดในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้เสนอให้สร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ท้องถิ่น ประชาสังคม และภาคธุรกิจในพื้นที่ เพื่อจัดตั้งโรงเรียนชาวบ้าน “ต่อต้านคอร์รัปชัน” ให้เป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพแกนนำในพื้นที่

นอกจากนี้ จัดให้มีเสวนากลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการผลักดันทั้ง 5 แนวทางไปสู่ความสำเร็จ ได้ตกผลึกเป็นข้อเสนอแนะดังนี้

แนวทางการปฎิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ( Reform “Rule of Law”) มีข้อเสนอให้ผู้นำและพรรคการเมืองต้องมีเจตจำนงค์ทางการเมืองและต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้หมดไปจากสังคมไทย ทั้งนี้ การทุจริตเชิงนโยบายและนโยบายประชานิยมที่มีการคอร์รัปชันมาก ต้องมีการศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงในการทุจริตก่อนการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนให้กรรมการเลือกตั้ง ลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงและมีบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง รวมถึงผลักดันให้การแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้ได้มาตรฐานนานาชาติ ที่สำคัญต้องตัดวงจรการให้สินบนทั้งผู้รับและผู้ให้ บุคคลที่ช่วยให้รัฐเอาผิดได้ ควรได้รับการลดโทษ

แนวทางการปฎิรูปด้านการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม (Reform “Social Participation”) เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการทุจริตต่างๆ แก่ประชาชน และควรเร่งสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นกลุ่มย่อยให้เหมาะสมตามบริบท เช่น แบ่งตามภูมิภาค แบ่งตามกลุ่มวิชาชีพ ทำงานคู่ขนานกับสภานิติบัญญัติ เพื่อผลักดันให้มีการต่อต้านการทุจริตในทุกภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

แนวทางการปฎิรูปด้านการรณรงค์คุณธรรมจริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชัน (Reform “Social Morality”) เสนอให้มี การรณรงค์ด้านคุณธรรมจริยธรรมทั้งในระยะสั้นและงานต่อเนื่อง ทั้งเชิงบวก /เชิงลบ เพื่อการจัดระเบียบทางสังคม (ค่านิยม / การแยกความถูก-ผิด / การแยกดี-ชั่ว) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจของคนและสังคม รวมทั้งมีการจัดโครงการค่ายนักศึกษามหาวิทยาลัย (คอร์รัปชั่น /วินัยทางการเงิน /วินัยในการใช้ชีวิต)

แนวทางการปฎิรูปด้านมาตรการเรื่องความโปร่งใส (Reform “Transparency”)

สรุปประเด็นมาตรการสร้างความโปร่งใสดังนี้ เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ปรับปรุงศักยภาพของผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยให้มีความอิสระในเชิงอำนาจและงบประมาณและให้ทรัพยากรแก่หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเพียงพอ ที่สำคัญควรดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้และสามารถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงมีการจัดทำฐานข้อมูลกลางที่ง่ายต่อการเข้าถึง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแก่ประชาชนและมาตรฐานการดำเนินงานของข้าราชการนอกจากนี้ ต้องมีการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเปิดเผยข้อมูลไม่น้อยกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนสร้างความโปร่งใสทางงบประมาณ โดยการจัดทำงบประมาณและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณให้เป็นไปตามหลักสากล โดยให้มีความครอบคลุมถึงการใช้งบประมาณทุกรูปแบบ เช่น กองทุนต่างๆ รวมทั้งสะท้อนถึงมิติอื่นๆ นอกจากความโปร่งใส เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ เป็นต้น และเผยแพร่ให้ประชาชนรู้ถึงสิทธิและรู้ถึงแหล่งข้อมูลงบประมาณต่างๆ ที่มีการเปิดเผยอยู่แล้ว

แนวทางการปฎิรูปด้านการสร้างความเข้มแข็งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ (Reform “Roles & Accountability”) เสนอให้มีการเพิ่มจำนวนบุคลากรและผลประโยชน์ ของผู้ปฎิบัติหน้าที่ในองค์กรที่ดำเนินงานต่อต้านการคอร์รัปชัน และให้นำภาษีส่วนหนึ่งมาสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน สำหรับด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างธรรมาภิบาลนั้น ควรรวมหน่วยงานที่ดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชันเข้าด้วยกัน เพื่อใม่ให้เกิดการซับซ้อนในการดำเนินงานและปรับปรุงกระบวนการทำงานต่างๆ ของหน่วยงานในภาครัฐ ให้มีการรายงานผลการดำเนินงานในโครงการต่างๆ ให้ประชาชนทราบตลอดเวลาเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ อีกทั้งจัดทำการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการหน่วยงานของรัฐ และสร้างมาตรฐาน กฎระเบียบและการลงโทษแก่หัวหน้าหน่วยราชการ และส่วนงานต่างๆ ต้องรับผิดชอบต่อการทุจริตของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย นอกจากนี้ ควรให้ประชาชนทุกคนเข้าระบบการจ่ายภาษี และตั้งหน่วยงานแยกออกมาเพื่อคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ

แผนแม่บทการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน 5 แนวทางประกอบด้วย

1. การปฏิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ที่ผ่านมาคนโกงมักใช้อิทธิพล เส้นสาย ช่วยกันโกง ช่วยกันปกปิดจนกฎหมายเอาผิดได้ยาก ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ประชาชนจึงไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่อยากเดือดร้อน กระบวนการยุติธรรมล่าช้า ขาดความศักดิ์สิทธิ์ บทลงโทษเบาจนคนไม่เกรงกลัว หรือโกงแล้วยังไงก็ได้ผลคุ้มค่า

