กสอ. ขานรับนโยบายดิจิทัลอิโคโนมี (Digital Economy) ขับเคลื่อนดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs)

อังคาร ๒๘ ตุลาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๐๘
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดศักราชการส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยุคใหม่โชว์แนวคิด “ดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs)” ขานรับนโยบายยุคดิจิทัลอีโคโนมี ผ่าน 5 แผนงาน ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิทัล (New Digital Entrepreneur) 2. SMEs อัจฉริยะ (Intelligence SMEs) 3. ดิจิทัลเพื่อวิสาหกิจชุมชน (Digital OTOP) 4. สังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยดิจิตอล (Digital Knowledge Society) และ 5. ที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ (Cyber Service Provider) โดยการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้ง (start up) ธุรกิจของผู้ประกอบการดิจิทัลรุ่นใหม่มารองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการเดิม ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการลดต้นทุนการประกอบการ การทำตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น ฯลฯ โดยตั้งเป้านำร่อง 5 แผนงานดังกล่าวไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศที่มีกว่า 2.76 ล้านราย พร้อมปรับงบประมาณจำนวน 100.45 ล้านบาท มาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ ให้มีขีดความสามารถในการประกอบการที่เป็นเลิศ และมีความยั่งยืนสู่สากล โดยในปีงบประมาณ 2558 กสอ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 1,266 ล้านบาท แบ่งเป็นงบบริหาร 459 ล้านบาท (36%) และเป็นงบปฏิบัติการที่ใช้ในการส่งเสริมพัฒนา SMEs และ OTOP รวม 807 ล้านบาท (64%) โดยมีแผนดำเนินโครงการต่างๆ ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมในภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC 160.0 ล้านบาท, การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย 164.65 ล้านบาท, การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร 42.25 ล้านบาท, การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน (OTOP) 110.80 ล้านบาท, การเพิ่มผลิตภาพ SMEs 266.17 ล้านบาท, การส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 28.10 ล้านบาท และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ 35.19 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากที่รัฐบาล ได้ให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัลโดยมุ่งเน้นการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ตลอดจนการใช้ดิจิทัลรองรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กสอ. จึงได้สนองนโยบายรัฐบาลในประเด็นดังกล่าวโดยนำดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SMEs ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT มาใช้ในธุรกิจได้ เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้ประโยชน์จาก ICT ทั้งนี้ กสอ. ได้จัดสรรงบประมาณ 100.45 ล้านบาท มาใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมภายใต้กรอบแนวคิด ดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs) ด้วยการปรับกิจกรรมโครงการต่างๆ ให้เหมาะสมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นระบบ 5 ด้าน ดังนี้

1. การสร้างผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิทัล (New Digital Entrepreneur) เป็นการให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ IT เช่น กลุ่มผู้เขียนApplication และเกมส์ต่างๆ บน Smartphone หรือ กลุ่มฟรีแลนซ์ทำ Animation/Graphic Design ต่างๆ ให้สามารถเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจได้ โดยมีเป้าหมาย 500 คน รวมทั้งปรับหลักสูตร “โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” (NEC) ให้มีเนื้อหาหลักสูตรที่ทันสมัยและครอบคลุมความรู้ด้าน IT ให้มากขึ้นมีเป้าหมาย 1,000 คน

2. เอสเอ็มอีอัจฉริยะ (Intelligence SMEs) เป็นการนำ IT มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของธุรกิจSMEs ด้วยการใช้ระบบ Enterprise Resource Planning หรือ ERP ในการบริหารด้านต่าง ๆ การจัดการ Supply Chain และสต็อคสินค้า การเพิ่มศักยภาพทางการตลาดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ รวมถึงการให้ทุนสมทบจ้างที่ปรึกษาปรับปรุงธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพมีเป้าหมายรวม 480 กิจการ

3. ดิจิทัลเพื่อวิสาหกิจชุมชน (Digital OTOP) โดยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP ที่มีศักยภาพสามารถทำการตลาดด้วยสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ ผ่านกระบวนการอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำในการใช้สื่อออนไลน์การจัดทำเว็บไซต์รูปแบบอีคอมเมิร์ซ และสื่อสังคมออนไลน์โดยกำหนดเป้าหมายที่กลุ่มรักษ์ภูมิปัญญาที่มีศักยภาพในการเข้าสู่ตลาดระดับสากลเพื่อนำเสนอวัฒนธรรม อัตลักษณ์และภูมิปัญญา ที่นำมาใช้สร้างสรรค์และออกแบบผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้นอย่างน้อย 70 ผลิตภัณฑ์

4. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ดิจิทัล (Digital Knowledge Society)เป็นการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจและมีองค์ความรู้ในด้าน IT และการดำเนินธุรกิจกิจโดยใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิทัลผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และการอบรมสัมมนาในหลักสูตร เช่น “Digital Marketing การตลาดแห่งอนาคต”และ “เปิดร้านออนไลน์แบบเข้าใจมีชัยแน่นอน”เป็นต้น โดยมีเป้าหมายผู้ประกอบการในเครือข่าย 1,000 ราย

5. การพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ (Cyber Service Provider) เป็นการอบรมพัฒนากลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจจำนวน 60 คนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการดำเนินธุรกิจในโลกออนไลน์ โดยมีเนื้อหาการอบรมที่เน้นการประยุกต์ใช้ระบบ ERPการใช้อีคอมเมิร์ซ การทำตลาดออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ ที่ปรึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ทั้งในด้านทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติโดยการให้บริการปรึกษาแนะนำต่อ SMEs ด้วย

นอกจากการส่งเสริมผู้ประกอบการแล้ว กสอ. ยังมีแผนในการปรับปรุงระบบเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการในด้านต่างๆ เช่น การรับสมัครเข้าร่วมการอบรมสัมมนาออนไลน์ การสมัครสมาชิก กสอ. ออนไลน์ ห้องสมุด e-library ของกรมฯ เป็นต้น

ในการขับเคลื่อนดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายที่มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าสู่การประกอบธุรกิจได้ง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีร้านค้า การทำธุรกรรมข้ามแดนจะมีปริมาณและมูลค่าสูงขึ้น การต่อยอดการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคจะทำได้อย่างกว้างขวางขึ้นและเข้าถึงได้ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและเกิดงานลักษณะใหม่ๆ อันเป็นผลจากการเกิดรูปแบบธุรกิจใหม่บนโลกอินเตอร์เน็ต การวิเคราะห์และจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การลดต้นทุนการประกอบการ อีกทั้งจะเป็นปัจจัยเอื้อที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายและแพร่หลายขึ้นอันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมด้วย นายอาทิตย์กล่าวสรุป

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร 0 2202 4414 – 18

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