องค์กรฯ จึงเสนอว่า ต้องมีการออกกฎหมายและบังคับใช้อย่างจริงจัง มีหลักเกณฑ์กำหนดโทษในคดีคอร์รัปชันที่ชัดเจน เช่น ยึดผลประโยชน์ที่ได้รับจากการคอร์รัปชันเป็นของรัฐและปรับ 2 เท่ารวมดอกเบี้ย มีบทลงโทษที่หนักและไม่มีอายุความ ให้ ป.ป.ช. เร่งรัดในคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นเร่งด่วนคดีพิเศษ มีมาตรการเพื่อเอาผิดผู้ให้สินบนมากขึ้น ใช้มาตรการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง นักการเมืองและข้าราชการทุจริต เร่งแก้ไขหรือออกกฎหมายเพิ่มเติมให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สนับสนุนและปกป้องผู้ให้เบาะแส เช่น ให้มีรางวัลนำจับ มีมาตรการคุ้มครอง เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของราชการที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดการเรียกรับสินบน ป้องกันการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมจากฝ่ายการเมือง

2. การปฏิรูปด้านการสร้างมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและสังคม

อุปสรรคที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญคือ มีการปกปิด บิดเบือนข้อมูลที่แท้จริงที่ประชาชนควรรู้ โครงการของรัฐจำนวนมากไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ประชาชนยังไม่มีสิทธิ์ในการออกความคิดเห็นและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐอย่างแท้จริง

องค์กรฯ เห็นว่า เพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องมีการสร้างความแข็งแกร่งภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน เร่งสร้างและขยายเครือข่าย ที่จะร่วมขยายผลทั้งในกลุ่มวิชาชีพ และกลุ่มพื้นที่ รวมทั้งใช้ประโยชน์สูงสุดกับกลุ่มและกระบวนการต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปใช้ประโยชน์จากความตื่นตัวของสังคมที่แสวงหาความเปลี่ยนแปลง เน้นการสื่อสาร และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน รัฐต้องเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ ให้ประชาชนรับรู้

3. การปฏิรูปด้านการรณรงค์คุณธรรม จริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชัน

สังคมไทยปัจจุบัน คนไทยบางส่วนเชื่อว่า การเอาเปรียบคนอื่นหรือโกงนิดหน่อยไม่เห็นเป็นไร ที่สำคัญเมืองไทยใครๆ ก็โกงและไม่มีทางเอาชนะได้ ทุกวันนี้คนโกงกันโดยไม่ต้องอายใคร และไม่รู้จักอายตัวเอง ซึ่งเด็กและเยาวชนกำลังเรียนรู้พฤติกรรมผิดๆ จากผู้ใหญ่ หนทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา ให้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมและการมีจิตสำนึกรู้ผิดรู้ชอบเป็นพื้นฐานในการสร้างคน สร้างวัฒนธรรมใหม่ เช่น กินน้อยใช้น้อย ไม่ต้องโกง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น เคารพในสิทธิผู้อื่น การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวฝ่ายเดียว เปลี่ยนความเข้าใจหรือความเชื่อของสังคม โดยให้แยกความสัมพันธ์ส่วนตัวออกจากหน้าที่ความรับผิดชอบ ผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากผลประโยชน์ส่วนรวม รณรงค์สอนคุณธรรม จริยธรรม ตั้งแต่เด็กๆ และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง และประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรู้ถึงวิธีการโกงรูปแบบต่างๆ

4. การปฏิรูปด้านมาตรการเรื่องความโปร่งใส

เป็นที่ทราบว่าการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐในทุกระดับ ขาดความโปร่งใสและสร้างปัญหานานัปการตามมา องค์กรฯ เห็นว่าเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความโปร่งใส เปิดเผย และเข้าถึงได้ จะต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ให้ทันเหตุการณ์ ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของสื่อมวลชนและสิทธิในการแสดงออกของประชาชน เพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบ และเข้าถึงข้อมูล ควบคู่กับการผลักดัน ข้อตกลงคุณธรรมให้บังคับใช้โดยเร็ว โดยครอบคลุมการริเริ่มจนสิ้นสุดโครงการ

5. การปฏิรูปด้านการสร้างความเข้มแข็งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ

การดำเนินคดีทุจริตปัจจุบันเป็นไปอย่างล่าช้า คดีโกงมีมากจนทำไม่ทัน ใช้เวลามาก ทำไม่รอบคอบ ละเลยคดีเล็กน้อย การร้องเรียนของประชาชนทำได้ยาก รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่เชื่อว่าร้องเรียนแล้วจะเกิดผลนำไปสู่การขาดแรงจูงใจ ขณะที่ผู้นำองค์กรตรวจสอบถูกข่มขู่คุกคามและแทรกแซงจากนักการเมือง

ข้อเสนอของเรา คือ ต้องสร้างความเข้มแข็งแก่หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างธรรมาภิบาลในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ ปรับปรุงวิธีการคัดสรรบุคคลเข้าปฏิบัติหน้าที่ในระดับต่างๆ เพิ่มอำนาจและกลไก ให้สามารถดำเนินคดีคอร์รัปชันได้รวดเร็วและเด็ดขาด ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาลยุติธรรมและองค์กรอิสระ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา